Stefan Zweig – สเตฟาน สเวก นักเขียนนิยายและบทละครชื่อดังช่วงทศวรรษ 1920 – 1930 อย่างเช่นเรื่อง อะม็อก (Amok) กับ จดหมายจากหญิงที่ไม่รู้จักชื่อ (Letter from an Unknown Woman) และยังมีผลงานเขียนชีวะประวัติของคนดังอีกหลายเล่ม เช่น บัลซัก นิตเช มารี อังตัวเนตต์ ผลงานของเขาได้รับการแปลหลายภาษา มีคนนำนิยายของเขามาดัดแปลงเป็นละครและภาพยนตร์ ทำให้เขาเป็นที่รู้จักอย่างดีในกลุ่มคนยุโรป

The World of Yesterday

แต่ผลงานที่กำลังเขียนถึง เป็นหนังสือบันทึกความทรงจำแสดงทัศนคติสองเล่มสุดท้ายก่อนเขาเสียชีวิต เล่มหนึ่งชื่อ โลกวันวาน: ความทรงจำของชาวยุโรป (The World of Yesterday: Memoirs of a European) เล่าเรื่องความรุ่งเรืองของยุโรปจนกระทั่งมาเสื่อมสลายเพราะสงคราม  อีกเล่มหนึ่งชื่อ บราซิล: ดินแดนอนาคต (Brazil: Land of the Future) บอกเล่าความคาดหวังถึงโลกใหม่ ในขณะพำนักอยู่ในบราซิล

Land of Future

ทั้งสองเล่มนี้มีความเกี่ยวพันกัน และเป็นผลงานที่มีคนพูดถึงกันมากพอควร แต่ที่น่าสนใจคือใน บราซิล: ดินแดนอนาคต มีความย้อนแย้งบางประการระหว่างความเป็นจริงกับทัศนคติที่สเตฟานมีต่อบราซิล

Stefan Zweig ชาวยิวผู้ลี้ภัย

Stefan Zweig

คงต้องย้อนความก่อนว่า สเตฟานเริ่มเขียน โลกวันวาน เมื่อต้องลี้ภัยจากออสเตรีย ในปีค.ศ. 1934 หลังจากลัทธินาซีเริ่มครอบงำประเทศ เขาใช้ชีวิตในสหราชอาณาจักร แล้วย้ายมานิวยอร์ก ดินแดนซึ่งมีผู้อพยพมากมาย ซึ่งควรจะเป็นที่ซึ่งเขาอยู่ได้อย่างมีความสุข และไม่รู้สึกแปลกแยกจากคนอื่นรอบข้าง แต่ปรากฎว่า เขารู้สึกว่านิวยอร์กไม่ใช่ที่ของเขา จึงเดินทางไปอเมริกาใต้ แล้วปักหลักที่บราซิลเป็นประเทศสุดท้าย และเขียนหนังสือเล่มสุดท้ายในชีวิต คือ บราซิล: ดินแดนอนาคต ไม่นาน เขาก็อัตวินิตบาตรกรรมพร้อมภรรยา ในวันถัดมาหลังทำต้นฉบับร่างสุดท้ายสำเร็จ ในช่วงฤดูร้อนค.ศ. 1941

เนื้อหาของ โลกวันวาน เป็น “โลกเก่า” จากมุมของของสเตฟาน ผู้เกิดในครอบครัวชาวยิวที่เมืองเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อปีค.ศ. 1881 สมัยนั้นออสเตรียอยู่ภายใต้การปกครองของจักรพรรดิ ฟรันซ์ โยเซฟที่ 1 แห่งออสเตรีย กษัตริย์แห่งฮังการี กษัตริย์แห่งโคเอเทีย กษัตริย์แห่งโบฮีเมีย ซึ่งตั้งเป้าหมายทางการปกครองว่า ทุกคนในจักรวรรดิเท่าเทียมกัน ทุกเชื้อชาติมีสิทธิที่จะดำเนินตามธรรมเนียมความนิยม และใช้ภาษาตามเชื้อชาติของตนได้

