1984

1984 นิยายของ จอร์จ ออร์เวลล์ มักจะโดนหยิบยกขึ้นมาทุกครั้งที่มีการรัฐประหาร หรือรู้สึกว่าอยู่ในสภาวะเผด็จการ แม้แต่เมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับตำแหน่งประธานธิบดีสหรัฐอเมริกาก็ยังมีคนพูดถึงนิยายเรื่องนี้ จนกลายเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่ง

เมื่อปีค.ศ. 2017 หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์รายงานว่า 1984 กลายเป็นหนังสือขายดีอันดับหนึ่งในเว็บแอมะซอน โดยจู่ ๆ ก็มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๙,๐๐๐ และสาเหตุน่าจะมาจากคำให้สัมภาษณ์ของ เคลลีแอนน์ คอนเวย์ ที่ปรึกษาของโดนัลด์ ทรัมป์ ในรายการ “พบสื่อมวลชน” ช่องเอ็นบีซี ซึ่งมีประโยคเด็ดคันหัวใจคนฟังว่า

“Don’t be so overly dramatic about it, Chuck. You’re saying it’s a falsehood, and … our press secretary, Sean Spicer, gave alternative facts to that”

“อย่าทำให้มันกลายเป็นละครน้ำเน่ามากเกินไป ชัค คุณกำลังจะบอกว่ามันเป็นความเท็จ และ … หัวหน้างานประชาสัมพันธ์ของเรา ฌอน สไปเซอร์ ได้ให้ข้อเท็จจริงทางเลือกต่างหาก”

คำว่า ข้อเท็จจริงทางเลือก – alternative facts – กลายเป็นประโยคเด็ดของวัน และอีกหลายวันหลังจากนั้น เรื่องนี้มีที่มาจาก ฌอน สไปเซอร์ หัวหน้างานประชาสัมพันธ์ของทำเนียบขาวได้จัดแถลงข่าวครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ค.ศ. ๒๐๑๗ ได้กล่าวหาสื่อมวลชนว่าประเมินจำนวนคนที่มาร่วมพิธีสาบานตนของ โดนัลด์ ทรัมป์ ต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะจำนวนคนที่มาร่วมพิธีสาบานตนของ โดนัลด์ ทรัมป์ มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

ซึ่งเรื่องนี้ สื่อมวลชนอเมริกันหลายสำนัก เช่น หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ สถานีโทรทัศน์เอบีซี และ ซีเอ็นเอ็น ได้โต้แย้งว่าไม่เป็นความจริง เช่น หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ประมาณว่ามีคนเข้าฟังช่วงกำลังสุนทรพจน์เพียง ๑๓๐,๐๐๐ คนเท่านั้น โดยผู้ร่วมงานทั้งวันน่าจะมีประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ ถึง ๖๐๐,๐๐๐ คน เทียบกับสมัย บารัก โอบามา ทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งสมัยแรกมีจำนวนถึง ๑,๘๐๐,๐๐๐ คน

George Orwell
จอร์จ ออร์เวลล์

If you want a vision of the future, imagine a boot stamping on a human face – forever.

— 1984

1984

การใช้คำว่า “ข้อเท็จจริงทางเลือก” – alternative facts ที่ เคลลีแอนน์ ใช้นั้นก็ไม่ต่างจากความพยายามของ พรรคอิงซอก ใน 1984 ที่ใช้ “ความเชื่อลวง” และ “ความคิดสองชั้น” เพื่อครอบงำความคิดของประชาชน ให้เชื่อฟังและไม่ต่อต้านอำนาจรัฐ พวกเขามีกระทรวง “ความจริง” ที่มีหน้าที่ผลิต “ความจริง” ออกมาใส่หัวประชาชน ซึ่งท้ายที่สุดเมื่อทางพรรคประกาศว่าสองบวกสองเท่ากับห้า คุณก็ต้องเชื่อ แม้คุณจะรู้สึกว่ามันมีอะไรแปลก ๆ ทะแม่ง ๆ แต่คุณก็เชื่อว่าสองบวกสองเท่ากับห้า

In the end, the Party would announce that two and two made five, and you would have to believe it

Winston Smith

นั่นหมายถึงการโดนครอบงำสมบูรณ์แบบ ผู้คนไม่มีเสรีภาพในการคิดอย่างเป็นอิสระ ซึ่งวินตันต้องเขียนเป็นบันทึกไว้ว่า เสรีภาพคือมีเสรีภาพพอจะพูดว่าสองบวกสองเท่ากับสี่…

Freedom is the freedom to say that two plus two make four. If that is granted, all else follows.

