Animal Farm – ฟาร์มสัตว์ของ จอร์จ ออร์เวลล์

Animal Farm – ฟาร์มสัตว์ (แอนิมอลฟาร์ม) เดิมมีชื่อเต็มว่า ฟาร์มสัตว์: เทพนิยาย (Animal Farm: A Fairy Story) เป็นวรรณกรรมคลาสสิกของ จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) ว่าด้วยเรื่องราวของสัตว์ในฟาร์มที่ปฏิวัติล้มล้างมนุษย์และยึดครองฟาร์มมาเป็นของสัตว์

George Orwell
จอร์จ ออร์เวลล์

ปฐมบทก่อนการปฏิวัติสัตว์

จอร์จ ออร์เวลล์ เป็นนักเขียนชาวอังกฤษ แต่เกิดที่ประเทศอินเดีย เนื่องจากบิดารับราชการอยู่ในอินเดีย (สมัยนั้นอินเดียยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ) แต่เมื่ออายุได้ ๑ ขวบก็กลับมาใช้ชีวิตในอังกฤษ เขาเขียนถึงครอบครัวในหนังสือ ถนนสู่ท่าเรือวิแกน (The Road to Wigan Pier) บทที่ ๘ ว่า “ผมเกิดมาในสิ่งที่คุณอาจจะอธิบายว่าเป็นชนชั้นกลางระดับล่าง” เขาใช้ประโยคนี้อธิบายถึงครอบครัวที่มีบิดารับราชการในอินเดีย ได้เรียนในโรงเรียนของชนชั้นสูง แต่ฐานะก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไร

เมื่อเรียนจบจอร์จทำงานเป็นตำรวจที่ประเทศพม่าอยู่ ๕ ปี (สมัยนั้นพม่าเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ) จากนั้นจึงกลับอังกฤษ ทำงานเป็นนักเขียน นักข่าว ครู (อ่านประวัติในวิกิพีเดียก็ได้เนาะ) มีผลงานหลายเล่ม ที่โด่งดังแพร่หลายมาถึงทุกวันนี้ก็มี ไนน์ทีนเอตตีโฟร์ (1984) และ แอนิมอลฟาร์ม หรือ ฟาร์มสัตว์ ที่กำลังเขียนถึงอยู่นี้

Animal Farm Cover
หน้าปกหนังสือ Animal Farm สำนักพิมพ์เพนกวิน

ฟาร์มสัตว์เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในแมนเนอร์ฟาร์ม (Manor Farm) ที่นายโจนส์ (Mr. Jones) เป็นเจ้าของ นายโจนส์ไม่ใช่คนดีอะไรมากนัก เปิดตัวในบทแรกก็บอกว่าเขาขี้เมาจนเละเทะ คืนหนึ่ง เมเจอร์เฒ่า (Old Major) หรือที่นายโจนส์เรียกว่า วิลลิงดันบิวตี้ (Willindon Beauty) หมูผู้อาวุโสที่สัตว์ทุกตัวในฟาร์มนับถือ ได้เรียกเหล่าสัตว์ทั้งหลายมาฟังปาฐกกถาของเขา

“สหายเอ๋ย ธรรมชาติของชีวิตพวกเรามันเป็นอย่างไรกัน? ยอมรับเสียเถิดว่า ชีวิตของเราจมอยู่ในความทุกข์ ต้องใช้แรงงานและชีวิตแสนสั้นนัก เราเกิดมาก็ได้เพียงแค่อาหารพอต่อลมหายใจ ใครในหมู่พวกเราแข็งแรงก็ถูกบังคับให้ทำงานจนสิ้นพลัง เมื่อเราหมดประโยชน์ เราก็ถูกเชือดด้วยความทารุณโหดร้าย… แล้วเราทนสภาพทุกข์ทรมานเช่นนี้ไปทำไม”

เมเจอร์เฒ่า

เมเจอร์เฒ่าระบายความอึดอัดคับข้องใจของเหล่าสัตว์ในฟาร์มที่โดนมนุษย์กดขี่

“เหตุใดเราจึงใช้ชีวิตต่อไปในสภาพที่น่าสังเวชนี้? การผลิตเกือบทั้งหมดจากแรงงานของเราถูกขโมยจากเราไปโดยมนุษย์ สหายทั้งหลาย คำตอบสำหรับปัญหาทั้งหมดของเราสรุปได้ด้วยคำเดียว – มนุษย์ มนุษย์เป็นศัตรูที่แท้จริงเพียงอย่างเดียวที่เรามี กำจัดมนุษย์ออกจากที่นี่แล้วรากเหง้าของความหิวโหยและการทำงานหนักมากเกินไปจะหายไปตลอดกาล