ทั้งนี้นครเวียนนามีเชื้อชาติพันธุ์หลากหลาย ทั้งชาวออสเตรียแท้ ๆ เชื้อสายฮังการี สลาฟ ยิว แต่แล้ว ราชวงศ์ฮับส์บูร์กซึ่งเคยรุ่งเรืองครองตำแหน่งจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และเชื้อสายผู้อยู่ในพระราชวงศ์นี้ได้ปกครองรัฐและประเทศต่าง ๆ ถึง 1,800 รัฐ การปกครอง โดยใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือ ทัศนคติทางเพศ ฯลฯ

แต่ ทุกสิ่งที่เขาเขียนถึงกลับ “สูญหายไร้ร่องรอย” ในสมัยที่เขาเขียนบันทึก และเวียนนากลายเป็นเพียงเมืองหนึ่งของเยอรมนี ทำให้เขาเป็นเหมือนคนแปลกหน้าในเวียนนาเมืองเกิดของเขาเอง และสิ่งที่แย่ที่สุดคือวัฒนธรรมที่ยั่งยืนยาวนานสูญสลายไปในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปีช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เขายังรู้สึกว่า แม้แต่ภาษาเยอรมันยังโดนพรรคนาซีครอบครองไปเรียบร้อยแล้ว

Suffering and joyful we have lived time and history far beyond our own little existence, while they, the older generation, were confined within themselves. Therefore each one of us, even the smallest of our generation, to-day knows a thousand times more about reality than the wisest of our ancestors. But nothing was given to us: we paid the price, fully and unequivocally, for everything.

The World of Yesterday: Memoirs of a European

ด้วยสภาพไม่ต่างจากผู้อพยพลี้ภัยคนอื่น เขาเขียนถึงเรื่องการอพยพย้ายถิ่นฐานเพื่อหนีภัยสงครามของเขาไว้ว่า “ในวันที่ข้าพเจ้าทำหนังสือเดินทางหายไปก็ได้ค้นพบตอนอายุห้าสิบแปดนี่เองว่าการพลัดพรากจากบ้านเกิดของคน ๆ หนึ่งเป็นมากกว่าการเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน

สเตฟานบรรยายความรู้สึกว่า มันต่างจากช่วงปีค.ศ. 1914 เมื่อครั้งที่เขาเดินทางไปอินเดียและสหรัฐโดยไม่ต้องมีหนังสือเดินทางหรือว่าขอวีซา เขาไม่รู้สึกว่าตัวเองแปลกแยกอะไรกับคนรอบข้าง แต่ในเวลาที่เขาอยู่ในสถานะผู้ลี้ภัย การตรวจคนเข้าเมือง การยืนยันตัวตนกลายเป็นเรื่องใหญ่ และทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองเป็นเพียงผู้มาอาศัยพักพิงในถิ่นแปลกหน้า

เขาย้ายไปอยู่สหราชอาณาจักร และต่อมาข้ามมหาสมุทรมาอยู่อเมริกา แต่ไม่มีที่ใดที่เขารู้สึกว่าเป็นบ้าน อย่างเช่น เขามองวัฒนธรรมของอเมริกายังไม่ศิวิไลซ์เท่ายุโรป และมีการแบ่งแยกสีผิว แต่ใน บราซิล: ดินแดนอนาคต เขาบรรยายประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ภูมิประเทศ ราวกับเป็นโลกในฝันที่เขาคาดหวังว่าโลกควรจะเป็นอย่างนี้บ้าง ทั้งวัฒนธรรม การสั่งสมปัญญา ความเงียบสงบ ห่างไกลจากลัทธินิยมทหารและวัตถุนิยม (จะมีก็แต่เรื่องกีฬา ที่เขามองว่าบราซิลยังไม่ค่อยตื่นตัวอย่างชาวยุโรป) เขาเชื่อว่าบราซิลยังห่างจากลัทธิแข่งขันขยายดินแดน ความคิดชาตินิยม ลัทธิจักรวรรดินิยม

