How Democracies Die  –  ประชาธิปไตยตายอย่างไร

How Democracies Die – ประชาธิปไตยตายอย่างไร เป็นหนังสือปีค.ศ. ๒๐๑๘ โดย สตีเวน เลวิตสกี (Steven Levitsky) กับ แดเนียล ซีแบลตต์ (Daniel Ziblatt) มีเนื้อหาเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยที่กำลังล่มสลายอันเนื่องมาจากนักการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งฉ้อฉลกระบวนการประชาธิปไตยเพื่อเพิ่มอำนาจให้ตัวเอง มีหลายเรื่องที่ได้อ่านแล้ว นึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยอยู่เหมือนกัน

How Democracies Die

How Democracies Die – ประชาธิปไตยกำลังจะตาย แม้แต่ในสหรัฐอเมริกา

คนทั่วไปมักคิดว่าประชาธิปไตยหรือระบอบการเมืองเสรี โดนทำลายด้วยการรัฐประหารหรือการยึดอำนาจโดยเผด็จการ แต่ใน ประชาธิปไตยตายอย่างไร มองว่า การยึดอำนาจโดยใช้กำลังเป็นเรื่องล้าสมัยไปนานแล้ว การล่มสลายของประชาธิปไตยยุคใหม่ (นับจากหลังสงครามเย็น) เกิดจากผู้คนที่อยู่ในระบบประชาธิปไตย -โดยเฉพาะนักการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งมา-

นั่นคือ ประชาธิปไตยกำลังเสื่อมสลายด้วยตัวเอง ด้วยคนที่ขับเคลื่อนประชาธิปไตย

ผู้เขียนแสดงความเปลี่ยนแปลงและความเสื่อมสลายในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ โดยศึกษาประวัติศาสตร์ประเทศต่าง ๆ บรรยายให้เห็นจุดแข็งและจุดอ่อน อย่างเช่น การก้าวสู่อำนาจของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) อดีตผู้นำเยอรมนีผู้ทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒

ทุกคนน่าจะเห็นตรงกันว่า อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เป็นเผด็จการ แต่การก้าวสู่อำนาจของเขาดำเนินการ “อย่างถูกกฎหมาย” ของสาธารณรัฐไวมาส์ ซึ่งปกครองระบอบประชาธิปไตย ถึงแม้ว่าเมื่อเขาจะพ่ายแพ้การเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐไวมาร์ ค.ศ. ๑๙๓๒ อย่างขาดลอย โดยได้คะแนนเสียงเพียงร้อยละ ๓๕ แต่นักการเมืองในระบอบประชาธิไตยฝ่ายอนุรักษ์นิยม ไม่ได้ซื่อตรงต่อหลักประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

เมื่อ เพาล์ ฟ็อน ฮินเดินบวร์ก (Paul von Hindenburg) เป็นประธานาธิบดีสาธารณรัฐไวมาร์ในปีค.ศ. ๑๙๓๒ เขาได้แต่งตั้ง ฟรันทซ์ ฟ็อน พาเพิน (Franz von Papen) เป็นนายกรัฐมนตรีเยอรมนี แต่ไม่สามารถรักษาดุลยภาพของสาธารณรัฐซึ่งกำลังประสบปัญหารอบด้าน ทั้งการตกต่ำทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ทั่วโลก และการรุกคืบของพรรคสังคมนิยม จนทำให้กลุ่มอนุรักษ์นิยมหวังยืมมือพรรคนาซีและ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ซึ่งนำเสนอชาตินิยมสุดโต่งเป็นหุ่นเชิด โดยคิดว่าพวกเขาสามารถควบคุม อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และพรรคนาซีได้

ฝ่ายรัฐในขณะนั้นจึงยุบสภา จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภา และผลักดันให้พรรคนาซีขนะการเลือกตั้ง และให้ อดอล์ฟ จัดตั้งรัฐบาล โดย ฟรันทซ์ ฟ็อน พาเพิน ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี มีจุดประสงค์จะเป็น “นายกรัฐมนตรีเงา” โดยแอบอิงอำนาจของประธานาธิบดี เพาล์ ฟ็อน ฮินเดินบวร์ก

“เราสร้างเขาเพื่อตัวเราเอง” ฟรันทซ์ ฟ็อน พาเพิน หนึ่งในผู้ร่วมวางแผนกล่าวไว้ในภายหลัง “ภายในสองเดือนเราผลัก [เขา] ไปไกลเกินกว่าที่ใครจะคาดคิด”