มนุษย์เป็นสิ่งเดียวที่บริโภคแต่ไม่เคยผลิต เขาไม่เคยผลิตนม เขาไม่เคยวางไข่ เขาอ่อนแอเกินกว่าจะลากไถ เขาวิ่งไม่เร็วพอจะจับกระต่าย ถึงกระนั้นเขายังเป็นเจ้านายของบรรดาสัตว์ทั้งปวง เขากำหนดให้พวกมันทำงาน แต่ตอบแทนเพียงน้อยนิดเพียงแค่ไม่อดตาย และเขาเก็บส่วนที่เหลือไว้สำหรับตัวเอง แรงงานของเราทำไร่ไถนา มูลของเราทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ แต่ไม่มีใครในหมู่พวกเราได้ครอบครองมากกว่าเขา”

เมเจอร์เฒ่า

และเมเจอร์เฒ่าได้วางพื้นฐานสำคัญว่า

“ข้าพเจ้าขอพูดอะไรอีกเล็กน้อย อยากจะย้ำให้พวกท่านจำให้ขึ้นใจว่าหน้าที่ของท่านคือเป็นปฏิปักษ์ต่อมนุษย์และวิถีทางของเขา อะไรก็ตามที่เดินสองขาคือศัตรู อะไรเดินสี่ขาหรือมีปีกคือเพื่อน และจำไว้ว่าในการสู้รบกับมนุษย์เราต้องไม่ทำเหมือนเขา แม้กระทั่งเมื่อพวกท่านชนะเขา ก็อย่าได้ทำในสิ่งที่ชั่วร้ายเฉกเช่นเขา สัตว์ทุกตัวจะไม่อาศัยอยู่ในบ้าน หรือนอนบนเตียง หรือสวมเสื้อผ้า หรือดื่มเหล้า หรือสูบบุหรี่ หรือแตะต้องเงินหรือมีส่วนร่วมในการค้า พฤติกรรมทั้งหมดของมนุษย์เป็นสิ่งชั่วร้าย และเหนือสิ่งอื่นใดจะต้องไม่มีสัตว์ตั้งตนเหนือกว่าตัวอื่น ไม่ว่าโดยชาติพันธุ์ อ่อนแอหรือแข็งแรง ฉลาดหรือธรรมดา เราทุกคนเป็นพี่น้องกัน สัตว์ต้องไม่ฆ่าสัตว์อื่น สัตว์ทุกตัวเท่าเทียมกัน”

เมเจอร์เฒ่า

สัตว์ทุกตัวชื่นชมแนวคิดของเมเจอร์เฒ่า แต่หลังจากคืนปาฐกถาเพียงสามวัน เมเจอร์เฒ่าก็เสียชีวิตอย่างสงบเพราะอายุมากแล้ว ไม่ทันอยู่ได้เห็นความสำเร็จจากการปฏิวัติอันมาจากสมองของตัวเองที่วางรากฐานเอาไว้

Animal Farm – เมื่อสัตว์ครองอำนาจ

ผู้ที่สืบทอดแนวคิดและกลายเป็นแกนนำคือหมูสามตัวที่ชื่อ นโปเลียน (Napoleon) สโนว์บอล (Snowball) และสเควลเลอร์ (Squealer) ซึ่งในตอนแรกก็มีคำถามจากสัตว์ตัวอื่นเกี่ยวกับความมั่นคงของสัตว์เมื่อปราศจากนายโจนส์อยู่เหมือนกัน แต่แกนนำชักจูงจนสัตว์ทั้งหลายเชื่อถือ แล้วในวันหนึ่งพวกสัตว์ก็ปฏิวัติสำเร็จ นายโจนส์และภรรยาถูกเหล่าสัตว์ขับไล่ออกไป แมนเนอร์ฟาร์มถูกเปลี่ยนชื่อเป็น แอนิมอลฟาร์ม – ฟาร์มสัตว์ โดยพวกหมูสรุปหลักการแนวคิดลัทธิสัตว์นิยม ของ เมเจอร์เฒ่า ออกมาเป็นบัญญัติเจ็ดประการ คือ

  1. อะไรก็ตามที่เดินด้วยสองขาคือศัตรู
  2. อะไรก็ตามที่เดินด้วยสี่ขาหรือมีปีกคือมิตร
  3. สัตว์จะต้องไม่สวมเสื้อผ้า
  4. สัตว์จะต้องไม่นอนบนเตียง
  5. สัตว์จะต้องไม่ดื่มสุรา
  6. สัตว์จะต้องไม่ฆ่าสัตว์ด้วยกันเอง
  7. สัตว์ทุกตัวเท่าเทียมกัน

บัญญัติเจ็ดประการย่อลงในคติพจน์ที่ว่า “สี่ขาดี สองขาเลว” ช่วงแรกทำท่าจะไปได้ดี สัตว์ทุกตัวมีอาหารการกินเต็มอิ่ม แต่นั่นเป็นแค่การเริ่มต้น…

