The Castle of Otranto – ปราสาทแห่งโอทรานโต หรือชื่อเดิมยาวเหยียดว่า The Castle of Otranto, A Story. Translated by William Marshal, Gent. From the Original Italian of Onuphrio Muralto, Canon of the Church of St. Nicholas at Otranto เป็นนิยายเขียนโดย โฮเรช วัลโพล (Horatio Walpole) ตีพิมพ์ปี ค.ศ. ๑๗๖๔ ได้รับการยกย่องว่าเป็นนิยายกอธิกสมบูรณ์แบบเรื่องแรกของโลก (เท่าที่รู้จัก)

อย่างไรจะเรียกว่าเป็นกอธิก ?

ถ้าอ่านเนื้อเรื่องทั่วไป อาจจะเป็นแค่นิยายธรรมดาสามัญ

(คำเตือน ต่อไปมีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเรื่อง)

(คำเตือน ต่อไปมีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเรื่อง)

(คำเตือน ต่อไปมีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเรื่อง)

เล่าอย่างย่อย่น เจ้าหญิงอิสซาเบลลา ต้องแต่งงานกับ คอนราด บุตรชายขี้โรคของ แมนเฟรด เจ้าชายแห่งโอทรานโต แต่ในวันแต่งงาน คอนราดเสียชีวิต ลอร์ด แมนเฟรดตัดสินใจจะแต่งงานกับเจ้าหญิงอิสซาเบลลาเอง เพื่อจะได้มีทายาทสืบตระกูลต่อไป แต่เจ้าหญิงอิสซาเบลลาหลบหนีการแต่งงาน และได้รับการช่วยเหลือจากชาวไร่ชื่อ ธีโอดอร์ แมนเฟรดตามจนพบตัวและจับธีโอดอร์ไว้เตรียมประหาร แต่บาทหลวงเจอโรมได้ปกป้องเจ้าหญิงอิสซาเบลลา ทำให้แมนเฟรดต้องล่าถอยเพราะไม่กล้าล่วงละเมิดคนของศาสนา

แต่เมื่อเตรียมสังหารธีโอดอร์ บาทหลวงเจอโรมได้รู้ว่าธีโอดอร์คือบุตรชายของตัวเอง แมนเฟรดจึงต่อรองว่าจะให้ปล่อยธีโอดอร์ก็ต้องแลกกับเจ้าหญิงอิสซาเบลลา แต่ก่อนที่เรื่องราวจะดำเนินต่อไป กองทหารที่คุ้มกันเจ้าหญิงอิสซาเบลลาก็นำกำลังมาค้นหาเจ้าหญิง ทำให้แมนเฟรดไม่สนใจเรื่องการต่อรองทั้งหลาย เขาสั่งทหารตามหาเจ้าหญิงให้พบก่อน เปิดทางให้มาทิลดาบุตรสาวของแมนเฟรดแอบมาช่วยปล่อยธีโอดอร์

เมื่อธีโอดอร์เป็นอิสระรีบตามหาเจ้าหญิง และนำไปซ่อนตัวไว้ในถ้ำ และได้ต่อสู้กับอัศวินที่ตามมาถึง และเขาก็เอาชนะ แต่กลับกลายเป็นว่าอัศวินคนนั้นคือ เฟรดเดอริค บิดาของเจ้าหญิง ทำให้เขาต้องรีบนำเฟรดเดอริกส่งปราสาทโอทรานโตเพื่อรักษาตัว เรื่องราววุ่นวายตามมาอีกหลายอย่าง จนความจริงในตอนสุดท้ายเผยว่า ธีโอดอร์คือเจ้าชายแห่งโอทรานโตที่แท้จริง และได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ในที่สุด

อ่านเรื่องราวได้ที่ http://www.gutenberg.org/dirs/etext96/cotrt10h.htm

ถ้าอ่านเรื่องย่อที่เขียนด้านบนก็คงสงสัยว่านี่มันเป็นเรื่องกอธิกตรงไหนกันนี่ ? ความเป็นกอธิกมันอยู่ในบรรยากาศของเรื่องราว

โฮเรซ วัลโพล จัดเป็นชนชั้นสูงในอังกฤษสมัยศตวรรษที่ 18 เขาเก่งรอบตัว ทำอะไรหลายอย่าง อาทิเช่น เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นักประวัติศาสตร์ สถาปนิก เป็นผู้เชี่ยวชาญในแหล่งโบราณวัตถุและสถาปัตยกรรมกอธิก และแน่นอน…เป็นนักเขียน

ซึ่งก่อนเขียน ปราสาทแห่งโอทรานโต เคยเขียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์จิตรกรรมในอังกฤษ เป็นที่รู้จักกันอยู่ก่อนแล้ว

คฤหาสน์ที่เขาพำนักอาศัยก็เป็นสไตล์กอธิก มีการต่อเติมป้อมปราการและเชิงเทิน เป็นที่รู้จักในชื่อ Strawberry Hill House) ซึ่งน่าจะเป็นต้นแบบของตัวปราสาทในเรื่อง เพราะวันหนึ่งที่เขาฝันร้ายว่าเห็นผี เห็นมือยักษ์ในชุดเกราะ กลายเป็นต้นแบบให้เขามีความคิดเขียนนวนิยายขึ้นโดยเอาความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ยุคกลางมาเสริมเรื่องราว