Winston Smith

(สำหรับ สองบวกสองเท่ากับห้า โปรดอ่านที่บล็อกนี้)

มีคนเปรียบเทียบเอาไว้ว่า ความคิดแบบชาตินิยมแบบที่ โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังโฆษณาชวนเชื่อว่าจะทำให้ อเมริกายิ่งใหญ่อีกครั้ง ก็ไม่ต่างอะไรกับการสร้างค่านิยมคลั่งชาติแบบผิด ๆ ขึ้นมา การกระตุ้นความหวาดกลัวต่อต่างชาติ (ชาวมุสลิมและบรรดาผู้อพยพ) การไม่สนใจความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ (อ้างว่าภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องหลอกลวงของประเทศจีน) และความพยายามสร้างภาพว่า ผู้นำจะปกป้องพวกเขาได้ เหล่านี้ไม่ต่างจากสิ่งที่ “พี่ใหญ่” ใน 1984 ได้ทำไว้

The Big Brother is Watching You

1984 - Big Brother is Watching You

ประโยคเด็ด “The Big Brother is Watching You” หรือ “พี่ใหญ่ (ท่านผู้นำ) จับตามองคุณอยู่” เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนในอเมริกา (จากกรณีของ NSA) สำหรับในนิยายนั้นหมายถึงวิถีชีวิตที่ทุกหนแห่งไม่มีความเป็นส่วนตัว มีการติดตั้งจอโทรทัศน์ขนาดใหญ่ทุกหนแห่งแพร่ภาพโฆษณาชวนเชื่อ ๒๔ ชั่วโมง บันทึกเสียงประชาชน ทั้งในที่สาธารณะและในบ้านเรือนอาคาร เรื่องเหล่านี้ไม่ได้ไกลตัวประชาชนอเมริกันเพราะไม่นานมานี้ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ได้เปิดเผยความจริงอันน่ากลัวว่า สภาความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Agency – NSA) ก็เฝ้าดักฟังความเคลื่อนไหวของประชาชน จนเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน

George Orwell

 บริบทขณะจอร์จ ออร์เวลล์เขียน 1984

จอร์จ ออร์เวลล์ เขียน 1984 ในช่วงระหว่างปีค.ศ. ๑๙๔๗ – ๑๙๔๘ เป็นนิยายต่อจากเรื่อง ฟาร์มสัตว์ ช่วงนั้นสงครามโลกครั้งที่สองจบแล้ว แต่บรรยากาศยังอึมครึม เริ่มเข้าสู่ยุคสงครามเย็น เล่ากันว่าจอร์จเริ่มคิดเรื่องเกี่ยวกับเมืองในโลกไม่พึงประสงค์หลังจากเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองระดับโลกคือ “การประชุมเตหะราน” (Tehran Conference) ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ถึงวันที่ ๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๓ ณ สถานฑูตสหภาพโซเวียตประจำอิหร่าน หลังจากที่อังกฤษและโซเวียตยึดครองอิหร่านซึ่งเป็นพันธมิตรที่ดีของเยอรมนีได้สำเร็จ

Tehran_Conference_for_agreement_on_allied_invasion_of_France
การประชุมเตหะราน

ครั้งนั้นเป็นการพบกันระหว่าง โจเซฟ สตาลิน ผู้นำสหภาพโซเวียต ธีโอดอร์ แฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และ วินสตัน เชอร์ชิลล์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ สามประเทศยักษ์ใหญ่ในเวลานั้น

1984 เสร็จสมบูรณ์วางจำหน่ายครั้งแรกในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๙ เดิมทีเขาตั้งใจจะใช้ชื่อเรื่องว่า บุรุษคนสุดท้ายของยุโรป (Last Man of Europe) แต่เปลี่ยนเป็น 1984 เพราะ เฟรด วอร์เบิร์ก ผู้พิมพ์โฆษณาของจอร์จให้คำแนะนำว่ามันจะ “ขาย” มากกว่า

ที่มาของชื่อเรื่องนี้ออกจะเป็นปริศนา ความเชื่อหนึ่งอ้างว่า เป็นเพราะสมาคมเฟเบียน (Fabian Society – กลุ่มสังคมนิยมในอังกฤษ) ก่อตั้งเมื่อปีค.ศ. ๑๘๘๔ ซึ่งถ้านับครบรอบ ๑๐๐ ปีก็คือ ๑๙๘๔ บ้างก็ว่านิยายเรื่อง ท็อบบู้ตทมิฬ (The Iron Heel) ของ แจ็ก ลอนดอน ซึ่งเป็นเรื่องโลกไม่พึงประสงค์ที่มีกลุ่มการเมืองยึดครองทุกอย่างบริบูรณ์ในปีค.ศ. ๑๙๘๔

