ข้าพเจ้าคือกฎหมาย

ข้าพเจ้าคือกฎหมาย – I Am The Law เป็นประโยคอมตะนิรันดร์กาลของ ตุลาการ โจเซฟ เดรดด์ ตัวละครสำคัญจากการ์ตูนแนวแอ็กชั่นแฟนตาซีเรื่อง ตุลาการ เดรดด์ (Judge Dredd)

ความเป็นมา

เมื่อ แพต มิลส์ (Pat Mills) จะทำหนังสือการ์ตูน 2000 AD ในปีค.ศ. ๑๙๗๖ เขาชวน จอห์น วากเนอร์ (John Wagner) ที่เคยร่วมงานกันมาก่อนให้มาร่วมงานด้วย และทั้งคู่ก็คิดตรงกันว่า น่าจะมีเรื่องแนวเดียวกัน “แจ๊ก ตาเดียว” One-Eyed Jack ซึ่งจอห์นเป็นคนเขียนเรื่อง ออกแนวสืบสวนสอบสวนสไตล์เดียวกับ เดอร์ตี้แฮรี ที่โด่งดังในทศวรรษนั้น

แพตเริ่มต้นไอเดีย “ตุลาการเดรดด์” ด้วยแนวสยองขวัญ แต่เขาก็ละความคิดนั้นทิ้งไปในเวลารวดเร็ว เพราะรู้สึกว่าไม่เข้ากับแนวทางของ 2000 AD ที่วางไว้เป็นไซไฟแฟนตาซี แต่จอห์นชอบชื่อนี้ เขาเลยตัดสินใจใช้ชื่อนี้ไปพัฒนาเรื่องราวต่อ

และคนที่เขามาเติมเต็มแนวคิดสร้างสรรค์ก็คือ คาร์ลอส เอสเควียรา (Carlos Ezquierra) นักวาดการ์ตูนชาวสเปน เริ่มต้นอาชีพนักวาดการ์ตูนในบ้านเกิดของเขาที่เมืองบาร์เซโลนา ก่อนจะย้ายไปสหราชอาณาจักร เขาสร้างตัวตนของตุลาการเดรดด์ จากบุคลิกของนายพล ฟรันซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco) เผด็จการสเปนผู้ครองอำนาจในช่วงปีค.ศ. 1939-1975 บวกกับสภาพสังคมที่คาลอสเผชิญขณะอาศัยอยู่ในเมืองครอยดอน ประเทศอังกฤษ ช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980 ซึ่งเป็นช่วงที่กระแสพังก์กำลังได้รับความนิยมในอังกฤษ รวมถึงภาพลักษณ์ของตำรวจที่ใช้กำลังปราบปรามคนงานที่มักจะหยุดงานประท้วงเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในเวลานั้น

โลกของตุลาการเดรดด์ จึงเป็นโลกอนาคตปีค.ศ. ๒๐๙๙ ที่เลวร้ายหลังเกิดหายนะระดับโลกาวินาศ สหรัฐอเมริกาเสียหายยับเยิน มีเพียงมหานครสามแห่งเท่านั้นที่รอดมาได้ ส่วนพื้นที่อื่นกลายเป็น “โลกต้องสาป” และเมืองที่ตุลาการเดรดด์ประจำอยู่คือ เมกะซิตี้วัน (Mega-City One) ซึ่งเคยเกิดความวุ่นวายโกลาหนจนกระทั่งมีคนคิดค้นระบบตุลาการ โดยให้อำนาจ “ตุลาการบนท้องถนน” ทำหน้าที่เป็นผู้บังคับใช้กฎหมายและรักษาความสงบเรียบร้อยขั้นสูงสุดในเมกะซิตี้วัน สามารถจับกุม ตัดสินลงโทษ และกำจัดอาชญากรในทันที โดยไม่ต้องขึ้นศาลหรืออุทธรณ์ใด ๆ

