คดีลิขสิทธิ์ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว มีความน่าสนใจในตัวเองหลายประการ ทั้งในเรื่องกฎหมาย และเรื่องความเหมาะสม และบรรทัดฐานที่พึงมีในธุรกิจการพิมพ์
หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว
หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว (ชื่อภาษาสเปน – Cien años de soledad ชื่อภาษาอังกฤษ – One Hundred Years of Solitude) ของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (Gabriel García Márquez)
กาลานุกรม คดีลิขสิทธิ์ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว
กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ประพันธ์เรื่อง Cien años de soledad เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๑๐
ปณิธาน และ ร. จันเสน แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ One Hundred Years of Solitude สำนวนแปล เกรกกอรี ราบาสซา (Gregory Rabassa) เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๒๙ โดยสำนักพิมพ์วลี และสำนักพิมพ์สามัญชน นำมาพิมพ์ใหม่ตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๕๒
สำนักพิมพ์บทจร ซื้อลิขสิทธิ์จากทายาทของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๕๙ และพิมพ์ฉบับแปลจากต้นฉบับภาษาสเปน โดย ชนฤดี ปลื้มปวารณ์ เริ่มจำหน่ายตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๖๒ (โดยประมาณ ไม่แน่ใจ)
สำนักพิมพ์บทจร ยื่นฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ ว่า วชิระ บัวสนธ์ (สำนักพิมพ์สามัญชน) ละเมิดลิขสิทธิ์หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว
วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๕ ศาลมีคำตัดสินยกฟ้อง เนื่องจาก ปณิธาน และ ร. จันเสน แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ ไม่ใช่แปลจากต้นฉบับภาษาสเปน จึงเป็นการคุ้มครองที่ต่างกัน เพราะงานแปลก็มีลิขสิทธ์ของสำนวนอยู่
เรื่องนี้มีสิ่งที่น่าสนใจคือ งานแปลของสำนักพิมพ์สามัญชน แปลมาจากฉบับภาษาอังกฤษ จะถือว่าแปลมาจาก “คนละสำนวน” ได้หรือไม่
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ในการตัดสินของศาลยก พระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ. ๒๔๗๔ มีผลบังคับใช้กับงานอันเป็นลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศดังกล่าว ซึ่ง มาตรา ๖ ของพระราชบัญญัติดังกล่าว บอกว่า การแปลหรือแปลงมาใช้… เสมือนเป็นวรรณกรรมที่คิดขึ้นเอง และมาตรา ๒๙ (ข) วรรณกรรมที่เผยแพร่เกิน ๑๐ ปีแล้วยังไม่มีใครแปล ให้ถือความคุ้มครองสิ้นสุดไปใครจะแปลก็ได้ ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
ซึ่งในกรณีของ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว สำนวนแปลของ ปณิธาน-ร.จันเสน เข้าข่ายดังกล่าว เพราะ ไม่มีการแปล Cien años de soledad หรือ One Hundred Years of Solitude ออกมาภายใน ๑๐ ปี ดังนั้นจึงไม่นับว่า หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว สำนวนแปลของ ปณิธาน-ร.จันเสน ละเมิดลิขสิทธิ์ของ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ และสำนวนแปลของ ปณิธาน-ร.จันเสน ก็เป็นวรรณกรรมที่มีลิขสิทธิ์ได้รับการคุ้มครอง (โดย ปณิธาน-ร.จันเสน เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์)