จากบทนำของนิยาย 1984 ฉบับสำนักพิมพ์เพนกวิน เขียนว่าเดิมทีจอร์จจะเขียนให้เหตุการณ์เกิดขึ้นในปีค.ศ. ๑๙๘๐ แล้วเปลี่ยนเป็นค.ศ. ๑๙๘๒ แล้วเปลี่ยนเป็น ค.ศ. ๑๙๘๔

เกี่ยวกับเนื้อหา

1984 กล่าวถึงโลกเลวร้ายในอนาคต (ซึ่งกลายเป็นอดีตไปแล้วในปัจจุบัน) โลกเหลือเพียง ๓ รัฐใหญ่ (ในนิยายใช้คำว่า Super State)  คือโอเชียเนีย ยูเรเซีย และอีสเตเซีย (ถ้าเป็นเรื่องจริง ประเทศไทยคงอยู่ในอิสเตเซีย) และยังมีเขตอิสระที่อยู่ในแนวกันชนของทั้งสามรัฐซึ่งทั้งสามรัฐก็พยายามครอบครองดินแดนอิสระเหล่านั้น เพื่อขยายดินแดนและอิทธิพลให้ยิ่งใหญ่ต่อไป

เหตุการณ์ในเรื่องเกิดขึ้น ณ ลอนดอน เมืองหลวงของแอร์สตริปวัน (หรือประเทศอังกฤษ) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโอเชียเนีย ภายใต้การปกครองของพรรคสังคมนิยมอังกฤษ (English Socialism แต่ “ภาษาใหม่” ใช้คำว่าอิงซ็อก – Ingsoc) ใช้วิธีโฆษณาชวนเชื่อให้เคารพเชื่อฟัง “พี่ใหญ่” (Big Brother) ซึ่งจะมีตัวตนอยู่จริง หรือ บางที อาจจะเป็นเพียง “สัญลักษณ์” ที่โดนสร้างขึ้นมา ไม่มีตัวตนอยู่จริง เรื่องนี้ไม่มีใครรู้แน่ชัด ทุกคนมีข้อมูลเพียงว่า พี่ใหญ่คือผู้ก่อตั้งพรรคอิงซ็อกและเป็นผู้นำสูงสุดแต่เพียงผู้เดียวของ โอเชียเนีย

ระบบการปกครองใน 1984 เป็นระบบเผด็จการสมบูรณ์แบบ ครอบงำความคิดจากก้นบึ้งของสามัญสำนึก โดยใช้ยุทธวิธีผ่านทางสี่กระทรวงหลัก คือ กระทรวงสันติภาพ (สำหรับทำสงครามเพื่อสันติภาพ) กระทรวงความจริง (สำหรับเผยแพร่ความจริงจากรัฐ) กระทรวงเศรษฐกิจ (สำหรับควบคุมการลงทุนและระบบการเงิน) กระทรวงความรัก (สำหรับควบคุมคัดสรรและคัดเลือกเผ่าพันธุ์ประชากร)

หน้าปกหนังสือ 1984 ฉบับสำนักพิมพ์ เพนกวิน

ระบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ (totalitarianism)

พรรคอิงซ็อกต้องการในสิ่งที่รัฐบาลทุกแห่งต้องการ นั่นคือ ให้ประชาชนเชื่อฟังและเห็นด้วยกับแนวทางพรรคอย่างไม่มีข้อแม้ ทุกคนจะต้องคิดเหมือนกันหมด ถ้าใครคิดแตกแยกไปจากที่พี่ใหญ่กำหนดถือเป็นอาชญากรรมทางความคิด และมีตำรวจความคิดคอยดูแลใกล้ชิดทุกหนแห่ง ซึ่งกลยุทธ์ในการปกครองประชนชนของพี่ใหญ่มีดังนี้