เขาคิดว่า บราซิลน่าจะเป็นต้นแบบของโลกยุคใหม่ ไร้พรมแดน บราซิลในยุคนั้นมีคนหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่ด้วยกัน ทั้งอัฟริกา โปรตุเกส เยอรมนี อิตาลี ซีเรีย หรือแม้กระทั่งญี่ปุ่น บรรยากาศใกล้เคียงกับเวียนนาสมัยที่สเตฟานยังเด็ก เขามองว่า “ในขณะที่โลกเก่า (หมายถึงยุโรป) ตอนนี้กำลังคลั่งโดยพยายามสร้างคนชาติพันธุ์บริสุทธิ์ไม่ต่างจากการคัดเลือกพันธุ์ม้าหรือพันธุ์สุนัข (หมายถึง การคัดเลือกเผ่าพันธุ์อารยันของนาซี) แต่ บราซิล ได้หล่อหลอมหลักการเสรีและไม่แบ่งแย่งเชื้อชาติ ได้เห็นคนหลายสีผิว มีเด็กผิวช็อกโกแลต ผิวสีน้ำนม ผิวสีกาแฟ ออกจากโรงเรียนเดียวกัน เดินจับมือกันเฮฮาโดยไม่แยกสีผิว ไม่ต้องมีคลับบาร์แบ่งชนชั้น (อเมริกาในสมัยนั้นยังแบ่งแยกคนผิวดำอยู่ โรงเรียนหรือคลับบางแห่งรับแต่คนผิวขาว)

เรื่องนี้เป็นความย้อนแย้งที่ออกจะประหลาดอยู่ เพราะบราซิลสมัยนั้น เกตูลิโอ วาร์กัส (Getulio Vargas) ประธานาธิบดีผู้สถาปนา “เอสตาโด โนโว” หรือ รัฐใหม่ ปกครองประเทศแบบเผด็จการ ไม่ต่างจากอิตาลีภายใต้การปกครองของ เบนิโต มุสโสลินี (พรรคชาตินิยม) มันจึงเป็นเรื่องออกจะน่าประหลาดใจ แนวคิดชาตินิยมแบบไหนที่สเตฟานชื่นชม? ในขณะที่เขากลายเป็นผู้อพยพเพราะต้องหนีลัทธิชาตินิยมของนาซี แต่มาชื่นชมลัทธิชาตินิยมในบราซิล เลยทำให้เกิดคำถามว่า สเตฟานมีมุมมองต่อลัทธิชาตินิยมอย่างไร

และอีกข้อที่มีคำโต้แย้งคือ ในบราซิลขณะนั้น (ที่สเตฟานเห็นว่าเปิดกว้าง) กีดกันคนเชื้อสายยิว หรือไม่ก็ตรวจสอบเชื้อชาติเข้มงวด แต่สเตฟานได้สิทธิพิเศษเพราะเป็นคนมีชื่อเสียง เมื่อเขาเสียชีวิตก็มีพิธีฝังศพยิ่งใหญ่พอสมควร ทำให้เกิดข้อสงสัยระหว่างอ่านว่า นี่เป็นการโฆษณาชวนเชื่อหรือเปล่า?

วาระสุดท้ายในชีวิต คาดเดากันว่า เมื่อสเตฟานได้รับข่าวนาซีรุกคืบเข้าสู่ดินแดนตะวันออกกลางและเอเชีย ทำให้เขามองว่าเยอรมนีกำลังจะครอบครองโลก ความรู้สึกนั้นทำให้เขาเกิดความสิ้นหวัง

ในหนังสือรวมจดหมายของสเตฟานและลอตเตชื่อ จดหมายจากอเมริกาใต้ของสเตฟานและลอดเต สเวก (Stefan and Lotte Zweig’s South American Letters) แสดงให้เห็นว่า สภาพจิตใจของสเตฟาน ณ เวลานั้นอยู่ในสภาพหมดหวัง เพราะสิ่งที่เขาคิดว่ามีความหมายต่อชีวิตของเขาล้วนแล้วแต่แตกสลายไปกับสภาวะของโลกตอนนั้น รวมทั้งสุขภาพของลอตเตที่มีปัญหาจึงตัดสินใจอัตวินิตบาตกรรมพร้อมภรรยา

แสดงความคิดเห็น