Mein Kampf – การต่อสู้ของข้าพเจ้า

ปีพ.ศ. ๒๕๕๙ สถาบันประวัติศาสตร์ร่วมสมัยแห่งมิวนิค (Munich Institute for Contemporary History หรือ IfZ) พิมพ์หนังสือ ไมน์แคมป์ฟ (Mein Kampf) หรือ การต่อสู้ของข้าพเจ้า ของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ในเยอรมนีเป็นครั้งแรกนับจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ จบสิ้น และในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙ เพียงเดือนเดียวมียอดจำหน่ายถึง ๘๕,๐๐๐ เล่ม

Mein Kampf – หนังสือต้องห้าม?

หลังจาก อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เสียชีวิต ทรัพย์สินต่าง ๆ ของเขา รวมทั้งลิขสิทธิ์หนังสือตกเป็นของรัฐบาวาเรีย และที่ผ่านมา รัฐบาวาเรียไม่อนุญาตให้ใครนำหนังสือเล่มนี้มาตีพิมพ์ในเยอรมนีอีก ตามนโยบายว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องส่งเสริมลัทธินาซีเป็นเรื่องต้องห้ามในเยอรมนี แต่ไม่ได้เป็นหนังสือต้องห้ามขนาดที่ว่าต้องกำจัดทิ้ง ห้องสมุดหลายแห่งในเยอรมนีมีหนังสือเล่มนี้ไว้บริการ แต่มีข้อจำกัดว่าจะต้องใช้เพื่อการศึกษาเท่านั้น และการมีไว้ในครอบครองก็ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย

แต่สำหรับดินแดนอื่นยังคงตีพิมพ์ การต่อสู้ของข้าพเจ้า อย่างเสรี โดยรัฐบาวาเรียทำได้เพียงแค่ขอร้องเท่านั้น ถึงจะเคยพยายามดำเนินการทางกฎหมายในฐานะผู้ถือลิขสิทธิ์ก็ไม่สำเร็จ เช่น เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๓๕ รัฐบาวาเรียพยายามยุติการตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ในสวีเดน เรื่องขึ้นถึงศาลสูงในสวีเดน แต่ผลก็คือให้ตีพิมพ์ต่อไปได้ การสั่งห้ามในโลกที่เชื่อมถึงกันผ่านอินเตอร์เน็ตเป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิง แม้แต่เว็บขายหนังสือออนไลน์ใหญ่เช่นแอมะซอนยังมีอีบุ๊กการต่อสู้ของข้าพเจ้าจำหน่าย ในไทยก็มีผู้แปลไว้นานแล้วในชื่อ การต่อสู้ของข้าพเจ้า โดย ศ.ป. สำนักพิมพ์คลังวิทยา (พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกปี พ.ศ. ๒๔๘๐)

แต่เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๕๑ สตีเฟน เครเมอร์ เลขาธิการสภากลางชาวยิวในเยอรมนีเสนอให้ยกเลิกการสั่งห้ามตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ รวมทั้งแนะนำให้ทำบทอ้างอิง ค้นคว้า วิจัยเพื่อสร้างความเข้าใจประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น

สถาบันประวัติศาสตร์ร่วมสมัยแห่งมิวนิคก็ดำเนินในทางเดียวกัน โดยประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๓ ว่ามีโครงการนำ ไมน์แคมป์ฟ มาเผยแพร่ใหม่ พร้อมบทวิเคราะห์ศึกษาวิจัยจากนักวิชาการหลายคนประกอบ ตอนแรกรัฐบาวาเรียสนับสนุนโครงการนี้ โดยในปีพ.ศ. ๒๕๕๕ ได้มอบเงินทุนจำนวนห้าแสนยูโรให้บรรดานักวิจัย นักวิชาการ นำไปใช้เป็นทุนค้นคว้าวิจัยเพื่อทำบทความเพิ่มเติม