ลดความเป็นปัจเจกชน                                                  

สภาพหนึ่งในโอเชียเนียที่น่าสนใจคือ ไม่ปล่อยพื้นที่ว่างสำหรับปัจเจกชนทุกสิ่งอยู่ภายใต้การเฝ้าดูของพรรคอิงซ็อค ทุกหนแห่งในโอเซียเนียรวมถึงในบ้านหรือสถานที่ส่วนตัวจะมีเทเลสกรีนหรือจอภาพขนาดใหญ่ฉายภาพโฆษณาชวนเชื่อและข้อความสื่อสารสั่งการของพี่ใหญ่พร้อมสโลแกน พี่ใหญ่กำลังมองคุณอยู่ (BIG BROTHER IS WATCHING YOU) ซึ่งไม่ใช่สโลแกนเล่น ๆ เพราะจอภาพนี้ปิดไม่ได้และยังทำหน้าที่เป็นกล้องโทรทัศน์คอยจับตาการเคลื่อนไหวพูดคุย ทุกคนจึงระมัดระวังตัว เพราะ “พี่ใหญ่เฝ้ามองคุณอยู่” ไม่กล้า และ ไม่มีเวลาคิดต่างจากสิ่งที่พี่ใหญ่แนะนำ ยิ่งไม่กล้าจับกลุ่มพูดคุยกับคนอื่นด้วยเรื่องที่ต่างจากความประสงค์ของพี่ใหญ่ เพราะตำรวจความคิดพร้อมจะติดตามตัดตอนได้ทุกเวลา

1984
ภาพจากภาพยนตร์ 1984 (1984)

นอกจากการสอดส่องโดยเปิดเผยแล้ว ยังมีสายลับ ดังเช่น โอไบรอัน บุคคลที่วินสตันคิดว่าจะเป็นเพื่อนต่อต้านรัฐด้วยกัน กลับกลายเป็นสายลับของรัฐที่ล่อลวงล้วงความลับจากฝ่ายต่อต้าน

ตัดกลับมาในโลกความเป็นจริง เมื่อไม่นานมานี้ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ก็ได้เปิดเผย โครงการปริซึม และการดำเนินงานต่าง ๆ ของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (เอ็นเอสเอ) สหรัฐ ที่แทรกซึมดักฟังการติดต่อสื่อสารของประชาชน ทำให้เรารู้ว่าในโลกแห่งความจริงเราก็โดน “พี่ใหญ่” สอดส่องอยู่ตลอดเวลา

ลัทธิบูชาบุคคล Cult of Personality

กลุ่มผู้นำรัฐโอเชียเนียใช้ลัทธิบูชาบุคคลสร้าง พี่ใหญ่ ขึ้นมา พี่ใหญ่ผู้นี้ ตามเรื่องเล่าของพรรคก็คือผู้นำพรรคอิงซ็อค (Ingsoc) หรือ England Socialist) ซึ่งสามารถแย่งชิงการนำได้แบบเบ็ดเสร็จหลังสหรัฐอเมริกาควบรวมกับอังกฤษและอัฟริกาใต้ไม่นาน เขาและ เอมมานูเอล โกลด์สตีน ได้วางรากฐานและระบบต่าง ๆ แต่ท้ายสุด เอมมานูเอล ก็ถูกกำจัดให้พ้นทาง ซึ่งในฝั่งผู้ต่อต้านก็อธิบายว่า เอมมานูเอล เริ่มรู้สึกว่าพี่ใหญ่เปลี่ยนอุดมการณ์ไปจากเดิม จึงแยกตัวมาตั้งกลุ่ม บราเธอร์ฮู้ด ซึ่งมีวัตถุประสงค์ล้มพรรคอิงซ็อค

ใน 1984 ไม่ได้เอ่ยว่าพี่ใหญ่ชื่อจริงว่าอะไร หรือ ตัวจริงอายุเท่าไหร่ อาจจะเสียชีวิตไปแล้วเ กลายเป็นหุ่นเชิดให้คณะผู้บริหารใหม่ หรือ แม้กระทั่งอาจไม่มีตัวตนอยู่จริงมาตั้งแต่แรกก็ได้ เช่นเดียวกับ เอมมานูเอล โกลด์สตีน อาจไม่มีอยู่จริงเพราะข้อมูลทั้งหมดที่ประชาชนรู้มาจากการสร้างของรัฐเท่านั้น บทบาทของทั้งสองคนในนิยายเป็นสัญลักษณ์มากกว่า

ลัทธิบูชาตัวบุคคลในโลกความจริง มีทั้ง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เบนิโต มุสโสลินี ฟรานซิสโก ฟรานโก หรืออาจจะเป็น โจเซฟ สตาลิน ผู้นำลัทธิมาร์กซิสต์มาดัดแปลง เพื่อผลประโยชน์ในการปกครองในแบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ โดยเฉพาะบทบาทของพี่ใหญ่และ เอมมานูเอล โกลด์สตีน ก็คล้ายกับ โจเซฟ สตาลิน กับ เลออน ทรอตสกี ในสหภาพโซเวียต ไม่น้อยเหมือนกัน

