หยิบหนังสือ เงาของเวลา มาอ่านในช่วงหยุดยาว เล่มนี้บอกไว้ในหนังสือว่า เป็นขบวนเดียวกับ เมนูบ้านท้ายวัง ซึ่งนำมาจากเรื่องที่เขาเขียนให้ นิตยสารลลนา ในยุคที่ สุวรรณี สุคนธา เป็นบรรณาธิการ และเขียนยาวนานร่วม ๑๒ ปี โดย ’รงค์ วงษ์สวรรค์ บอกว่านี่คือ “โครงกระดูกในตู้ฉบับสามัญชน”
“โครงกระดูกในตู้” เป็นสำนวนฝรั่ง – Skeleton in the closet หรือสำนวนอังกฤษใช้ว่า skeleton in the cupboard เปรียบเปรยเหมือนความลับดำมืดน่าอาย ที่โดนซุกซ่อนไว้ภายในครอบครัว ประหนึ่งซ่อนศพไว้ในตู้เสื้อผ้า โดยไม่มีใครภายนอกรับรู้ ผ่านไปเนิ่นนานจนศพเหลือเพียงแค่โครงกระดูก
ถ้าจำไม่ผิด ม.ร.ว. คึกฤทธิ ปราโมช ผู้ที่ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เคารพนับถือได้เขียน โครงกระดูกในตู้ ขึ้นมาก่อนที่ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ จะเริ่มงานเขียนขบวนนี้ ไม่นาน และเป็นที่สนใจของใครต่อใครที่อยากรู้เรื่องราวต่าง ๆ นานาของคนในราชสกุล
แต่งานเขียนในลักษณะนี้ ก็ต้องทำใจไว้บ้างว่า บางเรื่องก็เป็นเรื่องเล่าต่อกันมา บางเรื่องผู้ใหญ่เล่าให้ลูกหลานฟัง อาจจะมีการเสริมแต่งเอาสนุก หรือเข้าข้างครอบครัวของตัวเอง หรือแอบแฝงเรื่องราวอื่น ด้วยอคติ โมหาคติ ฯลฯ
ดังนั้น การเอา “เรื่องเล่า” ไปอ้างอิงก็ควรค้นหาจากแหล่งอื่นให้รอบด้าน เพื่อตรวจทานความถูกต้อง หรืออย่างน้อย ก็ฟังความหลายฝ่ายหน่อย เป็นการป้องกันความลำเอียงจากผู้เล่าได้อีกชั้นหนึ่ง อย่างกรณี หม่อมเจ้า ฉวีวาด ปราโมช ที่ท่าน ม.ร.ว. คึกฤทธิเขียนถึงใน โครงกระดูกในตู้ ก็มีผู้ตรวจสอบความเป็นไปในประวัติศาสตร์ แล้วชี้ให้เห็นจุดไม่เหมือนความจริงหลายประการ (โปรดอ่านรายละเอียดที่ เว็บบอร์ดเรือนไทย)
ดังนั้นการอ่านเรื่องเล่าแบบ โครงกระดูกในตู้ จึงต้องทำความเข้าใจว่า เขียนขึ้นจากความทรงจำและจากการบอกเล่าของคนรุ่นก่อนหน้า หรือเขียนจากทัศนคติของผู้เขียนเป็นหลัก
เรื่องราวใน เงาของเวลา ย้อนอดีตไปสมัยที่ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ยังเด็กเล็ก อาศัยอยู่กับยายที่โพธาราม จังหวัดราชบุรี เพราะบิดาทำงานกรมชลประทานต้องออกไปตามไซต์งาน ไม่สะดวกให้ ’รงค์ ไปอยู่ด้วย การเล่าเรื่องไม่ใช่แค่การถวิลหาอดีต (Nostalgia) แต่ด้วยเงาตัวตนของเขาทอดยาวผ่านอะไรมากมาย จึงได้สะท้อนประสบการณ์และทัศนคติไว้ในการรำลึกความหลังของเขา ทั้งเรื่องชีวิตท่ามกลางสงครามโลกครั้งที่สอง และรัฐไทยในยุครัฐนิยมของจอมพลตราไก่