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ไปไกลเกินกว่าใคร (แม้แต่ผู้วางแผนให้เขาเข้าสู่อำนาจเพื่อหวังใช้เขา) จะคาดคิด หลังจากที่ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เป็นนายกรัฐมนตรีเพียง ๑ เดือน เกิดเหตุลอบวางเพลิง อาคารไรชส์ทาค ซึ่งเป็นที่ประชุมรัฐสภาเยอรมนี (ทุกวันนี้ยังเป็นคดีที่ยังหาที่มาและแรงจูงใจที่แท้จริงไม่ได้) รัฐบาลฉวยโอกาสโยนความผิดให้กับลัทธิสังคมนิยม และขอให้ประธานาธิบดีลงนามใน กฤษฎีกาเพลิงไหม้ไรชส์ทาค ในปีค.ศ. 1933 เพื่อให้รัฐใช้อำนาจได้เบ็ดเสร็จ ซึ่งกลายเป็นเครื่องมือให้ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ กุมอำนาจไว้ในมือ เมื่อท่าน เพาล์ ฟ็อน ฮินเดินบวร์ก เสียชีวิตในปีถัดมา อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ก็สถาปนาตัวเองเป็นผู้นำ

และนั่นคือจุดจบของสาธารณรัฐไวมาร์

หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง การดำเนินการในกระบวนการประชาธิปไตยของ ราฟาเอล กัลป์เดอรา (Rafael Caldera) อดีตประธานาธิบดีของเวเนซุเอลา ก็มีส่วนทำให้ อูโก ชาเวซ (Hugo Chávez) เข้าสู่อำนาจทางการเมือง สมัยที่เขาเป็นประธานาธิบดีครั้งที่ 2 เขาตัดสินใจใช้นโยบาย (ที่ปัจจุบันมองย้อนกลับแล้วเห็นว่าผิดพลาดหลายประการ – แต่ในสมัยนั้นอาจจะมีสภาพแวดล้อมให้ตัดสินใจแบบนั้น) โดยเขาประเมินว่า อูโก ชาเวซ ซึ่งได้รับความนิยมเพียงแค่ร้อยละ ๔ (ในปีค.ศ.๑๙๙๔) คงไม่มีทางมาเป็นคู่แข่งทางการเมืองที่เขาต้องกังวล

“ไม่มีใครคิดว่า (อูโก) ชาเวซจะมีโอกาสเป็นประธานาธิบดีหรอก” ราฟาเอล กัลเดอรา กล่าวในอีกหลายปีต่อมา แต่ความชะล่าใจและการดำเนินการทางการเมืองท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงนั้น ทำให้ อูโก ชาเวซ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีค.ศ. ๑๙๙๘ และเขาเป็นประธานาธิบดีตั้งแต่นั้นจนกระทั่งเสียชีวิตในปี ค.ศ. ๒๐๑๓ ในระหว่างนั้น เวเนซุเอลายังคงได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ใช้ระบอบประชาธิปไตย มีการเลือกตั้งเสมอมา อูโก ซาเวซ ใช้นโยบายประชานิยมครองใจฐานคะแนนเสียงจนครองอำนาจได้เบ็ดเสร็จ มีกลไกหลายอย่างที่แสดงให้เห็นว่า อูโก ชาเวซ กำลังทำให้ประชาธิปไตยล่มสลายโดยใช้กลไลของประชาธิปไตยเอง

ประชาธิปไตยตายอย่างไร มองว่า นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็นเป็นต้นมา เผด็จการที่เห็นได้ชัด (ลัทธิฟาสซิสต์ ลัทธิสังคมนิยม หรือ เผด็จการทหาร) กำลังสูญหายไป การล่มสลายทางประชาธิปไตยส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากทหาร แต่มาจากการแย่งชิงอำนาจของนักการเมือง อย่างเช่น อูโก ชาเวซ ในเวเนซุเอลา อัลเบอโต ฟูจิโมริ ในเปรู หรือผู้นำของ จอร์เจีย ฮังการี นิการากัว เปรู ฟิลิปปินส์ โปแลนด์ รัสเซีย ศรีลังกา ตุรกี และ ยูเครน ซึ่งล้วนแล้วแต่เข้าสู่ตำแหน่งบริหารประเทศผ่านการเลือกตั้ง แต่กระทำการหลายอย่างให้ประชาธิปไตยเสื่อมถอยด้อยค่าลงไป