ความเชื่อลวง (Pseudophilosophy)

ความสำเร็จของพรรคอิงซ็อคเกิดจากทำให้ประชาชนมีความเชื่อแบบผิด ๆ อย่างคำขวัญของพรรคคือ

สงครามคือสันติภาพ

เสรีภาพคือการเป็นทาส

ความไม่รู้คือพลัง

ชนชั้นแรงงานส่วนใหญ่ไม่โดนบังคับให้มีเทเลสกรีนในบ้านเหมือน “สมาชิกพรรควงนอก” ไม่ใช่เพราะได้รับอภิสิทธิ์อะไร แต่พรรคมองชนชั้นแรงงานไม่ต่างจากสัตว์ (Proles and animals are free) เป็นกลุ่มที่โดนพรรคมองว่าเป็นเพียงผู้ใช้แรงงานไม่สามารถสร้างกระเพื่อมใดใดได้ เพราะไม่มีสมองพอที่จะคิด ซึ่งทางพรรคได้มอมเมาชนชั้นแรงงาน (Proles) ด้วยอบายมุขต่าง ๆ เช่น สลากกินแบ่ง หรือเรื่องทางเพศให้ฉ่ำใจ แต่ก็ยังมีสายลับคอยแทรกซึมเพื่อกำกับอีกชั้นหนึ่ง แบบไม่ปล่อยมือเสียทีเดียว

การสร้างความเชื่อลวง ต้องสร้างความจริงลวงขึ้นมา และเป็นตัวอย่างอันดีของคำว่า ผู้ชนะคือผู้เขียนประวัติศาสตร์ เพราะพวกเขาจะแก้ไขประวัติศาสตร์ รวมทั้งสร้างหลักฐานขึ้นมาด้วยความเชื่อมั่นว่า ใครที่ควบคุมอดีตได้ก็จะควบคุมปัจจุบันและอนาคตได้  แต่ถ้าใครควบคุมปัจจุบันได้ก็จะควบคุมอดีตได้

อย่างเช่น วินสตัน สมิธ ตัวเอกของเรื่องทำงานอยู่ในกระทรวงความจริง มีหน้าที่เขียนประวัติศาสตร์และสร้างหลักฐานเพื่อสนับสนุน “ความจริง” ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของ กระทรวงความจริง คือจัดการข่าวสารทุกรูปแบบให้ประชาชนรับรู้ และ เชื่อในสิ่งที่ผู้นำพรรคอยากให้เชื่อ

การสร้างความเชื่อลวงแบบนี้ขึ้นมาได้ ต้องควบคุมการรับรู้ทุกวิถีทาง ซึ่งทำได้ยากในปัจจุบันที่อินเตอร์เน็ตเข้าถึงทุกที่ แต่ก็มีเช่นประเทศจีนจำกัดการรับรู้ด้วยวิธีการหลากหลาย หรือเกาหลีเหนือที่ควบคุมทุกสื่อ หรือแม้แต่ประเด็นซิงเกิลเกตเวย์ที่เคยพูดถึงในประเทศไทย

ความคิดสองชั้น (Double Think)

เครื่องมือหนึ่งที่พรรคอิงซ็อคใช้คือ “ความคิดสองชั้น” (Double Think) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของพรรคอินซ็อค เพราะเป็นเครื่องมือควบคุมความเชื่อที่ขัดแย้งในใจของคน ให้ยอมรับความหมายทั้งสองทาง คือเชื่ออย่างจริงใจ เต็มใจ ทั้งที่รู้ว่าเป็นเท็จ หรือเชื่อในสิ่งนั้นโดยไม่ไตร่ตรอง เช่น เชื่อว่าแม่ชีปัดระเบิดปรมาณูที่หย่อนลงกรุงเทพไปตกที่ฮิโรชิมาหรือนางาซากิ ทั้งที่ความจริงคือ ไม่มีแนวโน้ม หรือไม่มีเหตุผลว่าฝ่ายสัมพันธมิตรจะเอาระเบิดปรมาณูมาทิ้งกรุงเทพไปทำไม เพราะไม่ใช่จุดยุทธศาสตร์สำคัญในสงครามแต่อย่างใด