The Castle of Otranto

ความโดดเด่นของเรื่องนี้อยู่ที่วิธีการเขียนเนื้อเรื่อง โดยแฝงความเหนือธรรมชาติแบบนิยายโรมานซ์ยุคก่อน และริเริ่มการเขียนเรื่องราวใส่สมจริง เขียนถึงผู้คนในแบบที่เป็นจริงอย่างที่สัมผัสได้เหมือนชีวิตมนุษย์ปุถุชนทั่วไปแต่อยู่ในสถานการณ์เหนือธรรมชาติ

ยกตัวอย่างเช่น การที่หมวกเกราะขนาดยักษ์ (Helmet) หล่นจากท้องฟ้าทับคอนราดเสียชีวิตในตอนต้นเรื่อง หมวกยักษ์มาจากไหน? หากคอนราดโดนฆ่าในสงครามจะสมจริงกว่าใช่หรือไม่? แต่เขาจงใจเขียนให้ตายเพราะมีหมวกยักษ์หล่นมาทับตาย

การสร้างบรรยากาศแบบหลอน ๆ เช่น ประดูปิดเอง รูปภาพเคลื่อนที่เอง เมื่อแมนเฟรดไล่ล่าเจ้าหญิงอิสซาเบลลา แต่อิสซาเบลลากลับหลบหนีไปได้ ทั้งที่ไม่ควรจจะหนีได้ก็เพราะมี “วิญญาณ” โผล่มาหันเหความสนใจให้แมนเฟรดไขว้เขว หรือ ทหารของแมนเฟรดเห็นขาก้าวผ่านไป เฟรดเดอริกกลับมาช่วยลูกสาว (อิสซาเบลลา) ก็เพราะเห็นนิมิต และ เฟรดเดอริกปฏิเสธคำขอของแมนเฟรดทั้งที่ตอนแรกยินยอมแล้วก็เพราะได้ยินเสียงห้ามจากป่า เป็นต้น

โฮเรซ วัลโพล เขียนคำนำเมื่อครั้งพิมพ์ครั้งที่ ๒ ว่า เขานำเรื่องในรูปแบบเก่า คือจินตนาการและสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ มาผสมรวมกับนิยายร่วมสมัย โดยในฉบับพิมพ์ครั้งแรกบทนำเขาอ้างว่าเขาได้ต้นฉบับมาจากครอบครัวคาธอลิกเก่าแก่ทางตอนเหนือของอังกฤษ ตีพิมพ์ในเนเปิลส์ ปีค.ศ. ๑๕๒๙ ตั้งชื่อเรื่องไว้ยาวเหยียดชวนให้เข้าใจผิดว่า The Castle of Otranto, A Story. Translated by William Marshal, Gent. From the Original Italian of Onuphrio Muralto, Canon of the Church of St. Nicholas at Otranto

(ปราสาทแห่งโอทรานโต, เรื่องเล่า แปลโดย นาย วิลเลียม มาร์แชล (สุภาพบุรุษ) จากต้นฉบับภาษาอิตาลี ของ โอนุเฟียโร มูรันโต ต้นฉบับของแท้แน่นอนจากโบสถ์เซนต์นิโคลัสแห่งโอทรานโต)

The Castle of Otranto
ชื่อเรื่องดั้งเดิม

แต่ในฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ถึงบอกว่าเขียนเองไม่ได้แปลจากไหนมา และเอาคำว่า The Gothic Story ไปประดับท้ายชื่อเรื่อง

หากอ่านบางตอนแล้วนึกถึง เฮลเมต (Helmet) ของเช็กสเปียร์ อย่างเช่นวิญญาณที่ปรากฏตัวขึ้น ก็ไม่จำเป็นต้องแปลกใจ เพราะในคำนำตีพิมพ์ครั้งที่ ๒ เขาเขียนถึงเชกสเปียร์ไว้ด้วย

 เหล่านี้คือการสร้างบรรยากาศลึกลับกึ่งสยองขวัญที่เป็นต้นแบบให้นักเขียนอีกหลายท่านได้ดำเนินรอยตามมา ไม่ว่าจะเป็น แมรี เชลลีย์ กับเรื่อง แฟรงเกนสไตน์ บราม สโตเกอร์ กับเรื่อง แดรกคิวลา เอ็ดการ์ อัลแลน โพ กับหลายเรื่องของเขา โดยเฉพาะ The Masque of the Red Death ที่รับอิทธิพลโดยตรง (เรื่องนี้มีแปลไทยในรวมเรื่องสั้น “แมวผี” โดยสำนักพิมพ์ฟรีฟอร์ม ตอนที่ชื่อ The Masque of the Red Death พากย์ไทยว่า โรคมรณะ หากสนใจเชิญหามาอ่านกันได้

การประพันธ์นิยายที่มีตัวละครจริงจังจับต้องได้ แต่อยู่ในสถานการณ์แปลกประหลายเหนือจริง คงเป็นแก่นกลางดวงใจของนวนิยาย กอธิก จึงยกย่องว่า ปราสาทแห่งโอทรานโต ว่าเป็นนิยาย กอธิก เรื่องแรกของโลก