และ แม้แต่ประเทศที่อ้างว่าตัวเองคือ “ผู้นำประชาธิปไตย” คือ สหรัฐอเมริกา ก็กำลังมีปัญหาเรื่องประชาธิปไตย โดยผู้เขียนได้อธิบายประวัติศาสตร์และการเมือง ซึ่งทำให้เกิดประชาธิปไตยในแบบอเมริกันอย่างที่เป็นในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ – นั่นคือ สิ่งที่ทำให้เกิด โดนัลด์ ทรัมป์ ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่มีคนไม่ชอบมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา อีกทั้งมีเรื่องอื้อฉาวเป็นระยะ

และต้องย้ำว่า ในหนังสือเล่มนี้ไม่ได้มุ่งที่ตัว โดนัลด์ ทรัมป์ แต่เป็นที่กระบวนการต่าง ๆ สภาวะแวดล้อม การดำเนินการของนักการเมือง โดยใช้ โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นภาพสะท้อนการล่มสลายของระบอบประชาธิปไตย โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นอาการของปัญหา ไม่ใช่ตัวปัญหา ดังนั้นการถอดเขาออกจากตำแหน่งก็ไม่ได้ทำให้มีประชาธิปไตยที่ดีขึ้น เพราะจะมีคนอื่นแบบนี้อยู่ดี ทางผู้เขียนมองว่า ถ้าการเมืองอเมริกามีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์จะไม่เปิดโอกาสให้ โดนัลด์ ทรัมป์ มีพื้นที่ยืนหยัดในพรรครีพับลิกัน เขาจะไม่สามารถดึงดูดคนจำนวนมากให้สนับสนุนเขาทั้งที่แท้จริงแล้วก็คือผู้ที่สูญเสียจากสิ่งที่เขาทำมากที่สุด

How Democracies Die – สิ่งที่กฎหมายไม่ได้เขียน

จากประวัติศาสตร์การเมืองในหลายประเทศตั้งแต่อดีต สตีเวน เลวิตสกี กับ แดเนียล ซีแบลตต์ ตั้งข้อสังเกตว่า แต่ละกรณีจะมีลักษณะร่วมกันบางประการที่ทำให้ ประชาธิปไตยกำลังเสื่อมสลาย แม้ว่าจะมีการสอนเรื่องประชาธิปไตยในทางทฤษฎีโดยทั่วไป เรา (เกือบ) ทุกคนเรียนรู้ตั้งแต่สมัยอยู่ในระบบการศึกษาแล้วว่า ประชาธิปไตยคืออะไร อาจจะท่องกันจนจำขึ้นใจ ประชาธิปไตยของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน หรือ การปกครองระบอบประชาธิปไตยมีกฎเกณฑ์ที่เป็นลายลักษณ์อักษร (รัฐธรรมนูญ) และมีผู้ตัดสิน (ศาล) ว่าฝ่ายขับเคลื่อนกระบวนการต่าง ๆ (รัฐบาล / นักการเมือง) เป็นไปตามกฎเกณฑ์หรือไม่

แต่ถ้ายึดเพียงเท่านี้ เราก็อาจกล่าวว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (เกาหลีเหนือ) เป็นประชาธิปไตย  มีรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่า อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศเป็นของสมัชชาประชาชนสูงสุด ซึ่งสมาชิกสมัชชามาจากการเลือกตั้งและมีวาระการดำรงตำแหน่ง ๕ ปี แต่เราก็รู้กันดีว่าใครมีอำนาจสูงสุดจริง ๆ ในประเทศนี้

สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ประชาธิปไตยอยู่รอดได้ยาวนานที่สุดจริง ๆ ก็คือ “สิ่งที่ไม่ได้เขียนไว้ในกฎหมาย” คือบรรทัดฐานของประชาธิปไตย สิ่งที่ทำให้ประชาธิปไตยเสื่อมสลายในทุกวันนี้คือ “บรรทัดฐานที่พังทลาย” ทุกคนรู้ว่าประชาธิปไตยคืออะไร ต้องเป็นอย่างไร เมื่อมีการ “ตัดสิน” จาก “ลายลักษณ์อักษร” อะไรก็ตามที่ไม่ได้อยู่ในสิ่งที่กฎหมายเขียนไว้ ไม่ได้แปลว่าทำได้ หรือ ควรทำ แต่มีนักการเมืองหลายคน หาทางฉ้อฉลอำนาจจาก “สิ่งที่ไม่ได้เขียนไว้ในกฎหมาย”  