ด้วยวิธีนี้นี้เหมือนฝังความทรงจำลงในหัวเลยว่าจะให้รับรู้เรื่องใด อย่างไร แบบไหน โดยใช้เทคนิคเล่นกับความจริง และเป็นการทำให้ประชาชนไม่เชื่อความจริง (หรือคิดว่าความจริงคือเรื่องหลอกลวง) หันมาเคารพการนำของพรรคอย่างหมดหัวใจ ดังที่บอกไว้ในนิยายว่า

In the end, the Party would announce that two and two made five, and you would have to believe it

วินสตัน

ท้ายที่สุด ถ้าพรรคประกาศว่า สองบวกสองเท่ากับห้าแล้ว คุณก็จะเชื่ออย่างนั้น

ภาษาใหม่ (Newspeak)

การสร้างความจริงลวง ต้องควบคุมความคิดประชนชนให้เด็ดขาด และ เครื่องมือสำคัญอีกอย่างคือ ภาษา โดยพรรคอินซ็อคได้สร้างภาษาใหม่หรือ Newspeak ขึ้นมาแทนภาษาเก่า หรือ Oldspeak ซึ่งหมายถึงภาษาอังกฤษ

ภาษาใหม่ไม่ได้เป็นแค่การใช้แทนคำเดิม หรือใช้เป็นสื่อกลางการสื่อสาร แต่มาจากแนวคิดที่ว่า ถ้าใช้ภาษาให้น้อยลงหรือซับซ้อนน้อยลง มีเพียงภาษาพื้น ๆ ไม่กี่คำ ก็จะทำให้สมองลดความซับซ้อนตามไปด้วย เมื่อสมองคิดน้อยลงก็สามารถกำหนดความคิดประชาชนให้เชื่อฟังได้ง่ายขึ้น

 ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือจากชื่อพรรค English Socialism กลายเป็น Ingsoc หรือ

  • Ministry of Love กลายเป็น miniluv
  • Ministry of Peace กลายเป็น minipax
  • Ministry of Truth กลายเป็น minitrue
  • Ministry of Plenty กลายเป็น miniplenty

ภาษาใหม่ เปลี่ยนโครงสร้างไวยากรณ์ทั้งหมด และ ทำให้เหลือคำศัพท์น้อยลง คำที่ใช้แทนกันได้จะยุบให้เหลือเพียง ๑ เดียวโดยไม่สนใจว่าเป็นคำนามหรือกริยาเช่น เช่นจะไม่ใช้ Thought ให้ใช้ Think เช่นในนิยายใช้คำว่า Crimethink แต่ตามหลักภาษาจะต้องใช้ Thoughtcrime หรือ Good ถ้าเป็นคำตรงข้ามให้ใช้ Ungood แทนที่จะเป็น Bad ขณะเดียวกัน บางคำก็เลือกเก็บคำที่มีความหมายเชิงลบเอาไว้ เช่น ไม่เย็น (Uncold) ใช้แทน อุ่น (Warm) เพราะคำว่าเย็นจะให้ภาพทางลบ คำในกลุ่มนี้จึงใช้ Uncold (ไม่เย็น) Cold (เย็น) Pluscold (หนาว) และ Doublepluscold (หนาวมาก)

ความเชื่อว่ายิ่งศัพท์น้อยลงเท่าไหร่จะทำให้คนคิดน้อยลงและยิ่งโง่มากขึ้นสามารถควบคุมได้ง่าย ทำให้นึกถึงสมัยปฏิวัติวัฒนธรรมของจีนช่วงปีค.ศ. ๑๙๖๖ เป็นต้นมาจนเหมาเจ๋อตุงเสียชีวิต และก็นึกถึงสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีแล้วสั่งปรับปรุงวัฒนธรรมและภาษาไทย

ไม่รู้ว่าจะมาจากแนวคิดเดียวกันหรือเปล่า…

1984 โลกไม่พึงประสงค์ที่ฝากความหวังไว้กับรากหญ้า

นิยาย 1984 สร้างโลกภายใต้ระบบเผด็จการสมบูรณ์แบบที่รัฐสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างรวมทั้งล้างสมองประชาชนด้วยความจริงลวง สร้างความกลัวเพื่อให้ปกครองง่าย มีตำรวจความคิดตามจับคนที่คิดออกนอกลู่นอกทาง จนทำให้ผู้คนไม่กล้างแสดงความคิดที่แท้จริงออกไปเพราะไม่อาจไว้วางใจใครได้อีก

