Brave New World ของอัลดัส ฮักซ์ลีย์ เป็นนิยายเกี่ยวกับโลกไม่พึงประสงค์อีกเรื่องหนึ่งที่ได้รับการนิยมไม่แพ้ 1984 แปลไทยในชื่อ โลกวิไลซ์ โดย ธีรพงศ์ ธนสุทธิพิทักษ์ และ โลกที่เราเชื่อ โดย กมล ญาณกวี
Brave New World – โลกอารยะ
โลกอนาคตในเบรฟนิวเวิลด์เป็นโลกสุขสงบไม่มีแบ่งแยกประเทศ แต่แบ่งการปกครองเป็น ๑๐ ภาค ทุกคนอาศัยอยู่รวมกันอย่างมีความสุข เป็นโลกที่เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์คือทุกสิ่งทุกอย่าง แม้แต่อาหารยังเป็นอาหารสังเคราะห์เพื่อให้มีคุณภาพดีกว่าวัตถุดิบจากธรรมชาติ โรคภัยไข้เจ็บแทบไม่ปรากฏให้เห็นเพราะมีวิทยาการทางการแพทย์ก้าวหน้า แม้แต่การเกิดยังใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ซึ่งในหนังสือเรียกว่า “กระบวนการโบคานอฟสกี้” คล้ายการโคลนนิง คือจากไข่ใบเดียวเข้ากระบวนการจนได้แฝดเหมือนเกือบร้อยคน
รัฐจะคัดเลือกทางพันธุกรรมและแบ่งแยกชนชั้นหน้าที่ตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิราวกับการแบ่งชนชั้นวรรณะ เช่นทารกกลุ่มหนึ่งโดนจัดเป็นวรรณะเบต้าก็โดนล้างสมองตั้งแต่เป็นทารกให้พอใจในความเป็นเบต้าซึ่งฉลาดกว่าแกมม่า และเดลต้า คนวรรณะนี้จะไม่คบค้าสมาคมกับวรรณะแอปซิลอนซึ่งเป็นชนชั้นแรงงานอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ขณะเดี่ยวกันก็สะกดกั้นความทะเยอทะยานไม่อยากข้ามขั้นมาเป็นวรณณะอัลฟ่าเพราะถึงอัลฟ่าจะฉลาดแต่ต้องทำงานหนัก
ความคิดต่าง ๆ เหล่านี้รัฐปลูกฝังความคิด (หรือล้างสมอง) ตั้งแต่เป็นทารก ด้วยวิธีการตั้งแต่สอนสั่งจนถึงใช้ไฟฟ้าช็อตในการควบคุมพฤติกรรมไม่ต่างจากสอนสัตว์…
เพศสัมพันธ์กลายเป็นเรื่องความบันเทิงที่รัฐส่งเสริมให้เด็กมีเรียนรู้ “เกมกาม” ตั้งแต่เจ็ดหรือแปดขวบ แต่ไม่มีปัญหาการท้องนอกเหนือความคาดหมาย เพราะมีมนุษย์เพศหญิงเพียงสามสิบเปอร์เซนต์เท่านั้นที่ยังให้กำเนิดบุตรได้ ส่วนที่เหลือโดนทำให้เป็นหมันตั้งแต่แรกเกิด นอกจากนี้ยังมีกระบวนการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพอีกด้วย
แต่ถึงมีประสิทธิภาพอย่างไรก็ยังพลาดได้ เมื่อหญิงสาววรรณะเบต้าคนหนึ่งตั้งท้องโดยไม่ได้ตั้งใจ เธออับอายและตัดสินใจหนีจากโลกอารยะไปอาศัยกับพวก “คนเถื่อน” ในเขตสงวนซึ่งไม่ต่างจากสวนสัตว์เปิด เป็นพื้นที่สำหรับคนเถื่อนผู้ไม่รู้จักอารยธรรม คนเถื่อนผู้ถือกำเนิดจากท้องมารดาด้วยวิธีธรรมชาติ ไม่โดนครอบงำด้วยแนวคิดของรัฐ มีพิธีกรรมของกลุ่มชัดเจน เรื่องเพศเป็นจารีตไม่ใช่แค่เรื่องบันเทิง