จอห์นผู้เขียนเนื้อหาเรื่องราวทั้งหมด เคยกล่าวว่าเมื่อเห็นการออกแบบตุลาการเดรดด์ครั้งแรก เขาคิดว่าดูเหมือน “โจรสลัดสเปน” ดังนั้นเขาจึงเขียนเนื้อหาให้ต่างจากเรื่องราวของบรรดาวีรบุรุษในหนังสือการ์ตูนก่อนหน้านี้ แต่ก็ยังคงตามรอย “แจ็คตาเดียว” กับ “เดอตี้ แฮรี” นั่นคือทำในสิ่งที่ถูกต้อง รักษากฎหมาย และใช้ทุกวิถีทาง ตุลาการเดรดด์จึงเป็นทั้งวีรบุรุษและทรราชย์ในเวลาเดียวกัน

 และใน 2000 AD ฉบับที่ ๒ (๕ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๗๗) ตุลาการเดรดด์ก็ปรากฏสู่สาธารณชน 

ตุลาการเดรดด์

ชีวิตของโจเซฟ เดร็ดด์และริโก้ เดร็ดด์ พี่ชายฝาแฝดที่เกิดก่อน ๑๒ นาที สร้างขึ้นจากดีเอ็นเอของหัวหน้าตุลาการ ยูสทัซ ฟาร์โก (Chief Judge Eustace Fargo) ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งระบบตุลาการ ให้ความสำคัญกับระเบียบวินัย ความยุติธรรม และการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด

ข้าพเจ้าคือกฎหมาย

ริโก้และโจเซฟ เดร็ดด์ สำเร็จการศึกษาจาก สถาบันนิติศาสตร์ (Academy of Law) ซึ่งเป็นสถาบันผลิตตุลาการที่มีการปรับความคิดและจิตใจที่กดดัน เข้มงวด เพื่อผลิตตุลาการที่มีความสามารถทางร่างกายและจิตใจ พร้อมที่จะรับมือกับความตึงเครียดต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในฐานะตุลาการ โดยปกติจะใช้เวลา ๑๕ ปี อย่างไรก็ตาม ทักษะและความสามารถของพี่น้องตระกูลเดร็ดด์สำเร็จการศึกษาหลังเรียน ๑๓ ปีเท่านั้น

ลักษณะเด่นของเหล่าตุลาการคือความเคร่งครัดและรักษาความยุติธรรมแบบหัวชนฝา มีอาวุธปืน “Lawgiver” ปืนพกที่ถูกตั้งโปรแกรมให้จดจำเพียงรอยนิ้วมือของเขาและสามารถยิงกระสุนได้ 6 ประเภท เขาขี่มอเตอร์ไซค์ “”Lawmaster” ขนาดใหญ่ที่ติดตั้งปืนกล ปืนเลเซอร์ทรงพลัง และปัญญาประดิษฐ์เต็มรูปแบบที่สามารถตอบสนองคำสั่งของเหล่าตุลาการ

ตุลาการเหล่านี้ปฏิบัติตามหลักกฎหมายอย่างเด็ดขาดและไม่ผ่อนปรน หากเขาจับได้ว่าใครทำผิดกฎหมาย บุคคลนั้นจะต้องถูกลงโทษทันที บางครั้งก็ถึงขั้นประหารชีวิตโดยไม่มีโอกาสอุทธรณ์ เนื่องจาก “ข้าพเจ้าคือกฎหมาย” สิ่งนี้ทำให้พวกเขามีสถานะที่น่าเกรงขามในเมกะซิตี้วัน ซึ่งประชาชนรู้ดีว่าจะโดนลงโทษทันทีหากตุลาการเหล่านี้ตัดสินอย่างใดอย่างหนึ่งข้าพเจ้าคือกฎหมาย

ในอีกด้านหนึ่ง พลเมืองของเมกะซิตี้วันต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองแบบเบ็ดเสร็จที่ตุลาการเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด ในสังคมนี้ พลเมืองขาดสิทธิประชาธิปไตยขั้นพื้นฐาน เช่นแสดงหลักฐานสู้คดี การอุทธรณ์คำตัดสินของศาลหรือมีตัวแทนทางกฎหมาย เนื่องจากตุลาการทำหน้าที่เป็นทั้งตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา คณะลูกขุน และผู้ประหารชีวิต