ในความเป็นจริง โลกนี้มีหลายสิ่งที่คาบเกี่ยวระหว่างขาวกับดำ คาบเกี่ยวระหว่างถูกและผิด และมีคนที่พร้อมจะลืมบรรทัดฐานที่ควจะมี พร้อมจะปล่อยวาง หรือ หลับตาไม่รับรู้การละเมิดจริยธรรม เพื่อบรรลุถึงจุดประสงค์ของตัวเอง ไม่ว่าจะทำไปโดยสุจริตใจเพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์ที่ดีต่อส่วนรวม หรือ ทำไปเพราะต้องการรักษาอำนาจและความได้เปรียบของตนเอง แต่การละเมิดหรือลดทอนบรรทัดฐานลงไป ล้วนมีส่วนทำให้ประชาธิปไตยกำลังตายอย่างช้า ๆ

การปฏิเสธความชอบธรรมของฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

สิ่งสำคัญสำหรับประชาธิปไตย คือ การมองทุกฝ่ายเท่าเทียมและชอบธรรมด้วยกันทั้งสิ้น แต่สภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น บุคคลในระบอบประชาธิปไตยหลายคนลืมเลือนความเท่าเทียมกัน และผลักคนที่มีความเห็นต่างเป็นฝ่ายตรงข้าม และปฏิเสธความชอบธรรมของฝ่ายตรงข้าม นำมาสู่ความตั้งใจลดทอนเสรีภาพฝ่ายตรงข้าม (รวมถึงสื่อมวลชน) และการวางเฉยหรือสนับสนุนให้เกิดความรุนแรงกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

สตีเวน เลวิตสกี กับ แดเนียล ซีแบลตต์ มองว่า ความอดทนและยอมรับซึ่งกันและกัน จากผู้มีความเห็นต่างกัน กลายเป็นคุณสมบัติที่หายากในโลกการเมืองปัจจุบัน การเคารพความชอบธรรมทางการเมืองของเสียงข้างน้อยโดนละเลยไปเรื่อย ๆ ทั้งที่ในตำราเรียนก็ระบุอยู่ว่า ประชาธิปไตยคือการฟังเสียงทุกเสียง ไม่ใช่ “เสียงข้างมากได้ทุกอย่าง” การเคารพความคิดเห็นของผู้ที่มีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันเป็นสิ่งสำคัญมาก การดึงดันคิดว่าความเชื่อของตัวเองคือสิ่งถูกต้องเท่านั้นเป็นการนำความล่มสลายให้เกิดขึ้นตามมา

เมื่อเกิดการปฏิเสธความชอบธรรมของฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง สิ่งที่จะตามมาคือความแตกแยก หากฝ่ายหนึ่งเป็นรัฐ หรือ อยู่ในอำนาจ มีความอดทนต่ำ อาจจะบังคับใช้อำนาจตามกฎหมาย รวมถึงอาจออกกฎเกณฑ์ “ตามกฎหมาย” เพื่อ “กระแทก” ฝ่ายตรงข้าม หรือผู้มีความเห็นต่าง อย่างเช่นกรณี อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ออก กฤษฎีกาเพลิงไหม้ไรชส์ทาค ในปีค.ศ. 1933 กลายเป็นเครื่องมือให้เขากุมอำนาจเบ็ดเสร็จอย่างถูกกฎหมาย

เรื่องแบบนี้ไม่ได้มีแต่ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งเป็นตัวทำลายประชาธิปไตยเพราะปิดกั้นเสียงของฝ่ายตรงข้าม รัฐหรือผู้มีอำนาจจึงควรอดทนยับยั้งชั่งใจไม่ใช้สิทธิพิเศษจากตำแหน่งหน้าที่หรือกลไกรัฐในการสร้างความได้เปรียบอย่าง ‘ถูกกฎหมาย’ ผ่านสภานิติบัญญัติหรือการตัดสินหรือวินิจฉัยจากศาล ซึ่งทั้งหมดจะอ้างว่า – เป็นการปรับปรุงประชาธิปไตยให้ดีขึ้น –  ทำให้กระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพมากขึ้น – แก้ไขการคอร์รัปชัน – หรือทำให้กระบวนการเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม – เพื่อความสงบเรียบร้อย