หมู สัตว์ที่ฉลาดที่สุด และเป็นผู้วางแผนและเป็นแกนนำการปฏิวัติ ทำหน้าที่ควบคุมกำกับบทบาทของสัตว์ทั้งหลายในฟาร์มเริ่มมีอภิสิทธิ จากข้อตกลงเดิมที่ว่าผลผลิตทั้งหลายจะปันส่วนแก่สัตว์ทุกตัวเท่ากันกลายเป็นว่านมและแอปเปิลถูกลำเลียงไปเก็บที่ห้องของพวกหมู

สเควลเลอร์ มือขวาของนโปเลียนซึ่งทำหน้าที่โฆษณาชวนเชื่อก็ออกมาบอกว่า

“สหาย” สเควลเลอร์ ใช้สำเนียงราวกับจะร้องไห้ “หวังว่าพวกท่านคงไม่คิดว่าพวกหมูทำไปเพราะเห็นแก่ตัวและใช้อภิสิทธิ์ หมูหลายตัวไม่ชอบกินนมกับแอปเปิลด้วยซ้ำ ข้าพเจ้าก็เป็นตัวหนึ่งที่ไม่ชอบ วัตถุประสงค์เดียวที่เราต้องเก็บพวกนี้ไว้ก็เพื่อรักษาสุขภาพ นมกับแอปเปิล (เรื่องนี้ทางวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์แล้ว สหาย) มีสารจำเป็นสำหรับความแข็งแรงของหมู พวกหมูเราทำงานด้วยสมอง งานด้านการจัดการและดำเนินการต่าง ๆ ในฟาร์มนี้ขึ้นอยู่กับพวกเรา เราดูแลความเป็นอยู่ของพวกท่านทั้งวันทั้งคืน ที่เราดื่มนมและกินแอปเปิลก็เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ของพวกท่าน พวกท่านรู้มั้ยว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากหมูทำงานไม่ได้ พวกโจนส์จะกลับมา ใช่แล้ว โจนส์จะกลับมาแน่นอน สหาย” สเควลเลอร์ร่ำไห้ราวกับอ้อนวอน พลางกระโดดไปทางซ้ายทีขวาทีและส่ายหางไปด้วย “แน่นอนว่าไม่มีใครต้องการให้โจนส์กลับมาใช่มั้ย?”

ฟาร์มสัตว์

ช่างเป็นวาทศิลป์กลับดำเป็นขาวได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ และให้ นายโจนส์ กลายเป็นผีหลอกหลอนเหล่าสัตว์

และเมื่อมีครั้งที่หนึ่ง ก็มีครั้งที่สอง ครั้งที่สาม และครั้งที่… ตามมา

Animal Farm Poster
โปสเตอร์แอนิมอลฟาร์ม

ไม่เพียงแค่เกิดอภิสิทธิ์ในกลุ่มหมู แม้แต่หมูด้วยกันก็ยังขัดแย้งกันเอง ในขณะที่สโนว์บอลต้องการสืบสานอุดมการณ์อันยิ่งใหญ่ของเมเจอร์เฒ่าและหวังถ่ายทอดอุดมการณ์อันยิ่งใหญ่ไปสู่สัตว์ในฟาร์มอื่น นโปเลียนเพียงหวังให้ตัวเองได้รับการเคารพจากเหล่าสัตว์มากที่สุดในฟาร์ม เขาแอบสั่งสมกองกำลังส่วนตัวโดยไม่ให้สัตว์ตัวใดรู้ และใช้กองกำลังสุนัขนั้นกำจัดสโนว์บอลได้ในที่สุด

บริบทเมื่อเขียน Animal Farm

จอร์จ ออร์เวลล์เขียนฟาร์มสัตว์ในช่วงปีค.ศ. ๑๙๔๓ – ๑๙๔๔ ใช้ประสบการณ์ระหว่างเข้าร่วมรบในสงครามกลางเมืองสเปนช่วงปีค.ศ. ๑๙๓๗ – ๑๙๓๘ โดยในขณะนั้นเขาเลือกสังกัดพรรคแรงงานฝักใฝ่ลัทธิมาร์กซิสต์ ในดินแดนคาทาโลเนีย (หรือ กาตาลุญญา) เมืองทางเหนือของสเปน

สงครามกลางเมืองสเปนนั้นเกิดขึ้นเมื่อทหารกลุ่มชาตินิยม (หรือฟาสซิสต์) ได้ปฏิวัติรัฐบาลซึ่งมีแนวทางสังคมนิยมในปีค.ศ. ๑๙๓๖ และเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อกว่าสองปี แต่ละฝ่ายขอความช่วยเหลือจากประเทศมหาอำนาจในขณะนั้นจนทำให้สงครามกลางเมืองสเปนเป็นเหมือนสงครามตัวแทนระหว่างระบบเผด็จการทหาร (ของอักษะ) กับ ระบอบสังคมนิยม (ของสหภาพโซเวียต)