แต่ยุติการสนับสนุนในปี พ.ศ. ๒๕๕๗ โดยมีข้อสังเกตกว้างขวางว่าเป็นเหตุผลทางการเมือง เพราะการเปลี่ยนใจไม่สนับสนุนโครงการนี้เกิดขึ้นหลังจากผู้นำรัฐบาวาเรียกลับจากเยือนประเทศอิสราเอล แต่คำอธิบายอย่างเป็นทางการของรัฐบาวาเรียคือ เพื่อเป็นการเคารพต่อผู้เป็นเหยื่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อันหฤโหดเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่สอง

อย่างไรก็ตาม ลิขสิทธิ์ ไมน์แคมป์ฟ หมดอายุในปีพ.ศ. ๒๕๕๘ เพราะ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เสียชีวิตเมื่อปีพ.ศ. ๒๔๘๘ หรือเมื่อ ๗๐ ปีที่แล้ว

ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๙ เป็นต้นไป ไมน์แคมป์ฟ ตกเป็นสมบัติสาธารณะ ทำให้มีนักวิชาการส่วนหนึ่งเห็นว่า แนวคิดของสถาบันประวัติศาสตร์ร่วมสมัยแห่งมิวนิค ที่จะเผยแพร่พร้อมบทวิเคราะห์รายงานวิจัยที่เกี่ยวเนื่องต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ดี เพราะมิเช่นนั้นผู้นิยมลัทธินีโอ-นาซีอาจนำ ไมน์แคมป์ฟ มาตีพิมพ์เพื่อสร้างค่านิยมตามแบบตัวเอง ขณะเดียวกันผู้ไม่เห็นด้วยก็มีจำนวนมากเช่นกัน เพราะมองว่าหนังสือเล่มนี้เผยแพร่แนวคิดอันเป็นอันตรายต่อความสงบสุขของสังคม ส่งเสริมการแบ่งแยกสีผิวชาติพันธุ์

ฉบับที่ตีพิมพ์ใหม่ในเยอรมนีครั้งนี้จะแทรกบทความและเนื้อหาอื่น ๆ ที่เคยมีการวิจัย วิเคราะห์ และความเห็นจากแนวคิดอื่นรวมแล้วกว่า ๒,๐๐๐ หน้า เพื่ออธิบายถึงความเป็นไปทางประวัติศาสตร์และแนวคิดในแง่มุมต่าง ๆ เบื้องต้นตั้งราคาไว้ ๕๙ ยูโร หรือประมาณ ๒,๓๐๐ บาท

การต่อสู้ของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เขียน ไมน์แคมป์ฟ (Mein Kampf) หรือ การต่อสู้ของข้าพเจ้า ระหว่างโดนจำคุกเพราะพยายามก่อการรัฐประหารวันที่ ๘-๙ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๓ แต่ไม่สำเร็จ กลายเป็นคดีที่ต่อมารู้จักกันในชื่อ กบฏโรงเบียร์ (Beer Hall Putsch) เพราะกลุ่มก่อการใช้โรงเบียร์เป็นฐานที่มั่น  หรือบางทีเรียก กบฏมิวนิค (Munich Putsch) ตามชื่อเมืองที่พยายามก่อการรัฐประหาร ครั้งนั้น อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ถูกจำคุกเป็นเวลาหนึ่งปี

ในระหว่างที่จำคุกนั้นเอง เขาเขียนบันทึกความทรงจำย้อนประวัติชีวิตตัวเอง รวมทั้งแนวคิดด้านการเมืองที่เขาคิดไว้ว่าดีออกเผยแพร่และหารายได้เป็นทุนสู้คดี เดิมเขาใช้ชื่อว่า การต่อสู้เป็นเวลาสี่ปีครึ่งของข้าพเจ้า แต่ทางผู้พิมพ์จำหน่ายหนังสือเล่มนี้ขอให้ตัดชื่อเรื่องเป็น การต่อสู้ของข้าพเจ้า เพื่อให้กระชับขึ้น

เนื้อหาของ Mein Kampf

เนื้อหาแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นชีวิตส่วนตัวของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ตั้งแต่เกิด กับส่วนที่สอง เป็นแนวคิดทางการเมืองของเขา ซึ่งความน่าสนใจศึกษา ก็จะเป็นในส่วนที่สองนี้เอง