โดยคำพิพากษา ได้ระบุว่า งานที่ทำขึ้นก่อนที่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พุทธศักราช ๒๕๓๗ บังคับใช้ แม้ไม่มีลิขสิทธิ์หรือแม้สิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ระงับไปแล้วตามกฎหมายเดิม แต่เมื่องานดังกล่าวยังคงมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายใหม่ ก็ย่อมได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติของกฎหมายใหม่ทั้งฉบับ
ดังนั้น สำนวนแปล ชนฤดี ปลื้มปวารณ์ กับสำนวนแปลของ ปณิธาน-ร.จันเสน ต่างเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ โดยมีบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ต่างรายกัน
เรื่องที่เกี่ยวข้อง กรณีลิชสิทธิ์ อกาธา คริสตี้
เรื่องสืบเนื่อง
เรื่องนี้กลายเป็นที่สนใจในเรื่องลิขสิทธิ์ และมีการแสดงความเห็นหลากหลาย อย่างเช่น งานแปลของสำนักพิมพ์สามัญชน จากฉบับภาษาอังกฤษ จะถือว่าแปลมาจาก “คนละต้นฉบับ คนละสำนวน”
และ งานแปลที่ออกมาก่อนพ.ศ. ๒๕๓๗ จะลอยตัวเหนือปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช ๒๔๗๔ ในขณะที่ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พุทธศักราช ๒๕๓๗ ได้กำหนดไว้อีกแบบ
unnamed sheep ได้อ่านความเห็นที่หลากหลาย เห็นด้วยบ้าง ไม่เห็นด้วยบ้าง แต่มาสะดุดที่สุดก็คือความเห็นของ กฤตพล วิภาวีกุล นักวิชาการอิสระคนหนึ่ง
ชาดกนากแย่งปลา
ปัญหาคือ เมื่ออ่านบทความของคุณ กฤตพล วิภาวีกุล นักวิชาการอิสระคนหนึ่ง แล้วเกิดความรู้สึกแปลก ๆ ต่อตรรกะที่ใช้ในการเขียนบทความ (อ่านบทความฉบับเต็มได้ในลิงก์นี้) เกิดความรู้สึกอย่าง “อ่านเอาเรื่อง” ขึ้นมา
เป็นบทความที่เกิดความคิดขัดแย้งในเรื่องตรรกะแทบจะทุกย่อหน้า
ในบทความนี้ ขึ้นต้นด้วยการยกเรื่อง ทัพพปุปผกชาดก ขึ้นมาเปรียบเปรย
ผู้เขียน เขียนว่า ทำไมพวกมันถึงต้องแย่งปลากันด้วยในเมื่อยังมีปลาอีกมากในหนองน้ำ
ถ้าได้อ่านเรื่องนี้จริง จะรู้ว่า ปลาตะเพียนแดงตัวนั้นใหญ่ เกินกว่านากตัวเดียวจะจับได้ นากตัวหนึ่งจึงไปหานากอีกตัวหนึ่ง ทำสัญญากันว่า ร่วมมือกันจับปลาตะเพียนแดงตัวนี้แล้วแบ่งกัน แต่พอจะแบ่งแล้ว เกิดปัญหาว่า แบ่งอย่างไร ถึงจะเท่าเทียมยุติธรรม ที่สุดจึงเป็นวิวาท
ทำไมนากทั้งสองตัวถึงได้หลงเชื่อคำพูดของสุนัขจิ้งจอก ทั้งที่ปลาก็เป็นของพวกมัน และสรุปไว้ว่า (ในบทความที่อ้างอิง พิมพ์สีส้มแตกต่างจากส่วนอื่น) ชาดกเรื่องนี้สอนพวกเราอย่างหนึ่งว่า หากสหายนากทั้งสองไม่แก่งแย่งปลาที่มีมากมายในหนองน้ำ พวกมันก็คงไม่ต้องเสียส่วนท้องของปลาให้แก่สุนัขจิ้งจอกผู้เป็นคนนอกเป็นแน่
เรื่องนี้ ไม่ต้องคิดมาก นิทานชาดกเป็นนิทานเปรียบเปรย ถ้าเราหาข้อตกลงร่วมกันไม่ได้ เราจึงหาคนกลางมาตัดสิน เพราะถ้าอ่านบทสรุปท้ายของชาดกเรื่องนี้ จะสรุปแนวคิดของชาดกไว้ว่า
ในหมู่มนุษย์มีการวิวาทกันขึ้น ณ ที่ใด หมู่มนุษย์ก็พากันไปหาผู้พิพากษา ณ ที่นั้น เพราะว่าผู้พิพากษาเป็นผู้แนะนำพวกเขา ใช่แต่เท่านั้น เขา ยังจะเสื่อมจากทรัพย์อีก เหมือนนากทั้งสองเสื่อมจากปลาตะเพียน ฉะนั้นพระคลังหลวงย่อมเจริญขึ้น
อ่าน ทัพพปุปผกชาดก ฉบับเต็ม ที่ https://84000.org/tipitaka/atita100/v.php?B=27&A=4359&Z=4385
ถึงแม้จะทำความเข้าใจได้ไม่ยากว่า ผู้เขียน พยายามจะลากเข้าเรื่องว่า ถ้าไม่แก่งแย่งกัน ก็ไม่เสียผลประโยชน์ให้คนอื่น แต่เมื่อนำบริบทนี้มาใช้กับ คดีลิขสิทธิ์ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว แล้วมีความไม่สอดคล้องกันหลายประการ
ประการแรก ถ้าเปรียบ นาก 2 ตัว เป็น สำนักพิมพ์บทจร และ สำนักพิมพ์สามัญชน แล้วใครเป็นจิ้งจอก ? มีใครได้ประโยชน์จากคดีนี้แบบไม่ต้องทำอะไร ?