จอร์จชื่นชอบระบอบสังคมนิยม แต่ผลของการร่วมสงครามครั้งนั้นทำให้จอร์จมีทัศนคติว่าฝ่ายไหนชนะก็คงไม่ต่างกันเพราะสุดท้ายแล้วประชาชนและชนชั้นแรงงานก็ยังถูกกดขี่อยู่ดี เขาเล็งเห็นว่าสังคมนิยมในแบบสหภาพโซเวียตนั้นเป็นเผด็จการในอีกรูปแบบหนึ่ง โจเซฟ สตาลิน ผู้นำสูงสุดของสหภาพโซเวียตในขณะนั้นได้ฉ้อฉลความเป็นสังคมนิยมตามอุดมคติของคาร์ลมาร์กซ์และเลนินไปสู่เผด็จการสมบูรณ์แบบ

หลังจากนั้นเขาตั้งใจจะทำงานที่เน้นเนื้อหาต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ โดยในหนังสือรวมบทความ ทำไมข้าพเจ้าจึงเขียนหนังสือ (Why I Write, ๑๙๔๗) เขาเขียนว่า “ทุกบรรทัดในงานเขียนจริงจังที่ข้าพเจ้าเขียนตั้งแต่ปีค.ศ. ๑๙๓๖ ก็เพื่อต่อต้านลัทธิเผด็จการทั้งทางตรงและทางอ้อม… ฟาร์มสัตว์เป็นหนังสือเล่มแรกที่ข้าพเจ้าพยายามทำตามวิถีนี้โดยมีสติรู้ตัวอยู่ตลอดว่ากำลังทำอะไรอยู่ เพื่อผสมผสานจุดหมายทางการเมืองกับศิลปะให้เป็นหนึ่งเดียว”

Lenin
วลาดีมีร์ เลนิน ผู้นำพรรคบอลเชวิก ซึ่งต่อมาคือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต

เค้าโครงเรื่องฟาร์มสัตว์จึงเสมือนจำลองภาพการปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. ๑๙๑๗ มาเป็นชีวิตสัตว์ต่าง ๆ เมเจอร์เฒ่าใช้ต้นแบบจากวลาดิมีร์ เลนินผู้นำการปฏิวัติและวางรากฐานอุดมการณ์แบบเลนินนิซึมให้กับสหภาพโซเวียต หรืออาจจะเป็นคาร์ล มาร์กซ์ ผู้เป็นต้นกำเนิดแนวคิดสังคมนิยมในอุดมคติก็ได้ นโปเลียนได้ต้นแบบจากโจเซฟ สตาลินผู้สืบทอดอำนาจจากเลนิน สโนว์บอลได้ต้นแบบจากลีออน ทรอตสกี ผู้ที่สืบสานแนวคิดของเลนินและมีอำนาจบารมีไม่แพ้โจเซฟ สตาลิน แต่สุดท้ายก็โดนโจเซพ สตาลินที่สั่งสมอำนาจในกองทัพแดงเป็นเครื่องมือจนในที่สุดลีออน ทรอตสกีโดนเนรเทศและลอบสังหารในที่สุด ส่วนสเควลเลอร์ ได้ต้นแบบจาก วยาเชสลาฟ โมโลตอฟ มือขวาของโจเซฟ สตาลิน เป็นต้น

กลยุทธ์ทางการเมืองใน Animal Farm

ในแบบจำลองที่จอร์จเลือกมาถ่ายทอดเป็นฟาร์มสัตว์นี้ เขาไม่ลืมดึงกลยุทธ์ทางการเมืองมาจำลองไว้ในฟาร์มสัตว์ด้วย โดยเฉพาะเรื่องการโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่แต่ละฝ่ายต่างนำมาใช้ เขาอธิบายไว้ในหนังสือ ด้วยความเคารพต่อคาทาโลเนีย (Homage to Catalonia) ซึ่งตีพิมพ์ในปีค.ศ. ๑๙๓๘ ว่า “ระบอบเผด็จการใช้โฆษณาชวนเชื่อควบคุมความคิดเห็นอันลึกซึ้งเปี่ยมปัญญาของผู้คนในประเทศประชาธิปไตยอย่างง่ายดาย”

โฆษณาชวนเชื่อ – Propaganda

ในฟาร์มสัตว์จะเห็นการโฆษณาชวนเชื่อจากฝีปากสเควลเลอร์ ตั้งแต่เรื่องการเก็บนมและแอปเปิลเพื่อพวกพ้องหมู หรือการตั้งคณะกรรมการบริหารฟาร์มซึ่งมีแต่หมู สเควลเลอร์ก็บอกว่า “คงไม่คิดนะ สหาย ว่าการเป็นผู้นำเป็นเรื่องที่ดี ตรงกันข้าม มันเป็นความรับผิดชอบลึกซึ้งและหนักหนาสาหัส ไม่มีใครเชื่อมั่นยิ่งกว่าสหายนโปเลียนว่าสัตว์ทุกตัวเท่าเทียมกัน เขายินดีให้ท่านตัดสินใจเอง แต่บางครั้งท่านอาจตัดสินใจผิด สหาย ถ้าอย่างนั้นแล้วเราจะเป็นอย่างไร?”