มีคนตั้งข้อสังเกตจากเนื้อหาในหนังสือว่า อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เพิ่งมีความคิดเป็นปรปักษ์กับคนเชื้อชาติยิว รวมถึง แนวคิดชาตินิยม และ เชื่อมั่นในการใช้กำลังทหาร ก็เมื่อตอนที่ย้ายมาอยู่เวียนนา อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เชื่อทฤษฎีสมคบคิดว่า ชาวยิวอยู่เบื้องหลังรัฐบาลและสภาสาธารณรัฐไวมาร์ (ตั้งขึ้นเพื่อปกครองเยอรมนีหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ค.ศ. ๑๙๑๙ ถึง ๑๙๓๓)

รวมถึงสิ่งชั่วร้ายที่สุดในสายตาของเขาทั้งสองอย่าง คือ แนวคิดสังคมนิยมของ คาร์ล มาร์ซ์ และ ยูดาห์ ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่มาจากการชี้นำของชาวยิวเพื่อสั่งสมอำนาจและความมั่งคั่งของชาวยิว เขาตำหนิรัฐบาลสาธารณรัฐไวมาร์หลายประการ (ประการนี้ไม่น่าแปลกใจเพราะเขาติดคุกข้อหารัฐประหาร ก็ต้องหาความชอบธรรมด้วยการบอกว่าฝ่ายรัฐบาลไม่ดีอย่างไร) แต่ที่น่ากลัวที่สุดคือแนวคิดการใช้กำลังทหาร และแบ่งแยกเผ่าพันธุ์มนุษย์ชัดเจน

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ แสดงความมุ่งมั่นสร้างชาติพันธุ์บริสุทธิ์ โดยคนอ่อนแอ หรือไม่ใช่สายพันธุ์บริสุทธิ์จะโดนจำกัดหรือกำจัดทิ้ง และการร่วมเชื้อชาติกันโดยสัมพันธ์กับชนชาติอื่นทางสายโลหิตจะทำให้ความเจริญเก่าแก่เสื่อมหายไป การผสมสายโลหิตทำให้โลหิตเดิมไม่บริสุทธิ์ และไม่อาจทำให้ความเจริญของชาติคงอยู่ได้เลย

แนวคิดข้างต้นของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ไม่ใช่เรื่องใหม่ ก่อนหน้านั้นได้มีหนังสือ การแข่งขันครั้งใหญ่ (The Passing of the Great Race) ของ เมดิสัน แกรนท์ ที่กล่าวถึงความยิ่งใหญ่ของเผ่าพันธุ์นอร์ดิกในยุโรป และในเยอรมันก็มีนักคิดนักเขียนคนสำคัญ ฮันส์ เอฟ เค กุนเธอร์ ที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องสายพันธุ์บริสุทธิ์ ซึ่ง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เห็นดีงามด้วย

แนวคิดสังคมนิยมชาตินิยมของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ มีจุดมุ่งหมายประการเดียว คือรวบรวมแผ่นดินของสายเลือดอารยันที่ใช้ภาษาเยอรมันเข้าไว้ด้วยกัน โดยกีดกันชาติพันธุ์อื่น (อย่างเช่นชาวยิวจะต้องออกไปให้พ้นจากเยอรมนี) เขาต้องการรวบรวมดินแดนเยอรมนี โดยยึดเอาพื้นที่ที่มีคนใช้ภาษาเยอรมนีในประเทศอื่นเข้าไว้เป็นปึกแผ่นเดียวกัน เหมือนเช่นในอดีตเมื่อครั้งจักรวรรดิ์เยอรมันรุ่งเรือง (ช่วงปีค.ศ. ๑๕๗๑ – ๑๙๑๘ ) ซึ่งดินแดนกว้างใหญ่ไพศาล ถ้าเป็นปัจจุบันคือ เยอรมนี โปแลนด์ ฝรั่งเศส เดนมาร์ก รัสเซีย เบลเยียม ลิธัวเนีย สาธารณรัฐเชค และเนเธอแลนด์