แต่หญิงสาวคนนั้นไม่มีทางหลอมละลายเข้าสู่วัฒนธรรมของคนเถื่อนได้เลย ทั้งเธอและจอห์น บุตรชายกลายเป็นคนนอกกลุ่ม เพราะเธอไม่เข้าใจระบบผัวเดียวเมียเดียว ไม่รู้จักพิธีกรรมทางจิตใจ เพราะในหัวคิดของเธอมีแต่เรื่องวิทยาศาสตร์ที่โดนฝังหัวมาตั้งแต่ยังเป็นทารกจนทำให้เธอไม่ต่างจากหุ่นยนต์ เช่นทำงานในห้องฟักไข่ก็รู้แต่แค่นั้น นอกเหนือจากนั้นคือไม่รู้อะไรเลย เพราะรัฐดูแลประชาชนด้วยนโยบายประชานิยม หาสิ่งมอมเมามาหลอกให้ประชาชนลุ่มหลงอยู่ไปวันวันโดยไม่คิดเรื่องอื่น ทั้งเกม กีฬา สิ่งบันเทิง ให้ประชนชนใช้โซม่า (ยาประเภทหนึ่งซึ่งทำให้ประชาชนรู้สึกมีความสุข)
(จะว่าไปก็มีแนวคิดคล้วยกับ “พี่ใหญ่” ใน 1984 ที่ใช้ประชานิยมให้เหล่าคนกลุ่มโพร์ลส์หลงใหลไปกับสิ่งบันเทิงรอบตัวจนไม่คิดขยับตัวเรื่องอื่น)
และเมื่อมีคนจากโลกอารยะแวะมาเที่ยวชมดินแดนของกลุ่มคนเถื่อนจึงได้พบและนำทั้งคู่กลับสู่โลกอารยะ สำหรับเธอคือความสะดวกสบายในบั้นปลายชีวิต แต่สำหรับจอห์นไม่ต่างจากการนำคนที่โดนเลี้ยงดูโดยสัตว์ (เช่นเมาคลี ลูกหมาป่า หรือ ทาร์ซาน) กลับคืนเมือง ประชาชนสนใจเพราะเห็นเป็นเรื่องแปลก จอห์น คือตัวแทนของมนุษย์ปุถุชนธรรมดาเติบโตในสังคมชนเผ่ามีความซื่อตรง มีจิตวิญญาณ แต่กลายเป็นว่าเขาเป็นแกะดำที่คนเถื่อนมองเขาเป็นสิ่งแปลกแยก เขาอ่านออกเขียนได้เพราะแม่ของเขาใช้หนังสือของวิลเลียม เช็กสเปียร์ ทำให้ซึมซับ “ความโรแมนติก” ของวิลเลียม เช็กสเปียร์เป็นเหมือนที่ยึดเหนี่ยวทางความคิด แต่เมื่อเขาเข้ามาสู่โลกอารยะกลายเป็นว่าเขาไม่มีอิสระใดใดทั้งสิ้น อย่างเมื่อเขาพบลานินา สาวชาวอารยะ เขาลุ่มหลงแบบโรแมนติก ด้วยหัวใจและความรู้สึก แต่ลานินาเพียงต้องการมีเพศสัมพันธ์เพื่อความสนุกสนานไม่มีความผูกพันทางจิตใจใดใดทั้งสิ้น
ถ้าอัลดัสให้จอห์น -คนเถื่อน- เป็นตัวแทนของมนุษย์ซึ่งมีความต้องการอะไรหลายอย่างในชีวิตที่วิทยาศาสตร์ไม่สามารถแก้ไขได้ อย่างเช่นรัฐอยากให้ประชาชนมีความสุข เพราะเมื่อมีความสุขก็ไม่ดิ้นรนไขว่คว้าหาเสรีภาพ ปราศจากความทะเยอทะยาน หรือค้นหาความหมายของชีวิต แต่ชีวิตไม่ง่ายขนาดนั้น ถึงรัฐจึงผลิตยาโซมาให้ประชาชนกิน ใครมีความทุกข์ไม่สบายใจกินโซมาก็จะมีความสุข มันคือยาเสพติดแนวเดียวกับพวกกัญชา ยาหลอนประสานทั้งหลาย แต่มันไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา อย่างที่จอห์นพูดกับ มุสตาฟา มันด์ ๑ ใน ๑๐ ผู้ปกครองโลกว่า