สร้างความหวาดกลัว/สร้างปิศาจ

สิ่งที่สเควลเลอร์มักจะกล่าวปิดท้ายราวกับเป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์ก็คือ “คงไม่มีใครอยากให้นายโจนส์กลับมา” นั่นคือการใช้ความหวาดกลัวไม่ชอบใจที่เหล่าสัตว์มีต่อนายโจนส์เป็นเครื่องมือ

ไม่ใช่นายโจนส์เท่านั้นที่โดนหยิบยกมาอ้าง สโนว์บอลที่โดนขับไล่ออกจากฟาร์มและหายสาปสูญไปหลังจากนั้น ก็ยังโดนกล่าวร้ายต่าง ๆ นานา กลายเป็นแพะรับบาปในสิ่งไม่ดีทั้งหลาย (ซึ่งจะจริงหรือไม่จริงก็ไม่รู้) แต่ด้วยการโฆษณาชวนเชื่อทำให้สัตว์คิดว่าเป็นจริง แม้แต่เปลี่ยนความจริงในอดีต เช่น สโนว์บอลเคยเป็นผู้นำในการรบอย่างกล้าหาญ อยู่แถวหน้าในการศึกกับมนุษย์ ก็โดนเปลี่ยนเป็นสายลับที่ลวงเหล่าสรรพสัตว์ไปให้โดนฆ่า โดนกล่าวหาว่าสมคบกับนายโจนส์มาตั้งแต่ต้น

เมื่อมีสัตว์ตัวใดจำเหตุการณ์ที่แท้จริงได้ ก็เริ่มใช้คำว่า “ท่านผู้นำของเรา สหายนโปเลียนเป็นคนยืนยัน มันต้องเป็นความจริงอย่างแน่นอน” หรือเมื่อโรงสีกังหันลมพังทลายขณะที่กำลังก่อสร้าง  ซึ่งสาเหตุอาจจะมาจากโครงสร้างไม่ดีแล้วพังเอง หรือมนุษย์ในฟาร์มข้างเคียงแอบมาทำลาย หรือเพราะอะไรก็ตาม นโปเลียนกลับประกาศว่าคนทำคือสโนว์บอล และอ้างว่าสโนว์บอลสมคบคิดกับมนุษย์เจ้าของฟาร์มข้างเคียง

สโนว์บอลกลายเป็น “ปิศาจ” ตามกระบวนการทำให้ฝ่ายตรงข้ามเป็นปิศาจร้ายในสายตามวลชน (demonization) และฝังความจำใหม่ให้เหล่าสัตว์ว่าคำพูดของท่านผู้นำถูกเสมอ

กดขี่ด้วยกำลัง

และหากสิ่งเหล่านั้นไม่เป็นผล เมื่อสัตว์ไม่เชื่อคำพูดเลิศหรูของสเควลเลอร์ หรือนายโจนส์ไม่มีความหมายเพราะสัตว์ลืมยุคนั้นไปแล้ว หรือมีสัตว์ตัวใดยังชื่นชมสโนว์บอล ก็มีเสียงขู่ของสุนัขภายใต้คำบัญชาของนโปเลียนคอยกดเอาไว้ให้เกรงกลัวไม่พูดถึง การใช้คำลวงโฆษณาชวนเชื่อ การข่มขู่ การเอารัดเอาเปรียบสัตว์ต่าง ๆ ภายใต้สภาวะเผด็จการสมบูรณ์ทำให้สถานการณ์ของเหล่าสัตว์ทั้งหลายย่ำแย่ลงไปเรื่อย ๆ เพราะไม่มีการตรวจสอบอย่างจริงจังตรงไปตรงมา ทุกอย่างอยู่ภายใต้การควบคุมของเหล่าหมูที่มีนโปเลียนเป็นผู้นำ แม้เมื่อเหล่าหมูรุ่นเยาว์ไม่เห็นด้วยที่นโปเลียนยกเลิกการประชุมวันอาทิตย์ ก็โดนกล่าวหาว่าสมคบคิดกับสโนว์บอล และต้องโทษประหารชีวิต