บางทีประชาชนทั่วไปอาจจะไม่ได้ตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในทันที หลายคนยังเชื่อว่าพวกเขาอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย หากยังมีใครสำเหนียกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นบ้าง สื่อมวลชน (เช่น หนังสือพิมพ์ – สถานีโทรทัศน์) อาจไม่นำเสนอข่าวนั้นเพราะถูกซื้อหรือโดนกดดันให้เซ็นเซอร์ตนเอง ประชาชนเริ่มสำเหนียกอาจจะออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แต่มักพบว่าตัวเองต้องเผชิญกับปัญหาทางกฎหมายอื่น ๆ ตามมา

การวางเฉยหรือการสนับสนุนให้เกิดความรุนแรง

ผู้เขียนมองว่า การลดถอยด้อยค่าบรรทัดฐานการเมือง การมองว่าอีกฝ่ายไม่มีความชอบธรรมเท่าเทียม มองเป็นศัตรูที่ต้องกำจัดออกจากเส้นทางสู่อำนาจของตัวเอง และปราศจากความอดทนและยอมรับซึ่งกันและกันจากผู้มีความเห็นต่างกัน ทำให้เกิดความพยายามรักษาอำนาจของฝ่ายตัวเองไว้ ทำให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่สู่ความโกรธและความกลัวซึ่งนำไปสู่ความแตกแยกมากขึ้น โดยพวกเขายั่วยุ หรือ สนับสนุนกลุ่มฐานคะแนนเสียงของพวกเขา พยายามลดความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้าม แพร่ข่าวลือเท็จ แม้แต่ใช้ความรุนแรงเพื่อให้ฝ่ายตนได้รับผลประโยชน์

สิ่งหนึ่งที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือตลอดเวลาก็คือ กลุ่ม ผู้เศรัทธาในตัวนัการเมือง จะเรียกว่าสาวกหรือฐานคะแนนเสียงก็ตาม หลายครั้งไม่ทันฉุกคิดว่าพวกเขากำลังทำอะไรอยู่ พวกเขามองตัวเองว่าเป็นนักประชาธิปไตย (หรือชาตินิยม) ผู้เก่งกล้า ละพร้อมจะท้าทายผู้มีความคิดตรงข้าม พวกเขาเป็นทั้งแรงดึงดูดการสนับสนุนและการต่อต้านจากภายนอก

ด้วยแรงยั่วยุจากความโกรธและความกลัวที่ประชาชนรู้สึกต่อกันสร้างรอยร้าวในหมู่ประชาชนเอง และสิ่งเหล่านี้จะหยั่งรากฝังลึกเกินกว่าชีวิตนักการเมืองที่พวกเขาศรัทธา ดังนั้นการสนับสนุน หรือการละเว้นวางเฉยต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น จึงเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดความเสื่อมของประชาธิปไตยตามมา

การทำความเข้าใจกระบวนการประชาธิปไตยเป็นกุญแจสำคัญ ประชาธิปไตยไม่เหมือนกับการทำธุรกิจ มันต้องมีการประนีประนอม ความสุภาพอ่อนน้อม และการยอมรับเสียงทุกเสียงที่มีความหลากหลายจากกลุ่มคนที่แตกต่างกัน นั่นเป็นสาเหตุที่ผู้นำทางธุรกิจและทหารมักจะพลาดเมื่อพวกเขาเข้าสู่การเมือง พวกเขาไม่คุ้นเคยกับแนวคิดพื้นฐานของประชาธิปไตยเพราะคุ้นเคยกับวิธีการทางธุรกิจหรือทหาร

บางย่อหน้าสร้างความหดหู่ต่ออนาคตของพวกเรา

“ข้อเท็จจริงที่เรียบง่ายของเรื่องนี้ก็คือ โลกไม่เคยสร้างประชาธิปไตยแบบพหุวัฒนธรรมซึ่งไม่มีกลุ่มชาติพันธุ์ใดเป็นชนส่วนใหญ่ ไม่เคยมีความเสมอภาคทางการเมือง ความเท่าเทียมกันทางสังคม และเศรษฐกิจที่ช่วยให้ทุกคนประสบความสำเร็จ”

ถึงแม้ว่าเนื้อหาในหนังสือจะเน้นสหรัฐอเมริกา แต่ที่ใดก็คงไม่ต่างกัน

ปรับปรุงล่าสุด ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๔

แสดงความคิดเห็น