ข้าพเจ้าคือกฎหมาย

ในฐานะตุลาการแห่งเมกะซิตี้วัน โจเซฟ เดรดด์เป็นสัญลักษณ์ของกฎหมายและระเบียบในโลกที่วุ่นวาย เขาคือตัวแทนความยุติธรรมและผู้รักษาความสงบเรียบร้อย อย่างไรก็ตาม ทัศนคติและความมุ่งมั่นในการบังคับใช้กฎหมายและระเบียบเปิดโอกาสให้เขากระทำการที่รุนแรงได้โดยไม่ต้องฟังคำคัดค้านของใคร ทำให้เส้นแบ่งระหว่างการเป็นผู้ปกป้องกับผู้กดขี่นั้นเบาบางลางเลือนมาก

หนึ่งในตัวอย่างที่สร้างข้อโต้แย้งมากที่สุดเกี่ยวกับความคลุมเครือทางศีลธรรมของตุลาการเดรดด์ปรากฏให้เห็นในเนื้อเรื่อง Apocalypse War (๑๙๘๒) เมื่อเมกะซิตี้วันถูกโจมตีโดยโซเวียตจนเมืองครึ่งหนึ่งพังพินาศยับเยิน ตุลาการเดรดด์จึงนำเหล่าตุลาการที่หลงเหลือจากการโจมตีตอบโต้ไปถึงใจกลางฐานทัพโซเวียต เมื่อไปถึงศูนย์บัญชาการแล้วเขาตั้งใจปล่อยอาวุธทำลายล้างเพื่อให้โซเวียตล่มจมไปต่อหน้า

นายทหารโซเวียตร้องขอความเมตตาต่อพลเรือนบริสุทธ์ แต่ตุลาการเดรดด์ปฏิเสธคำวิงวอนโดยประกาศอย่างเย็นชาว่า “เมืองของข้าฯ ครึ่งหนึ่งกลายเป็นเถ้าถ่านไปแล้ว…แล้วเจ้ายังร้องขอความเมตตาอีกหรือ? คำขอถูกปฏิเสธ!” เขาเริ่มจุดชนวนระเบิดทำลายล้างผู้คนไปกว่าครึ่งพันล้านคนเพื่อแก้แค้นให้กับเมกะซิตี้วัน

การตัดสินใจครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงธรรมชาติของตุลาการเดรดด์ที่ไม่ยอมประนีประนอมและพร้อมใช้อำนาจทำลายล้าง ในขณะวีรบุรุษคนอื่น เช่น มนุษย์ค้างคาวหรือซูเปอร์แมนน่าจะหาทางหลีกเลี่ยงการสูญเสียพลเรือนผู้บริสุทธิ์ แต่การตอบโต้ของตุลาการเดรดด์กลับหยั่งรากลึกอยู่ในความแค้น

การกระทำของเขาทำให้เกิดคำถามทางจริยธรรมอันลึกซึ้ง ถ้าพูดถึงความยุติธรรมแบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ประชาชนผู้ไม่รู้อิโหน่อีเหน่เสียสละชีวิตนับไม่ถ้วนและขัดแย้งกับหลักศีลธรรมที่เชื่อมโยงกับความเป็นวีรบุรุษมาโดยตลอด ความยุติธรรมในนิยามของตุลาการเดรดด์ แม้ว่าจะมีประสิทธิภาพในการปราบปรามอาชญากรรม แต่ก็เผยให้เห็นถึงอันตรายของการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขาคนเดียวเท่านั้นที่กำหนดว่าอะไรคือสิ่งที่ยุติธรรมและอะไรคือสิ่งที่จะทำ