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ รากฐานแนวคิดที่เฒ่าเมเจอร์วางเอาไว้ก็หายไปทีละอย่าง เมเจอร์เฒ่าเคยบอกว่าสัตว์ทุกตัวจะไม่อาศัยอยู่ในบ้าน แต่หมูก็ย้ายจากเล้าไปอยู่ในบ้าน เฒ่าเมเจอร์เคยบอกว่าสัตว์ทุกตัวจะไม่นอนบนเตียง หมูก็นอนบนเตียง เฒ่าเมเจอร์เคยบอกว่าสัตว์ทุกตัวจะต้องไม่สัมผัสเงินหรือมีส่วนร่วมในการค้า แต่หมูก็ทำการค้ากับมนุษย์ เฒ่าเมเจอร์เคยบอกว่าสัตว์ทุกตัวจะต้องไม่ฆ่าสัตว์อื่น สุดท้ายก็มีสัตว์โดนฆ่า

บัญญัติเจ็ดประการที่เคยเป็นแนวทางของฟาร์มโดนเปลี่ยนไป

สัตว์จะไม่นอนบนเตียง ที่มีสิ่งปกคลุม

สัตว์จะต้องไม่ดื่มเหล้า มากเกินไป

สัตว์จะต้องไม่ฆ่าสัตว์ด้วยกันเอง โดยไร้เหตุผล

ในที่สุดหมูก็ลุกขึ้นยืนด้วยขาหลัง จากคติพจน์ “สี่ขาดี สองขาเลว” กลายเป็น “สี่ขาดี สองขาดีกว่า” สหายนโปเลียนกลายเป็น ท่านผู้นำของเรา สหายนโปเลียน และบัญญัติข้อสุดท้ายที่สำคัญที่สุด กลายเป็น

สัตว์ทุกตัวมีความเท่าเทียมกัน แต่สัตว์บางตัวมีความเท่าเทียมมากกว่าสัตว์อื่น

อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าฟาร์มจะมีทรัพย์สินมั่งคั่งมากขึ้น โดยที่เหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลายไม่ได้ร่ำรวยขึ้นเลย ยกเว้น…แน่นอน ยกเว้นพวกหมูแหละเหล่าฝูงหมา

ตอนจบของฟาร์มสัตว์สองย่อหน้าสุดท้ายคือ

พวกมันเดินจากไปไม่ถึงยี่สิบหลาก็ต้องหยุด มีเสียงดังเอะอะมาจากบ้าน พวกมันรีบกลับไปดูที่หน้าต่างอีกครั้ง ใช่แล้ว ข้างในบ้านกำลังทะเลาะเบาะแว้งเสียงเอ็ดไปหมด พวกนั้นตะโกนใส่กัน ทุบโต๊ะ มองกันด้วยสายตาคลางแคลงไม่ไว้วางใจ มีเสียงตอบปฏิเสธกราดเกรี้ยว ต้นเหตุน่าจะมาจากนโปเลียนกับนายพิลคิงตันต่างมีไพ่เอซโพดำอยู่ในมือทั้งคู่

เสียงทั้งสิบสองเสียงตะโกนอย่างเกรี้ยวกาด และดูคล้ายกันไปหมด ไม่มีคำถามอีก ตอนนี้หน้าพวกหมูดูจะมีอะไรบางอย่าง  เหล่าสรรพสัตว์มองหมู แล้วมองมนุษย์ แล้วมองหมู และหันจากหมูไปดูมนุษย์อีกครั้ง และตอนนี้พวกมันก็แยกความแตกต่างระหว่างหมูกับมนุษย์ไม่ได้อีกแล้ว

ฟาร์มสัตว์ ตอนจบ

ฟาร์มสัตว์ เพื่อสัตว์บางตัว

จอร์จ ออร์เวลล์ เข้าร่วมสงครามกลางเมืองสเปนในปี ค.ศ. ๑๙๓๖ ในเวลานั้นเขาเป็นนักสังคมนิยมผู้ต่อต้านฝ่ายเผด็จการทหาร แต่ขณะอยู่ในสเปนนั้น เขาได้รับรู้ความขัดแย้งระหว่าง โจเซฟ สตาลิน และ เลออน ทรอตสกี (ผู้ก่อตั้งและผู้บังคับการกองทัพแดงคนแรก) เพื่อช่วงชิงเป็นผู้นำสหภาพโซเวียตสืบต่อจาก วลาดีมีร์ เลนิน ซึ่งประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้เขา ไม่ชอบสังคมนิยมในแบบสตาลิน ซึ่งความจริงแล้วก็คือ ลัทธิเผด็จการ เขาจึงเขียน ฟาร์มสัตว์ เพื่อแสดงความฉ้อฉลหลอกลวงของลัทธิสตาลินว่ามันไม่ใช่สังคมนิยม เป็นเพียงแค่ฉวยโอกาสจากสังคมนิยมแต่แท้จริงก็คือเผด็จการฟาสซิสต์