การเอ่ยอ้างความเท่าเทียมซึ่งไม่เป็นความจริง แม้จะบอกว่าทุกคนจะเท่าเทียมด้วยความรักและเมตตา แต่ความจริงโอเชียเนียมีชนชั้นสามระดับ คือ “สมาชิกพรรคระดับวงใน” (Inner Party) ที่เป็นระดับผู้นำ “สมาชิกพรรคระดับวงนอก” (Outer Party) เป็นเจ้าหน้าที่คอยรับใช้และทำตาม “คนวงใน” สั่ง และสุดท้ายคือประชากรร้อยละ ๘๕ ในประเทศเป็นแค่โพรล (Proles หรือ Proletariat แปลว่าชนชั้นแรงงานก็ได้ ประชาชนธรรมดาสามัญก็ได้)

น่าสังเกตว่าพี่ใหญ่ไม่ได้เข้มงวดกับชนชั้นแรงงานเท่ากับการเฝ้าระวังสมาชิกวงนอกและวงในของพรรคเพราะมองว่าคนกลุ่มนี้มีหน้าที่แค่ทำงานและสืบพันธุ์ แต่พรรคให้ความหวังและความฝันว่าชนชั้นแรงงานเหล่านี้มีอิสระเสรี พรรคใช้เครื่องจักรผลิตความบันเทิงหลากหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นเพลง นิยาย และสื่ออื่น ๆ เพื่อหลอกให้ชนชั้นแรงงานเหล่านี้เพ้อฝันไปวันวัน ใช้ชีวิตหมกมุ่นเรื่องทางเพศ สร้างผลงานอะไรก็ได้ที่จะไม่มีเนื้อหาอะไรให้คนอ่านสะดุดใจคิดเรื่องต่อต้านพรรค ปล่อยให้ชนชั้นแรงงานเพ้อฝันว่าจะรวยด้วยสลากกินแบ่ง มีการซื้อขายสินค้าเสรีที่ความจริงแล้วไม่เสรีจริงเพราะระบบเศรษฐกิจและผลิตผลทุกประการล้วนอยู่ในมือพรรค ขณะเดียวกันสายลับของพรรคจะแทรกซึมคอยปล่อยข่าวลือ และกำจัดคนที่มีแนวโน้มจะแปลกแยกต่อต้านพรรค

 If there is hope,’ wrote Winston, ‘it lies in the proles. “ถ้ามันมียังมีความหวัง” วินสตันเขียน “มันอยู่กับชนชั้นแรงงาน” If there was hope, it MUST lie in the proles “ถ้ามันยังมีความหวังอยู่ มันต้องอยู่ในชนชนแรงงาน” วินสตันเขียนเช่นนี้เพราะเขารู้สึกว่าชนชั้นแรงงานเหล่านี้ยังมีอารมณ์และชีวิตเหมือนมนุษย์ทั่วไปมากกว่าโดนควบคุมล้างสมองกว่าอีกสองชนชั้น

ท้ายที่สุด วินสตันก็พ่ายแพ้ เขาโดนล้างสมองด้วยวิธีทารุณในห้องหมายเลข ๑๐๑ ห้องที่น่าหวาดกลัวจนเขาต้องตะโกนออกมาว่า “ไปทำกับจูเลีย อย่าทำผม ผมไม่สนใจว่าคุณจะทำอะไรกับเธอบ้าง ลอกผิวหน้าเธอออกหรือว่าสับกระดูกเธอ แต่อย่าทำกับผม ทำกับจูเลีย อย่าทำผม”

ช่างเป็นวีรบุรุษในอุดมคติที่ยอมให้หญิงคนรักเจ็บปวดแทนตัวเอง หมดกันผู้หาญกล้า และสุดท้ายเขาก็กลายเป็นพลเมืองธรรมดาสามัญที่เคารพรักเชิดชูพี่ใหญ่ไม่ต่างจากคนอื่น

1984
ภาพจากภาพยนตร์ 1984

หรือว่านิยาย 1984 จะไม่ได้จบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายปกครอง?

เมื่ออ่านนิยาย 1984 ของจอร์จ ออร์เวลล์จบลง รู้สึกว่าชีวิตช่างน่าหดหู่ที่วินสตัน สมิธตัวเอกของเรื่องพ่ายแพ่โดนล้างสมองจนเคารพ “พี่ใหญ่” ไม่ต่างจากประชาชนพลเมืองอื่น เหมือนเป็นการบอกเราว่าวาระสุดท้ายผู้พยายามต่อต้านระบบเผด็จการสมบูรณ์แบบคือความพ่ายแพ้ที่ต้องยอมสยบต่ออำนาจเผด็จการสมบูรณ์แบบ