อำนาจนิยม

ในโลกของตุลาการเดรดด์ เขาคือมาตรฐานที่ใช้วัดผู้อื่นทั้งหมด ความรู้สึกที่แข็งกร้าวของเขาที่มีต่อความยุติธรรมทำให้ไม่มีที่ว่างสำหรับความแตกต่าง ความเห็นอกเห็นใจ หรือมุมมองที่แตกต่าง ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นในสังคมโลกแห่งความเป็นจริงที่ให้ความสำคัญกับความเห็นอกเห็นใจและความยุติธรรม อำนาจของโจเซฟต์ เดรดด์นั้นมีประสิทธิภาพในการรักษาความสงบเรียบร้อย แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความเท่าเทียมและเสรีภาพของประชาชนต้องโดนลิดรอน

สิ่งที่ตุลาการเดรดด์เป็น ก็คือตัวแทนของระบบอำนาจนิยมซึ่งมอบอำนาจเด็ดขาดแก่ตุลาการในการควบคุมชีวิตประชาชนในเมกะซิตี้วัน แต่กระบวนการ “ยุติธรรม” นี้ขาดการตรวจสอบและถ่วงดุล ประชาชนไร้สิทธิ์ไร้เสียงในการปกครอง ประชาชนในเมกะซิตี้วันอาจยอมจำนนต่อการปกครองนี้แม้ว่าสิทธิและเสรีภาพของพวกเขาโดนจำกัดอย่างมาก

ด้วยความเป็นหนังสือการ์ตูน และด้วยความที่คนอ่านรู้ว่า ตุลาการเดรดด์คือตัวแทนของฝ่ายดี ทำให้ความจริงอันโหดร้ายของการปกครองแบบฟาสซิสต์นี้ดูสวยงามขึ้น แม้ระบบตุลาการเป็นเผด็จการ แต่ก็ไม่ได้แสดงด้านลบของระบบนี้อย่างเปิดเผย การนำเสนอภาพว่านี่คือทางรอดที่ดีของเมกะซิตี้วัน

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีเจตนาดีในการรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของพลเมือง แต่การมอบอำนาจเบ็ดเสร็จให้กับบุคคลหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก็ถือเป็นอันตรายโดยเนื้อแท้ ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่าการปกครองแบบเผด็จการที่ในตอนแรกดูจะมีเจตนาดี มุ่งหน้าสู่อุดมคติเพียงใดก็ตาม มักจะกลายเป็นการกดขี่ในท้ายที่สุด

ลองนึกถึงอุดมการณ์สังคมนิยมของคาร์ล มาร์กซ์ พรรณาถึงสังคมไร้ชนชั้นและปราศจากการครอบครองนั้นเป็นสิ่งสวยงาม ขายฝันให้กับคนอ่านด้วยอุดมคติเรื่องความเท่าเทียมและสันติภาพ มนุษย์เต็มใจให้ความร่วมมือ แบ่งปัน และใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสงบสุข 

และการก้าวไปสู่สังคมในอุดมคตินี้จะต้องผ่านการต่อสู้ของชนชั้นและการปฏิวัติกลับกลายเป็นการวางรากฐานให้กับระบอบเผด็จการต่าง ๆ โดยนำโลกในอุดมคติมาสร้างเป็นหน้ากากอันสวยงาม ปิดบังการริดรอนเสรีภาพและสิทธิส่วนบุคคล แม้ว่าอุดมคติหลักในวิสัยทัศน์ของคาร์ล มาร์กซ์มุ่งหวังให้เกิดความเสมอภาค แต่การนำอุดมคติดังกล่าวไปปฏิบัติในโลกความจริงกลับพิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถทำให้สำเร็จได้

อย่างน้อย นับจากปี ค.ศ. ๑๘๔๘ ที่มีการประกาศเจตจำนงค์สังคมนิยม (The Communist Manifesto) มาจนถึงปัจจุบัน ณ เวลาที่เขียนนี้ ก็ยังไม่มีประเทศใดที่ทำแบบนั้น

แม้ว่าจะอ้างเจตนาดีอย่างไรก็ตาม การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จมักจะจบลงด้วยการกดขี่และความผิดหวัง ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นชัดเจนว่าการปกครองที่ใช้อำนาจโดยปราศจากการถ่วงดุลอำนาจนั้นมีแนวโน้มที่จะเกิดการทุจริตเสมอ