กังหันลมในเรื่องดูเป็นจะอุดมคติที่ยอดเยี่ยม

เพื่อปั่นไดนาโมผลิตไฟฟ้าให้ฟาร์ม ไฟฟ้าจะสร้างความสว่างให้คอกสัตว์ และสร้างความอบอุ่นในฤดูหนาว และจะเป็นพลังงานให้เลื่อยวงเดือน เครื่องตัดฟางข้าว เครื่องแบ่งรางหญ้า และเครื่องรีดนมวัวไฟฟ้า สัตว์ทั้งหลายเพิ่งเคยได้ยินชื่อสิ่งเหล่านี้ครั้งแรก (เพราะฟาร์มนี้เป็นฟาร์มรุ่นเก่า มีแต่เครื่องจักรสมัยโบราณ) จึงพากันฟังด้วยความพิศวงงงงวย เมื่อสโนว์บอลเล่าภาพน่าตื่นตาตื่นใจของเครื่องจักรซึ่งจะทำงานแทน ขณะที่พวกสัตว์จะได้กินหญ้าสบาย ๆ ในทุ่งหรือพัฒนาสมองด้วยการอ่านและการพูดคุยสนทนา

ฟาร์มสัตว์

กังหันลมเป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้า เพื่อให้สรรพสัตว์ในฟาร์มมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งในตอนแรก นโปเลียนคัดค้าน แต่เมื่อสโนว์บอลโดนขับไล่ออกจากฟาร์ม กลับกลายเป็นว่า นโปเลียนสั่งให้สร้าง

สเควลเลอร์อธิบายกับเหล่าสัตว์ว่า ความจริงนโปเลียนไม่เคยคัดค้านเรื่องกังหันลม ตรงกันข้าม เขาสนับสนุนให้สร้างตั้งแต่แรก และแผนผังซึ่งสโนว์บอลวาดไว้บนพื้นโรงฟักไข่นั้น ความจริงถูกขโมยมาจากเอกสารของนโปเลียน แท้จริงแล้ว กังหันลมเป็นความคิดของนโปเลียนเอง

ฟาร์มสัตว์

กังหันลม กลายเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการสร้าง และ เสียสละ แต่เหล่าสรรพสัตว์ต่างเต็มใจ

ตลอดปีนั้นพวกสัตว์ทำงานกันไม่ได้หยุดหย่อนประหนึ่งข้าทาส ทว่าเป็นการทำงานด้วยความสุข ไม่มีงานหรือการเสียสละใดที่พวกเขาไม่เต็มใจ เพราะต่างรู้ดีว่าที่ทำไปทุกสิ่งนั้นเพื่อผลดีของตัวเองและลูกหลานภายหน้า มิใช่ทำเพื่อมนุษย์จอมขี้เกียจขี้ขโมยหน้าไหน

ฟาร์มสัตว์

ภาพใต้แผนการสร้างกังหันลมเพื่อสรรพสัตว์ นโปเลียนประกาศว่าสัตว์จะเริ่มขายสินค้าในฟาร์ม -ไม่ใช่เพื่อการพาณิชย์- แต่เพื่อหารายได้ซื้อวัสดุสำหรับสร้างกังหันลม

บางที การที่นโปเลียนสนับสนุนกังหันลม อาจไม่ได้ทำเพื่อสรรพสัตว์ แต่ขายความฝันและใช้กังหันลมเป็นเครื่องมือสร้างอุดมคติลวงเพื่อแสวงหาผลกำไร

ถ้าย้อนกลับไปสู่ อุดมคติที่นำไปสู่การก่อตั้ง ฟาร์มสัตว์ของ เมเจอร์เฒ่า ซึ่งเคยให้แนวคิดไว้ว่า สัตว์ทุกต้องต้องไม่แตะต้องเงินหรือมีส่วนร่วมในการค้า นโปเลียน ก็อ้างว่า นี่ไม่ใช่การค้าเพื่อแสวงหากำไร แต่เป็นความจำเป็นอย่างหนึ่งเพื่อทำให้อุดมคติสำเร็จเป็นจริง เป็นการฉ้อฉลอุดมคติของเมเจอร์เฒ่าที่นโปเลียนใช้แสวงหารายได้ให้กับตัวเอง

บทสรุปหนึ่งเดียว น่าจะมาจากเบนจามิน

มีเพียงเบนจามินผู้เดียวที่ไม่ได้เข้ากับฝ่ายไหน เขาไม่เชื่อใครทั้งนั้น ทั้งฝ่ายที่บอกว่าอาหารจะมีเหลือเฟือ หรือฝ่ายที่บอกว่ากังหันลมจะช่วยลดแรงงาน เขาพูดว่า จะมีหรือไม่มีกังหันลม ชีวิตก็จะเป็นเช่นที่เคยเป็นมาเสมอ นั่นก็คือชีวิตที่เลวร้าย