“คุณกำจัดพวกมันหมดไป ใช่ คุณเป็นคนแบบนั้นแหละ ใช้วิธีกำจัดทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่น่ายินดีไม่น่าอภิรมย์ไปให้หมดแทนที่จะหาทางเรียนรู้ทนอยู่กับมัน ถึงอย่างไรก็ย่อมดีกว่าที่จิตใจทนทุกข์ทรมานจากสายธนูและลูกธนูแห่งโชคชะตา หรือไม่ก็หยิบคว้าอาวุธขึ้นต่อสู้ทะเลแห่งความทุกข์ระทมจนมลายสิ้น…แต่คุณไม่ได้ทำสักอย่าง ไม่ว่าจะยอมทนทุกข์ทรมานหรือต่อสู้ คุณแค่ลดสายธนูลงและปลดลูกธนูออก มันง่ายเกินไป”
จอห์น – คนเถื่อน –
(ตัวเอน ยกมาจากบทละครเฮลเม็ต)
รัฐพยายามควบคุมประชาชนให้เป็นระเบียบ ดังนั้นหนังสือหรือแนวคิดใดที่จะชี้นำให้ประชนชน “คิด” ถือเป็นอันตรายต่อโลกอันมีระเบียบน่าอยู่ โลกอารยธรรมแห่งนี้จึงไม่มีศาสนา ทุกอย่างอยู่ในมุมมองทางวิทยาศาสตร์ ประชาชนต้องคิดว่าตัวเองมีทางเลือกและเป็นผู้เลือก ทั้งที่ความจริงตัวเลือกทุกอย่างโดนกำหนดมาตั้งแต่เกิดโดยรัฐบาล
“เวลานี้โลกมีเสถียรภาพดีแล้ว ประชาชนมีความสมบูรณ์พูนสุข พวกเขาได้ในสิ่งที่ต้องการและไม่ต้องการสิ่งที่พวกเขาไม่สามารถไขว่คว้าได้ พวกเขาไม่หวาดกลัวความตาย พวกเขาไม่ใส่ใจรับรู้เรื่องอารมณ์ความรู้สึกและความแก่ชราอย่างเบิกบานใจ พวกเขาพึงพอใจกับการไม่มีแม่หรือพ่อ พวกเขาไม่มีลูกไม่มีเมียหรือคนรักให้รู้สึกพะวงห่วงหา พวกเขาถูกปรับควบคุมสภาพอย่างเข้มข้นจนช่วยไม่ได้จริง ๆ ที่พวกเขาจะประพฤติปฏิบัติตามที่ถูกกำหนดมาอย่างนั้น และถ้าหากมีอะไรผิดพลาดเราก็ยังมีโซม่า”
นั่นคือมุมมองจากฝั่งผู้ปกครองโลก
แต่สำหรับจอห์น เขาบอกว่า
“แต่ฉันไม่ต้องการความสะดวกสบาย ฉันต้องการพระเจ้า ฉันต้องการบทกวี ฉันต้องการอันตรายที่แท้จริง ฉันต้องการเสรีภาพ ฉันต้องการความดี ฉันต้องการบาป”
“ฉันกำลังเรียกร้องสิทธิที่จะดำรงชีวิตอย่างไร้ความสุขสบาย”
“ยังไม่นับสิทธิที่จะอยู่จนแก่ชราด้วยความอัปลักษณ์น่าเกลียดและเป็นกามตายต้าน ยังมีสิทธิที่จะเป็นโรคซิพิลิส และโรคมะเร็ง สิทธิที่จะมีกินอย่างกระเบียดกระเสียร สิทธิที่จะสกปรกมีเห็บเหา สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่อย่างหวาดหวั่นว่าพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น สิทธิที่จะเป็นโรคไข้รากสาดน้อย สิทธิที่จะยอมทุกข์ทรมานจากความเจ็บปวดที่ไม่อาจพูดบรรยายได้ทุกชนิด”