ข้าพเจ้าคือกฎหมาย

ตัวตนของคณะตุลาการทำให้ย้อนนึกถึง “ฟาร์มสัตว์” ของ จอร์จ ออร์เวลล์  โดยเฉพาะประโยคที่มีชื่อเสียงที่ว่า “สัตว์ทุกตัวเท่าเทียมกัน แต่สัตว์บางตัวก็เท่าเทียมกันมากกว่าตัวอื่น” เจตนาเดิมในการปฏิวัติสัตว์คือการสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียมและความยุติธรรม แต่เมื่อเวลาผ่านไป หมูมีอำนาจมากขึ้น พวกมันเริ่มมีสิทธิพิเศษในตัวเอง ทรยศต่อหลักการแห่งความเท่าเทียมและความยุติธรรมที่พวกมันเคยอ้างต่อสัตว์ตัวอื่น การเปลี่ยนแปลงนี้แสดงให้เห็นว่าอุดมคติที่สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการปฏิวัติสามารถบิดเบือนได้อย่างไรเมื่ออำนาจกระจุกตัวอยู่ในมือของคน (หรือสัตว์) เพียงไม่กี่คน

ในทำนองเดียวกัน คณะตุลาการในเมกะซิตี้วัน เริ่มต้นขึ้นจากความปรารถนาและจิตมุ่งหมายที่ดีการกอบกู้สังคมหลังการล่มสลาย โดยมุ่งหมายที่จะบังคับใช้กฎหมายและระเบียบท่ามกลางความโกลาหลวุ่นวาย แต่ในอีกด้านหนึ่ง ตุลาการกลายเป็นตัวแทนของอำนาจนิยมโดยอ้างว่าการกระทำของตนมีความจำเป็นต่อการปกป้องสังคม พวกเขาไม่มองว่าพลเมืองมีความเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายอีกต่อไป แต่มองว่าพลเมืองเป็นสิ่งที่ต้องควบคุม

การทำลายล้างผู้บริสุทธิ์หลายร้อยล้านคนของตุลาการเดรดด์ เป็นตัวอย่างของความโหดร้ายที่อาจเกิดขึ้นเมื่อบุคคลหรือสถาบันใดสถาบันหนึ่งใช้อำนาจโดยไร้การควบคุม การกระทำของเขาเป็นเครื่องเตือนใจถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นหากมอบอำนาจควบคุมให้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยปราศจาการถ่วงดุลอาจส่งผลให้เกิดผลที่เลวร้ายเกินความคาดคิด

หลายคนอาจจะคิดว่านี่คือหลักการ “ตาต่อตา ฟังต่อฟัน” ที่ดี เมื่อเมกะซิตี้วันโดนทำลาย สิ่งนั้นก็ต้องเกิดขึ้นกับผู้ทำให้เกิดความสูญเสีย แต่ประเด็นในตัวอย่างนี้คือ ประชาชนผู้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ต้องมารับกรรมจากสิ่งที่ตัวเองไม่ได้ก่อ มัน “ยุติธรรม” จริง ๆ ใช่มั้ย 

หากเป็นประชาชนในเมกะซิตี้วัน อาจจะคิดว่านี่คือสิ่งที่ยุติธรรมและสมควรแล้ว โปรดนึกถึงเรื่องที่อาจจะไม่แตกต่างกัน อย่างเช่น การก้าวขึ้นสู่อำนาจของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์

ความรักชาติและความขุ่นเคืองต่อความพ่ายแพ้ของเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ทำให้อดอลฟ์ ฮิตเลอร์มุ่งมั่นที่จะฟื้นคืนสถานะของเยอรมนี “ทำให้เยอรมนียิ่งใหญ่ขึ้นอีกครั้ง!” ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ประชาชนส่วนใหญ่ต่างรู้สึกประทับใจ แรงจูงใจของเขามีรากฐานมาจากความภาคภูมิใจในเชื้อชาติอารยัน แต่เมื่อเขามีอำนาจมากขึ้น ความตั้งใจที่จะทำตามพันธกิจของเขาก็ถูกบิดเบือนจนกลายเป็นข้ออ้างในการดำเนินนโยบายที่กดขี่และโหดร้าย วิสัยทัศน์ของเขาในการ “ทำสิ่งที่ดีเพื่อเยอรมนี” ในที่สุดก็นำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อันเลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก

เมื่อบุคคลใดเชื่อมั่นว่าความคิดและการกระทำของตนนั้น “ถูกต้อง” เสมอ พวกเขาอาจละเลยหรือแม้กระทั่งปิดกั้นมุมมองของผู้อื่น ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับพวกเขาจะกลายเป็น “คนผิด” “หลงผิด” หรืออาจถึงขั้น “เลว” ทัศนคติเช่นนี้มักจะทวีความรุนแรงขึ้น ก่อให้เกิดความแตกแยก และในกรณีที่ร้ายแรง พวกเขาก็หาเหตุผลมาสนับสนุนการกระทำที่เยาะเย้ย เซ็นเซอร์ หรือแม้แต่ความรุนแรงต่อผู้ที่มีมุมมองที่แตกต่าง และอาจจะนำไปสู่การบังคับให้ผู้อื่นเชื่อตาม

ประวัติศาสตร์แสดงให้เราเห็นว่าอำนาจเมื่อรวมกับการถือตนว่าชอบธรรมสามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เลวร้ายได้อย่างไร นิตยสารไทม์ เคยนำพระสงฆ์พม่าท่านหนึ่งขึ้นหน้าปก พร้อมกับพาดหัวว่า “โฉมหน้าของผู้ก่อการร้ายชาวพุทธ” – “The Face of Buddhist Terror” จากการใช้ความศรัทธาศาสนา ส่งผลให้ท่านทำสิ่งที่ขัดแย้งกับหลักคำสอนของศาสนาพุทธอย่างน่าเศร้า ในทำนองเดียวกัน พระสงฆ์มีชื่อเสียงในประเทศไทยบางรูปก็เคยส่งเสริมแนวคิดที่ขัดคำสอนของพุทธศาสนาถึงกับมีประโยค “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” 

Wirathu

 แสดงให้เห็นว่าผู้ที่ถือว่าตนเองเป็นผู้นำทางศีลธรรมนั้นไม่สามารถหลุดพ้นจากการถูกครอบงำด้วยอำนาจและใช้ความเชื่อใน “ความดี” ของตนชี้นำการปฎิบัติที่ขัดกับหลักทางศีลธรรมที่ตัวเองกล่าวอ้าง

ความเชื่อมั่นในความถูกต้องของตนเองที่ปราศจากการถ่วงดุล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผนวกกับอำนาจ มักจะทำให้เกิดสิ่งเลวร้ายได้เสมอ คำประกาศอันโด่งดังของตุลาการเดรดด์ ที่ว่า “ข้าพเจ้าคือกฎหมาย” แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นอย่างแน่วแน่ว่าการกระทำของเขาไม่มีข้อผิดพลาดและยุติธรรม

อย่างไรก็ตาม ในฐานะบุคคลที่มีอำนาจที่แทบจะควบคุมไม่ได้ การถือตนว่าถูกต้องและไม่สามารถพิจารณามุมมองของผู้อื่นได้นั้นแสดงถึงอำนาจนิยม  แทนที่จะยึดถือแนวคิด “ข้าพเจ้าคือกฎหมาย” เหมือนอย่างที่ตุลาการเดรดด์ทำ ลองเปิดใจให้กว้างและยืดหยุ่นมากขึ้น ละทิ้งความมั่นใจในตนเองอย่างเต็มที่ใน “ความถูกต้อง” ของตนเอง เพราะการเป็นคนดีอย่างแท้จริงหมายถึงการรู้จักขอบเขตความเข้าใจของตนเองและรู้ว่าทุกคนผิดพลาดกันได้ ซึ่งจะทำให้เราเติบโต และยอมรับมุมมองที่หลากหลาย

แสดงความคิดเห็น