ฟาร์มสัตว์

และเป็นอย่างนั้นจริง ๆ

สังคมนิยมในฝันของจอร์จ ออร์เวลล์ไม่เคยเกิดขึ้นจริงในโลกใบนี้ ความสมบูรณ์แบบของสังคมนิยมเป็นเพียงความฝันเพราะมนุษย์ไม่อาจผ่านด่านอำนาจไปได้ โจเซฟ สตาลิน อาจไม่ได้เป็นเผด็จการมาตั้งแต่ต้น แต่เมื่ออยู่ในวังวนอำนาจก็อาจจะทำให้หลงทางไปได้ดังที่ จอห์น ดัลเบิร์ก-แอกตัน (John Dalberg-Acton) เขียนไว้ตั้งแต่ปีค.ศ. ๑๘๘๗ ว่า “อำนาจนำมาซึ่งการฉ้อฉล การรวบอำนาจเบ็ดเสร็จทำให้ฉ้อฉลได้อย่างเบ็ดเสร็จ ผู้ยิ่งใหญ่เกือบทั้งหมดมักเป็นคนเลว” Power tends to corrupt, and absolute power corrupts absolutely. Great men are almost always bad men

อย่างในสังคมประชาธิปไตยเอง บางคนก็มีคนหลงลืมไปว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนทั้งหมด ไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง การที่นักการเมืองได้รับเลือกตั้งเข้ามาหลงผิดคิดว่าตัวเองมีอำนาจ ก็มีแนวโน้มจะเป็นอย่างที่ว่า “อำนาจนำมาซึ่งการฉ้อฉล…” กระทำการตามอำเภอใจโดยใช้อำนาจปิดบัง ซ่อนเร้น หลอกลวง ฉ้อฉล

หรือรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ ในด้านหนึ่งอาจหมายถึง “เผด็จการรัฐสภา” คือมีความเบ็ดเสร็จ รัฐบาลสามารถคุมเสียงในสภาให้เป็นไปตามต้องการได้ทั้งหมดก็มีแนวโน้มที่จะมีอะไรไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นได้เสมอ (ในเมืองไทยก็มีตัวอย่างให้เห็นมานานแล้ว) ด้วยเหตุนี้การตรวจสอบและคานอำนาจจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสังคม

หาไม่แล้ว ฟาร์มสัตว์ อาจจะเป็นเรื่องของพวกเราในชีวิตจริงก็ได้

ฟาร์มสัตว์สำนวนไทย

อาทิเช่น

๑. ฟาร์มเดรัจฉาน แปลโดย ม.ล. นิภา ภานุมาศ (พ.ศ. ๒๕๐๒)

๒. สัตวรัฐ แปลโดย อุทุมพร ปาณินทร์ ตรวจทานโดย สุภา ลือศิริ สำนักพิมพ์แพร่พิทยา (พ.ศ. ๒๕๑๕)

๓. การเมืองของสัตว์ แปลโดย วิเชียร อติชาตการ สำนักพิมพ์เคล็ดไทย (พ.ศ. ๒๕๑๘) สำนักพิมพ์ดอกหญ้า (พ.ศ. ๒๕๒๕) ซีเอ็ดยูเคชั่น (พ.ศ. ๒๕๓๘)

๔. แอนนิมอล ฟาร์ม แปลโดย ศุภรางค์ เผ่าพันเลิด สำนักพิมพ์แพร่พิทยา (พ.ศ. ๒๕๑๘)

๕. ฟาร์มสัตว์ แปลโดย สายธาร สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น (พ.ศ. ๒๕๒๐)

๖. รัฐสัตว์ แปลโดย เกียรติขจร ไชยแสงสุขกุล สำนักพิมพ์มติชน (พ.ศ. ๒๕๔๔)

๗. แอนิมอล ฟาร์ม แปลโดย พันเอก ดร. ชัยพฤกษ์ ปิลกศิริ สำนักพิมพ์กู๊ดมอร์นิ่ง (พ.ศ. ๒๕๔๙)

๘. แอนิมอล ฟาร์ม สงครามกบฏของสรรพสัตว์ แปลโดย บัญชา สุวรรณานนท์ สำนักหนังสือไต้ฝุ่น (พ.ศ. ๒๕๕๕)

๙. แอนิมอล ฟาร์ม แปลโดย เพชร ภาษพิรัช สำนักพิมพ์ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๐)

๑๐. แอนิมอล ฟาร์ม แปลโดย สรวงอัปสร กสิกรานันท์ แอร์โรว์ คลาสสิกบุ๊คส์ (พ.ศ. 2562)

2 thoughts on “Animal Farm – ฟาร์มสัตว์ของ จอร์จ ออร์เวลล์”

  1. Pingback: If You Tolerate This Your Children Will Be Next - Friday I Am In Rock

  2. Pingback: Motorcycle Emptiness: ในความแปลกแยกจากสังคม – Friday I Am In Rock

แสดงความคิดเห็น