ผู้คนและบรรยากาศเหล่านั้น กลับคืนชีวิตชีวาด้วยลีลาการเขียนของพญาอินทรีย์ เรื่องราวในความทรงจำของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ หลายเรื่องคงประทับใจเขามากเอาการ บางตัวละครเหล่านั้น ก็ไปโลดแล่นอยู่ในหนังสือของเขามากกว่า ๑ เล่ม อย่างเช่นบางบท ที่พูดถึงคนสานถักงานไม้ผู้อยู่อย่างสันโดษนั้น เรื่องราวและลีลาการเขียนถึงแทบจะเหมือนกับลอกงาน (plagiarism) เสเพลบอยชาวไร่ แบบที่เรียกว่านำเรื่องเก่ามาปรับตัวอักษรไม่กี่ตัว (เสเพลบอยชาวไร่ ตีพิมพ์จำหน่ายก่อน ’รงค์จะเริ่มเขียนขบวนนี้ในลลนา) (เอาจริง เรารู้สึกว่า ’รงค์ “ทำซ้ำ” ตัวเองในหนังสือหลายเล่ม อย่างที่เปรยถึงใน เสียงพูดสุดท้าย ไว้ครั้งหนึ่งแล้ว)
แต่ไม่เป็นไร เราพร้อมจะเอาหูไปนาเอาตาไปไร่
การพาดพิงถึงรัฐนิยม ของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เรื่องการใช้ภาษาตัดทอนเสียใหม่ ความพยายามสร้างวัฒนธรรมไทยที่ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ สงสัยว่าของเก่าดั้งเดิมเรามีแบบนี้ด้วยหรือไร? จะเป็นวัฒนธรรมไทยได้อย่างไรในเมื่อไปลอกแบบฝรั่งมาทั้งดุ้น ทำให้นึกถึงที่เขียนถึงใน 1984 มีอะไรหลายอย่างที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำเนินการแล้วอดคิดถึง “พี่ใหญ่” ใน 1984 ไม่ได้ ทั้งการพยายามสร้างลัทธิบูชาบุคคล การสร้างความเชื่อ (ลวง) ความพยายามสร้าง “ภาษาใหม่” พอได้อ่านแล้วก็ เฮ้ย เคราะห์ดีจริงที่ท่านจอมพลตราไก่หมดอำนาจวาสนาลงไป
แต่เนื้อหาส่วนใหญ่ใน เงาของเวลา ยืนหยัดอยู่กับการเล่าเรื่องภายในครอบครัว อันมียายเป็นศูนย์กลางเป็นส่วนใหญ่ เรื่องของตา เรื่องของพ่อกับแม่ เครือญาติโกโหติกา และบรรดาชาวบ้านทั้งหลายไม่เว้นแม้แต่พระสงฆ์องค์เจ้าก็โดนนินทากล่าวถึง
แต่สิ่งที่เราได้จากการอ่านเรื่องราวในอดีตนี้ ทำให้เราจินตนาการถึงบรรยากาศชนบทได้บ้าง ยิ่งถ้าเคยอยู่ชนบทมาก่อน จะรู้สึกว่า นี่คือความคุ้นเคยที่ไม่ต่างกันมากนัก สำหรับสังคมคนคุ้นหน้ากันทั่วถ้วน ชีวิตเด็กที่วิ่งเล่นขี่ม้าก้านกล้วย เป็นเรื่องที่สนุกสนานปนเหนื่อยที่เคยผ่านมาแล้วจึงรู้สึกสนิทใจกับเรื่องเล่าในเล่มนี้ไม่น้อย
ข้อตำหนิในเล่มนี้ ไม่ได้อยู่ที่การเขียนของพญาอินทรีย์ แต่อยู่ที่การตรวจทานต้นฉบับ การพิสูจน์อักษรที่ย่ำแย่ ทำลายอรรถรสในการอ่านไปมากจนหงุดหงิดใจ และที่หงุดหงิดมากคือสำนักพิมพ์นี้ไม่ใช่หน้าใหม่ในแวดวงการพิมพ์หนังสือ ด้วยชื่อเสียงของ The Writer ควรรับประกันคุณภาพด้วยซ้ำ กลับประมาทเลินเล่อ พิสูจน์อักษรชุ่ยมากจนน่าสลดใจ
ด้วยส่วนตัวก็เข้าใจล่ะนะ ว่าการทำงานย่อมมีความผิดพลาดกันได้ แต่คนทำหนังสือควรจะตระหนักให้ดีกว่าการปล่อยอะไรชุ่ย ๆ ออกไปคือการประจานตัวเอง ถ้าผิดไม่กี่แห่งจะยังพออนุโลม แต่ในหนังสือเล่มนี้มันผิดหลายจุดเกินไป
ยกตัวอย่างเช่น
ได้แต่หวังว่าถ้ามีการพิมพ์หนังสือครั้งใหม่ จะพิสูจน์อักษรให้ดีกว่านี้
สำนักพิมพ์: The Writer’s Secret
จำนวนหน้า: ๓๒๔ หน้า ปกอ่อน
พิมพ์ครั้งที่ ๒ – มีนาคม ๒๕๖๐
ISBN: 9786167751979