จอห์น คนเถื่อน ได้รับสิ่งที่ร้องขอ เพราะมุสตาฟาอยากเฝ้าสังเกตเขาในฐานะตัวทดลองต่อไป แต่คนเมืองอารยะมองว่าเขาเป็นของแปลก มองเขาเป็นสัตว์ป่าในสวนสัตว์ สุดท้ายเขาตัดสินใจจบชีวิตตัวเองเมื่อเขาเผลอปล่อยให้อารมณ์เหนือเหตุผล และทำตัวแบบเดียวกับสิ่งที่เขายืนหยัดต่อต้านจนเกิดความรู้สึกผิด (หรือเศร้าใจ) จนไม่อาจมีชีวิตอยู่ต่อ
UTOPIA or DYSTOPIA
อัลดัสเขียนเบรฟนิวเวิลด์ราวกับจะบอกว่าโลกที่สมบูรณ์แบบนั้นไม่มีจริง (โดยเฉพาะโลกที่มีวิทยาการเจริญก้าวหน้า) ในสมัยที่เขาเขียนเรื่องนี้ ความคิดเรื่องการคัดสรรทางพันธุกรรม และวิทยาการด้านตัวอ่อนกำลังเป็นที่ถกเถียงว่าสมควรท้าทายหน้าที่ของพระเจ้าหรือไม่ และเขาเชื่อว่าต่อให้คนทุกคนโดนปลูกฝังมาตั้งแต่ยังเป็นทารก เมื่อโตขึ้นก็ยังคิดแปลกแยกได้อยู่ดี เช่นเบอร์นาร์ดกับเฮลม์โฮลซ์ คนวรรณะอัลฟ่า ที่รู้สึกว่าตัวเองยังต้องการอะไรสักอย่าง แต่เบอร์นาร์ดรู้สึกสับสน ขณะที่เฮลม์โฮลซ์รู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองคิดได้เป็นสิ่งน่าสนใจและน่าตื่นเต้น ตอนสุดท้ายเขาถึงยินดีโดนเนรเทศไปอยู่ “เกาะ” ซึ่งแย้มพรายว่าเป็นแหล่งรวมของเหล่าผู้มีความคิดเป็นอิสระ ไม่ได้โดนควบคุมความคิดอย่างคนอื่น
แท้จริงโลกสมบูรณ์แบบควรเป็นอย่างไร? หากย้อนกลับไปอ่านหนังสือบางเล่มของวอลแตร์ดูจะปล่อยความสมบูรณ์แบบไป ให้สนใจเพียงแค่ “จงทำสวนของเราไป” ซึ่งสุดท้ายก็ใช้ชีวิตดีกว่าคนในเบรฟนิวเวิลด์ไม่มากนัก หรือถ้า เบรฟนิวเวิลด์ คือ เอลโดราโด นครในฝันที่ทุกคนล้วนอยู่อย่างมีความสุข กลับไม่เพียงพอสำหรับมนุษย์ทั่วไปที่ของเพียงแค่ “ทำสวนของเราไป” ก็พอ เมื่อเปรียบเทียบกับ 1984 และ เบรฟนิวเวิลด์ แล้วความสมบูรณ์แบบเป็นเปลือกเท่านั้น โลกนี้ไม่มีความสมบูรณ์แบบแท้จริงหากมนุษย์ปราศจากเสรีภาพ