เชื่อว่าคนอ่านส่วนใหญ่คิดว่า 1984 จบแบบนั้นโดยไม่มีความสงสัยแม้แต่นิดเดียวว่าจอร์จจะนำเรื่อง “ภาษาใหม่” มาเป็นบทปิดท้ายทำไม ตอนแรกคิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของนิยายที่จะสร้างสรรค์รูปแบบและชี้ถึงความสำคัญของภาษาที่ใช้ในเรื่องการควบคุมความคิดเท่านั้น

แต่มาร์กาเรต แอตวู้ดบอกว่าตอนจบที่แท้จริงคือช่วงหมายเหตุที่เขียนถึงภาษาใหม่นั่นเอง และเป็นการแฝงความนัยว่าระบบเผด็จการสมบูรณ์แบบไม่ได้คงอยู่ตลอดกาล

มาร์กาเรต แอตวู้ด

“หมายเหตุเกี่ยวกับภาษาใหม่ในตอนจบ 1984 เขียนด้วยภาษาอังกฤษมาตรฐานและใช้พาสต์เทนซ์ (ประโยคอดีตกาลผ่านพ้นไปแล้ว) นั่นแปลว่าภาษาใหม่มันไม่ได้มีอยู่แล้ว มันไม่ชนะ”

— มาร์กาเร็ต แอ็ตวู้ด

มาร์กาเรต แอตวู้ดเป็นนักเขียนดังชาวแคนาดา ผลงานเรื่องเด่นของเธอคือ เรื่องเล่าของหญิงรับใช้ (The Handmaid’s Tale) เมื่อปีค.ศ. ๑๙๘๕ ซึ่งได้รับรางวัลโกเวอเนอร์เจเนอรัล ประจำปีค.ศ. ๑๙๘๕ (ของแคนาดา) และรางวัล อาร์เธอร์ ซี คลาก ประจำปีค.ศ. ๑๙๘๗ เธอได้รับรางวัลมากมายหลายครั้ง และเธอยังเป็นต้นคิด ลองเพน (Longpen) เครื่องเขียนหมึกที่ใช้แท็บเลตเป็นตัวบังคับ ซึ่งเธอใช้แจกลายเซ็นทางไกล

Long Pen
Longpen จากการคิดของมาร์กาเรต แอตวู้ด

มาร์กาเรตบอกว่าบทจบไม่ใช่ฉากสุดท้ายที่แสดงว่าวินสตัน สมิธโดนล้างสมองจนไม่ต่างจากพลเมืองคนอื่น แต่บทจบจริง ๆ อยู่ที่ส่วนขยายความเรื่อง “ภาษาใหม่” หรือ Newspeak เธอกล่าวว่า

“หมายเหตุเกี่ยวกับภาษาใหม่ในตอนจบ 1984 เขียนด้วยภาษาอังกฤษมาตรฐานและใช้พาสต์เทนซ์ (ประโยคอดีตกาลผ่านพ้นไปแล้ว) นั่นแปลว่าภาษาใหม่มันไม่ได้มีอยู่แล้ว มันไม่ชนะ”

“ใครก็ตามที่เป็นผู้เขียนบทความเรื่องภาษาใหม่ อยู่ในโลกที่ 1984 ได้ผ่านไปแล้ว ดังนั้นมุมมองของฉันคิดว่าจอร์จ ออร์เวลล์เชื่อมั่นมากในความยืดหยุ่นของจิตวิญญาณมนุษย์มากกว่าที่เขามักจะได้รับเครดิตเสียอีก”

“แม้ว่าชะตากรรมของวินสตัน สมิธ ใน 1984 จะน่าเศร้ามาก เรารู้ว่าเขาจะโดนเจาะด้านหลังศีรษะ โลกที่เขาหวังมาไม่ถึง นวนิยายเกี่ยวกับโลกไม่พึงประสงค์ส่วนมากจะเป็นเช่นนั้น พวกเขาจะมีกรอบจำกัด อย่างเช่น กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วมีสิ่งน่ากลัวเหล่านี้เกิดขึ้น แต่ตอนนี้เรากำลังมองย้อนกลับไปที่สิ่งเหล่านั้นจากอนาคต และความจริงเรื่อง ดิแฮนเมดส์เทล ก็จบแบบนี้เหมือนกัน”

อ้างอิง

ความเห็นของมาร์กาเร็ต แอตวู้ดที่ CBC.ca

ความเห็นของมาร์กาเรต แอตวู้ดที่ huffingtonpost

1 thought on “1984”

  1. Pingback: Motorcycle Emptiness: ในความแปลกแยกจากสังคม – Friday I Am In Rock

แสดงความคิดเห็น