ประการต่อมา บริบทของนากทั้ง 2 ตัวใน ทัพพปุปผกชาดก คือร่วมมือร่วมใจกันจับปลาตะเพียน เพราะปลานั้นใหญ่เกินกำลังนากตัวเดียว เมื่อจับได้แล้วถึงมีปัญหาเรื่องการแบ่งส่วน แล้วในคดีนี้ สำนักพิมพ์บทจรกับสำนักพิมพ์สามัญชน ร่วมมือกันผลิตหนังสือ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ออกมาแล้ว แบ่งผลประโยชน์กันไม่ลงตัวหรือ?
อันนี้ก็ไม่น่าใช่นะ ทั้งสองสำนักพิมพ์ไม่ได้ร่วมมือในการผลิตหนังสือเล่มนี้ ในข้อความของบทความก็อธิบายเหตุผลความขัดแย้งของทั้งสองสำนักพิมพ์แล้ว
ชาดกเรื่องนากแย่งปลาจึงไม่อาจเป็นภาพแทนของปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นในวงการหนังสือไทยให้เกิดความเข้าใจได้
ชาดกเรื่องนี้ นอกจากไม่อาจะเป็นภาพแทนของปัญหาทั้งหมด ยังไม่อาจเป็นตัวแทนของคดีนี้ด้วยซ้ำ
เมื่ออ่านไล่ลงมาอีกหน่อย
เมื่ออ่านถึง –ปัญหาลิขสิทธิ์การแปลวรรณกรรมสร้างสรรค์ซึ่งสัมพันธ์ทั้งกับจริยธรรมการจัดพิมพ์และความหลากหลายในการเข้าถึงวรรณกรรมสำหรับประเทศกำลังพัฒนา–
ความคิดก็เริ่มไปไกล
และผู้เสียหายตัวจริงจากการละเมิดลิขสิทธิ์วรรณกรรมแปลในประเทศกำลังพัฒนาที่มียอดจำหน่ายได้เพียงประมาณไม่เกิน 2 พันเล่มต่อการตีพิมพ์หนึ่งครั้งนั้นคือใครกัน?!? ผู้ประพันธ์และทายาทชาวต่างชาติ หรือสำนักพิมพ์ไทยที่กระเสือกกระสนดิ้นรนจนได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ของวรรณกรรมสร้างสรรค์อย่างถูกต้อง?!?
จากบทความ
ข้อความข้างต้นนี้ อ่านและพยายามทำความเข้าใจ
บางที unnamed sheep อาจจะเป็น “ทุนนิยมสามานย์” เต็มตัว ก็เลยเข้าข้างผู้ประพันธ์และทายาท กับ สำนักพิมพ์ที่ได้ลิขสิทธิ์อย่างถูกต้อง
ผู้ประพันธ์และทายาท ก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับการคุ้มครองจากการละเมิดลิขสิทธิ์ จะแค่ 1 เล่ม หรือ ล้านเล่ม มันก็สิทธิของเขา
สำนักพิมพ์ที่ได้ลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องจากผู้ประพันธ์ หรือ จากเจ้าของลิขสิทธิ์ ก็มีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากการละเมิดลิขสิทธิ์ จะแค่ 1 เล่ม หรือ หนึ่งล้านเล่ม มันก็เป็นสิทธิของเขา
อ่านต่อมา
แต่ไม่ว่าผลการตัดสินในชั้นศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาจะออกมาแบบใด ก็น่าฉงนเสียเหลือเกินว่าผู้อ่านชาวไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากการฟ้องร้องในครั้งนี้ และการตั้งคำถามเพื่อเรียกร้องจริยธรรมในการจัดพิมพ์วรรณกรรมแปลสร้างสรรค์นั้น เป็นการตั้งคำถามไปเพื่อประโยชน์ของวงการหนังสือ ของผู้อ่านวรรณกรรม หรือของใครกันแน่ !?!