แต่อย่างไรก็ตาม ในหนังสือ “ห้องสมุดส่วนตัวของฮิตเลอร์: หนังสือที่กำหนดชีวิตเขา (Hitler’s Private Library: The Books that Shaped his Life) เขียนโดย ทิโมธี ดับเบิลยู ไรแบ็ก อ้างว่า เมื่อ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ดำรงตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองแล้ว เขากล่าวกับ ฮานส์ แฟรงก์ ว่า ถ้ารู้ล่วงหน้าว่าจะได้ดำรงตำแหน่งนี้ ครั้งนั้นจะไม่เขียนหนังสือเล่มนี้ (ฮานส์ แฟรงก์เป็นทนายความส่วนตัวของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และต่อมาได้ร่วมดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองเมื่อ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เรืองอำนาจ)

แต่ความคิดนี้น่าจะเกิดจากเริ่มตระหนักว่านโยบายต่างประเทศของเยอรมนี และ ทางเลือกต่าง ๆ มีอะไรบ้างที่ปฏิบัติติได้จริง และมีอะไรบ้างที่แทบเป็นไปไม่ได้เลย

เสียงวิจารณ์จาก จอร์จ ออร์เวลล์

จอร์จ ออร์เวลล์ ผู้เขียนนิยายดังหลายเรื่อง เช่น 1984 และ ฟาร์มสัตว์ (Animal Farm) เคยเขียนวิจารณ์หนังสือ การต่อสู้ของข้าพเจ้า เอาไว้ตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ หลังจากได้อ่านฉบับแปลอังกฤษ

ณ เวลานั้นอังกฤษและฝรั่งเศสได้ประกาศสงครามกับเยอรมนี หลังเยอรมนีรุกรานโปแลนด์ แต่สงครามยังไม่ลามใกล้ตัวนัก ในย่อหน้าที่สามของบทวิจารณ์นี้กล่าวว่า อาณาจักรในฝันของฮิตเลอร์เป็นเพียงประเทศไร้สมองเท่านั้น

สมมติว่าสิ่งที่ฮิตเลอร์วาดฝันไว้กลายเป็นจริง คือรัฐที่สืบต่อกันนับร้อยปี มีคนเยอรมัน ๒๕๐ ล้านอยู่ใน “ห้องรับแขก” (คือการขยายขอบเขตไปถึงอัฟกานิสถานหรือราว ๆ นั้น) จักรวรรดิน่ากลัวไร้สมองนี้ไม่มีหลักอะไรเลยนอกจากฝึกอบรมหนุ่มสาวสำหรับการทำสงครามและการปรับปรุงเผ่าพันธุ์ไม่มีที่สิ้นสุด

จอร์จ ออร์เวลล์

การต่อสู้ของข้าพเจ้า เปรียบเสมือนคัมภีร์ศักดิ์สิทธ์ของพรรคนาซี ขายได้ถึง ๕ ล้านเล่มในปีค.ศ. ๑๙๓๙ ได้รับการแปล ๑๑ ภาษา และภายหลังสงครามโลกสิ้นสุด มียอดพิมพ์รวมแล้วประมาณ ๑๐ ล้านเล่มเฉพาะในเยอรมนีเท่านั้น

อุดมการณ์ของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ในเรื่องการเชิดชูชาวอารยันด้วยแนวคิดสังคมนิยมชาตินิยม (National Socialists ชื่อพรรคนาซี Nazi ก็ย่อมาจาก Nationalsozialismus) มีเป้าหมายคือ การฟื้นฟูดินแดนเยอรมันในขอบเขตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดทางประวัติศาสตร์ของพวกเขา

แต่แนวคิดแบ่งแยกเชื้อชาติสุดขั้ว รวมทั้งความรุนแรงการการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เยอรมันได้ทำไว้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทำให้หลายคนไม่ชอบ หรือ ถึงขั้นต่อต้านหนังสือ การต่อสู้ของข้าพเจ้า แต่อย่างน้อย การต่อสู้ของข้าพเจ้า เป็น ๑ ใน ๒ เล่มที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้มีบทบาทสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้เขียนขึ้น ก็น่าอ่านเพื่อศึกษาให้เข้าใจแนวคิดของเขา

Published by

Unnamed Sheep

The Lord is my shepherd, I shall not want He makes me down to lie Through pastures green He leadeth me the silent waters by With bright knives, he releaseth my soul

แสดงความคิดเห็นCancel reply

Exit mobile version