แต่งานเขียนของอัลดัสยังมีคำถามในใจว่า วิทยาศาสตร์ที่ดูไร้ความรู้สึกแบบนั้นจะเกิดขึ้นจริงหรือ? ถ้าดูแนวโน้มของเทคโนโลยีล้วนแล้วแต่เกิดเพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐาน และบางครั้ง หรือบ่อยครั้งเหมือนจะเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชนไปเลย ไม่ต้องดูอะไรอื่น สมาร์ทโฟนที่เปลี่ยนไปจนตามแทบไม่ทัน ยี่สิบปีที่ผ่านมาระบบปาล์มยังเจาะกลุ่มคนไม่ได้มากนัก ซิมเบียนก็มีข้อจำกัดมาก ไอโฟนวางจำหน่ายเมื่อสิบปีที่แล้วนี่เอง (ปีค.ศ. ๒๐๐๗) แอนดรอยก็ออกมาไล่เลี่ยกัน ทุกวันนี้พลิกโฉมโทรศัพท์ไปจนแทบจะนึกภาพอดีตไม่ออก ดังนั้นข้อด้อยของวิทยาศาสตร์ในเบรฟนิวเวิลด์อาจไม่เกิดขึ้นจริงก็เป็นได้
การล้างสมองกลับเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวกว่า จำได้ว่า คุณอานันท์ ปัญญารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีเคยหลุดคำพูดว่า “คนไทยเหมือนฝูงแกะ แค่หมาต้อนแกะก็ต้อนได้” (ประโยคจากความทรงจำ คงไม่ตรงเป๊ะ แต่เนื้อหาประมาณนี้) ตอนนั้นโดนด่าถล่มทลาย แต่มาคิดให้ดีประโยคนี้ก็ยังไม่ล้าสมัย จากพฤติกรรมตามแห่ กระแสแชร์โดยไม่อ่านด้วยซ้ำ มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่พร้อมจะทำอะไรเหมือนกัน เหมือนกลัวตกกระแส หรือถ้าจำกันได้ไม่นานมานี้ แค่เสื้อเหลือง เสื้อแดง ก็ทำให้เรารู้ว่า เราทั้งหลายอยู่ในโลกที่เราเชื่อ เราพร้อมจะเชื่อคนที่เราอยากเชื่อ และปิดหูปิดตาไม่ยอมรับความจริงที่ออกจากฝ่ายที่เราไม่ชอบหน้า
แต่ประเด็น อัลดัสคงเห็นว่า ไม่ว่าโลกที่มีวิทยาการก้าวล้ำเพียงใดก็ไม่สามารถควบคุมจิตวิญญาณเสรีของมนุษย์ได้ เขาเชื่อว่าเสรีภาพของมนุษย์เป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในชีวิต แม้อยู่ในสภาพที่โดนควบคุมทุกอย่าง (แม้แต่ใช้ยาโซม่า) ก็ยังไม่อาจลบล้างสัญชาตญาณนี้
จอร์จ ออร์เวลล์ ผู้เขียน 1984 เคยเขียนวิจารณ์หนังสือ วี (We) ของ เยฟกีนี ซามิยาติน (Yevgeny Zamyatin) นักเขียน ชาวรัสเซีย ลงหนังสือพิมพ์ทรีบูน ฉบับ ๔ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๖ และพาดพิงว่า เบรฟนิวเวิลด์ รับแนวคิดพล็อตเรื่องจาก วี ซึ่งพิมพ์จำหน่ายเมื่อปึค.ศ. ๑๙๒๔ แน่นอนว่าอัลดัสปฏิเสธ เขาเล่าว่าได้แรงบันดาลใจจากการอ่านหนังสือเกี่ยวกับโลกอนาคตของ เอช จี เวลล์ เช่น โมเดิร์นยูโทเปีย (๑๙๐๕) สลิปเปอร์อะเวกส์ (๑๙๑๐) เมนไลก์ก็อดส์ (ค.ศ. ๑๙๒๓) และไม่เคยอ่าน วี มาก่อน
สำหรับ เบรฟนิวเวิลด์ ของอัลดัส พิมพ์เมื่อปีค.ศ. ๑๙๓๒ ส่วน 1984 ของจอร์จ พิมพ์จำหน่ายเมื่อปีค.ศ. ๑๙๔๙
ข้อมูลของ อัลดัส ฮักซ์ลีย์ในวิกิพีเดีย