ย่อหน้านี่เป็นย่อหน้าเดียวที่เห็นด้วย เราควรตระหนักแน่ในใจว่า การฟ้องร้องครั้งนี้เพราะเขาต้องการปกป้องผลประโยชน์ของเขามิใช่รึ? แต่พอถัดมา ก็เริ่มมีความคิดเห็นแย้งอีกแล้ว
คือ unnamed sheep รู้สึกว่า การที่คนได้ลิขสิทธิ์ จะ “ร้องแรกแหกกระเชอ” เป็นเรื่องปกติมาก การประกาศสิทธิ ที่ต้องใช้เวลาและเงินแลกมาก กับ ความภูมิใจในการทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งสำเร็จ จะไม่อยากอวดหรือ?
แล้วข้อความ -ผู้เสียหายตัวจริงจากการละเมิดลิขสิทธิ์วรรณกรรมแปลในประเทศกำลังพัฒนาที่มียอดจำหน่ายได้เพียงประมาณไม่เกิน 2 พันเล่มต่อการตีพิมพ์หนึ่งครั้งนั้นคือใครกัน?!?- คืออะไร งงอะไร สับสนอะไร
(ในฐานะทุนนิยมสามานย์คนหนึ่ง) คนเสียหายก็คือ คนที่ได้รับสิทธิ์จากเจ้าของลิขสิทธิ์มาสิ อันนี้งงว่านักวิชาการอิสระท่านนี้กำลังคิดอะไรอยู่ คนหนึ่ง ไปขอเช่า/ซื้อ สิทธิ สำหรับการแปลเป็นภาษาไทยมา ใครคนนั้นก็ต้องดูแลรักษาสิทธิที่ได้รับมา ในฐานะตัวแทนผู้ได้รับสิทธิจากเจ้าของลิขสิทธิ์
และพออ่านถึงย่อหน้านี้ก็เป็นเหตุให้รู้สึกว่าต้องเขียนบล็อกนี้ขี้นมา
-วงการหนังสือไทยในปัจจุบันมีสภาพเช่นไร และยอดขายของวรรณกรรมสร้างสรรค์ของไทยในปัจจุบันสร้างผลตอบแทนให้แก่สำนักพิมพ์และนักเขียนได้เหมือนในต่างประเทศหรือไม่- อ่านแล้วเหมือนตรรกะแบบเดียวกับ “ฉันจน ฉันโดนกดขี่ ฉันไร้ทางไป ฉันจึงไม่สนใจกฎเกณฑ์” ผลตอบแทนสำนักพิมพ์และนักเขียนมันน้อย เลยไม่สนใจเรื่องกฎเกณฑ์ – จะเอาแบบนั้นหรือ?
วรรณกรรมเรื่องอื่นๆ ของมาร์เกซที่แปลเป็นภาษาไทยก็น่าจะมีไม่ถึง 5 หมื่นเล่ม จำนวนดังกล่าวเทียบไม่ได้เลยกับยอดจำหน่ายของ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ในตลาดโลกซึ่งมีจำนวนมากกว่า 50 ล้านเล่ม
ต่อให้เป็น 1 เล่ม ก็มีความหมาย ถ้าเอามาขายหาผลประโยชน์ นี่ตั้งหลักหมื่นเล่ม อ่ะ หลักพันเล่มก็ได้ มันมีความหมาย แล้วจะเอายอดจำหน่ายมาพูดถึงทำไม?
และดูตรรกะต่อมา
หรือเราควรจะเริ่มจากการตั้งคำถามเสียก่อนว่า มาร์เกซจะรู้หรือไม่ว่าประเทศไทยไม่ใช่ไต้หวัน?!? และตั้งอยู่ที่ส่วนไหนของโลก?!?
ไม่ใช่สิ ทำไมเราไม่เริ่มจากการตั้งคำถามว่า สำนักพิมพ์ได้ติดต่อขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์หรือยัง? ติดต่อแล้วเขาไม่ให้หรืออย่างไร?
unnamed sheep มีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า คนที่มาทำงานในแวดวงนักเขียน สำนักพิมพ์ ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ทรงปัญญาและมารยาทตามแบบฉบับนักคิดนักเขียน จะใช้ผลงานของคนอื่นก็ต้องขออนุญาตเจ้าตัว ไม่ต้องสมมติถึงสิ่งที่ควรเกิดขึ้นก่อนปีพ.ศ. ๒๕๔๗ หรือ สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงไม่เกิน 10 ปีมานี้ (หลังจากมีการขอลิขสิทธิ์แล้ว)
นี่คือมารยาทที่ควรทำ ไม่ใช่หรือ?
และปีนี้ คือปี ๒๕๖๕ มาไกลจากพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พุทธศักราช ๒๕๒๑ มากแล้ว
ก็คงต้องบอกว่า บทจร และ สามัญชน ไม่ได้อยู่ในบริบทเดียวกับนาก ๒ ตัวในชาดก และ เจ้าของลิขสิทธิ์ ไม่ใช่จิ้งจอก เพราะเจ้าของคือเจ้าของ ไม่ใช่คนนอกที่เข้ามาหาประโยชน์จากสิ่งที่ไม่ใช่ของตัวเอง แต่ปัญหาสำคัญอยู่ที่ประโยคนี้
-มีความจำเป็นต้องสร้างบรรทัดฐานให้แก่การแปลวรรณกรรมสร้างสรรค์ของนักเขียนทรงคุณค่าระดับโลกในตลาดหนังสือของประเทศกำลังพัฒนาที่มียอดจำหน่ายน้อยนิดเช่นนี้หรือไม่?!?-
“ยอดจำหน่ายอันน้อยนิด” ควรเป็นเหตุผลของการกระทำที่ยอมรับกันได้ในปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ใช่มั้ย?
ในเมื่อ ปัจจุบัน เรามีกฎหมายลิขสิทธิ์ พุทธศักราช ๒๕๓๗ ซึ่งดูเหมือนผู้เขียนบทความจะไม่ชอบใจ แต่มันคือสิ่งที่เป็นกฎเกณฑ์ในปัจจุบัน และมีการรับรู้กันโดยทั่วไปในแวดวงสำนักพิมพ์ (อันนี้ต้องรู้แน่นอน) ว่ามีคนได้ลิขสิทธิ์เรื่องนี้
โดยมารยาทที่ควรจะมี หลักการที่ควรจะมี ตามประสานักคิดนักเขียน น่าจะเข้าใจกันได้ไม่ยากสิ
ตรงนี้ แนวคิดของ unnamed sheep (ทุนนิยมสามานย์คนหนึ่ง) มองว่า งานเขียน คือ ทรัพย์สินของผู้เขียน ซึ่งผู้เขียนมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากผลงานของตัวเองเต็มที่ (และส่งต่อเป็นมรดกให้ทายาท)
สมมติว่า มันคือ สวนมะม่วง ท่านปลูกและดูแลจนมะม่วงเต็มสวน นี่คือ สินทรัพย์ของท่าน แน่ล่ะ ถ้าสวนของท่านใหญ่ ท่านก็ให้สิทธิ์การดูแลมะม่วงบางต้นกับบางคนไป
แล้ว แล้วมีคนมาขโมยมะม่วงของท่านไป ท่านจะรู้สึกอย่างไร? สมมติว่าคนขโมยมะม่วงท่านไปทำข้าวเหนียวมะม่วงขาย แล้วมาโอดครวญว่า นี่แค่เอาไปไม่ถึงห้าหมื่นลูกเอง แถมยังตัองเสียกำลังเวลาทำข้าวเหนียวขายอีก ขอให้ท่านอย่าสนใจเลย ท่านมีมะม่วงตั้งห้าสิบล้านลูก
ก็บอกอีกที unnamed sheep (ทุนนิยมสามานย์คนหนึ่ง) ถ้าเจอใครมาขโมยมะม่วง ก็จะบอกว่า มะม่วงลูกสองลูก มันก็คือมะม่วงโว้ย คนหนึ่งเอาไปห้าหมื่นลูก ถ้ามีคนทำแบบนี้สักร้อยคน ก็ห้าล้านเข้าไปแล้ว
และที่สำคัญ สวนมะม่วงสวนนี้ จะกลายเป็นสมบัติสาธารณะเมื่อตายไป ๕๐ ปี ใช่ว่าจะเป็นสมบัติส่วนตัวชั่วลูกชั่วหลานเสียเมื่อไหร่
สำหรับ คดีลิขสิทธิ์ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว นี่ unnamed sheep เห็นใจทางสำนักพิมพ์สามัญชน เพราะจำได้ว่าตอนที่พิมพ์ครั้งที่ ๕ น่าจะเป็นช่วงที่สำนักพิมพ์บทจรยังไม่ได้ลิขสิทธิ์ และน่าจะลงทุนไปพอสมควร ก็คงอยากจะขายต่อให้หมด แต่ในอีกทาง ก็เข้าใจสำนักพิมพ์บทจร เพราะถ้ามีสินค้าที่มาแย่งตลาดแบบนี้ก็คงไม่ชอบใจ
น่าเสียดายที่สำนักพิมพ์ทั้งสองแห่งไม่สามารถเจรจากันได้