เด็กชายหอยนางรม แปลมาจาก The Melancholy Death of Oyster Boy and Other Stories เป็นบทกวีของ ทิม เบอร์ตัน ที่สร้างสรรค์เรื่องตลกร้ายได้อย่างบาดลึก
การแปลเป็นศาสตร์และศิลป์ที่ยากและละเอียดอ่อนมาก เพราะผู้แปลจะต้องมีความรู้ทั้งภาษาต้นทางและภาษาปลายทางอย่างลึกซึ้ง ใครก็ตามที่หาญกล้ามาแปลหนังสือขายต้องทำใจว่ามีโอกาสโดนตำหนิ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เต็ม (ฮา…)
เป็นเรื่องยากระดับมากที่สุดที่จะทำงานแปลออกมาดีได้อย่างใจคนอ่านทุกคน เพราะถ้าเอาตามที่ควรจะเป็น นักแปล คือ คนที่ทำหน้าที่แปลความหมายจากผู้เขียนมาสู่คนอ่าน แต่ปัญหาสำคัญคือจะสื่ออย่างไร ให้ตรงกับที่ผู้เขียนตั้งใจ และสื่อถึงภาษาที่นักเขียนใช้ ยกตัวอย่าง นักเขียน เขียนว่า “กิน” คนแปลก็ต้องแปลว่า “กิน” ไม่ใช่แปลว่า “รับประทาน” หรือ “ตักอาหารใส่ปาก” หรือ ต้นฉบับบอกว่า หนีขึ้นไปบนต้น “เลมอน” เอามาแปลเป็น หนีขึ้นไปบนต้นมะนาว คนที่รู้จักต้นมะนาว (lime) แบบไทย ๆ ก็คงงง นึกภาพว่าต้นเตี้ย ๆ แบบนั้น จะหนีขึ้นไปนั่งบนกิ่งมันได้อย่างไร
ถ้านักเขียน (เช่น เอชพี เลิฟคราฟต์) ใช้ศัพท์ยาก ๆ ก็ควรใช้คำที่มีความหมาย ไม่ใช่แปลโดยอธิบาย ถ้าคิดถึงความตั้งใจของผู้เขียนว่าเขาอยากใช้คำบางคำที่คิดมาแล้วว่าต้องเป็นคำนี้ ซึ่งอาจจะเป็นคำยาก หรือ ไม่ใช่ภาษาปกติที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ผู้แปลต้องหาวิธีใช้คำที่สื่อถึงการเขียนต้นฉบับ
เด็กชายหอยนางรม
ถ้านักเขียน (เช่น เอชพี เลิฟคราฟต์) ใช้ศัพท์ยาก ๆ ก็ควรใช้คำที่มีความหมาย ไม่ใช่แปลโดยอธิบาย ถ้าคิดถึงความตั้งใจของผู้เขียนว่าเขาอยากใช้คำบางคำที่คิดมาแล้วว่าต้องเป็นคำนี้ ซึ่งอาจจะเป็นคำยาก หรือ ไม่ใช่ภาษาปกติที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ผู้แปลต้องหาวิธีใช้คำที่สื่อถึงการเขียนต้นฉบับ
งานแปลเป็นงานที่ยาก ระดับอภิอมตะมหานิรันดร์กาล การแปลให้ถูกใจใครทั้งหมดคงยาก ครั้งนี้จะยกหนังสือเล่มหนึ่งเป็นตัวอย่างที่น่าถกเถียงว่าคนแปล แปลความได้ดีหรือไม่ดี คือเรื่อง เดอะเมลันคอลีเดธออฟออยสเตอร์บอยแอนด์อัตเธอร์สตอรีส์ (The Melancholy Death of Oyster Boy and Other Stories)บทกวีของทิม เบอร์ตัน แปลโดยปราย พันแสง พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๔
จำได้ว่าเมื่อตอนอ่านสมัยพิมพ์ครั้งแรกวาดหวังเอาไว้สูง ด้วยคิดว่าผู้แปลจะรู้จักตัวตนของทิม เบอร์ตันเป็นอย่างดี เพราะเคยเขียนถึงทิมในคอลัมน์ (จำชื่อไม่ได้) ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ไม่ว่าครั้งนั้นเธอจะเขียนด้วยความชอบหรือเขียนเพราะกำลังศึกษาผลงานของทิมเพื่อแปลเรื่องนี้อยู่ ก็คงไม่ค่อยมีผลต่อการแปลครั้งนี้เท่าใดนัก เพราะเมื่ออ่านฉบับแปลฝีมือเธอแล้วรู้สึกแปลก ๆ ยิ่งเมื่อนำไปเทียบกับต้นฉบับแล้วรู้สึกถึงความขาด ๆ เกิน ๆ บางคำที่ต้นฉบับมีก็ตัดทิ้ง บางคำก็ใส่เข้ามาทั้งที่ต้นฉบับไม่ได้กล่าวถึง บางทีเรียงประโยคแปลกไปจากต้นฉบับทำให้หงุดหงิดรำคาญใจ
พยายามเอาใจไปใส่ในความคิดของผู้แปล บางทีอาจจะอยากเก็บความ (แต่ไม่เก็บคำ) เพื่อให้ได้เนื้อหาสาระอย่างที่ทิม เบอร์ตันตั้งใจนำเสนอ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด โปรดนึกถึง ตอร์ติญาแฟลต สำนวนแปลของ ประมูล อุณหธูป ที่เน้นสำนวนแบบเก็บความนำมาเรียบเรียงด้วยภาษาสละสลวยแบบนั้นจะบอกว่าว่าเป็นเรื่องผิดได้อย่างไร?
หรือจะเอาไปเทียบสำนวนแปลของ เพชร ภาษพิรัช จะเห็นได้ว่า มันต่างกันไปคนละทาง เราจะบอกได้อย่างไรว่าแปลแบบไหนคือสิ่งที่ควรเป็นเป็น?
ครูที่สอนเรื่องการแปลก็เคยสอนว่าการแปลต้องแปลเนื้อความจากต้นทางให้ผู้รับปลายทางเข้าใจได้อย่างดี ไม่ใช่แปลทื่อ ๆ ซึ่งก็มีกรณีที่ “แปลทื่อๆ ” แล้วอ่านแปลก ๆ แต่ผู้แปลบอกว่ารักษาอารมณ์ต้นฉบับ
แต่สำหรับ เด็กชายหอยนางรม นี้ต้องบอกว่าทำใจยอมรับยากจริงจริง
ที่แย่ที่สุดคือรู้สึกว่าปราศจากบรรยากาศของทิม เบอร์ตัน
ความรู้สึกส่วนตัว ต่อฉบับแปล
ฉบับแปลตั้งชื่อเรื่องว่า “เด็กชายหอยนางรม” จากชื่อเต็มของหนังสือเล่มนี้คือ The Melancholy Death of Oyster Boy and Other Stories คงจะมีเหตุผลอะไรหลายอย่าง เช่น หน้าปกลอกต้นฉบับมาทั้งดุ้นอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องเขียนชื่อเต็มก็ได้…หรืออาจจะมีเหตุผลอื่นเช่น “เด็กชายหอยนางรม” ก็แปลกและขายได้ในตัว แถมยังสั้น จำง่าย
ถึงแม้ว่าจะมีชื่อภาษาอังกฤษกำกับเอาไว้ แต่เห็นแล้วก็ยังเกิดความรู้สึกว่า คนแปลไม่เคารพต้นฉบับเท่าไหร่ รวมไปถึงไม่เข้าใจบรรยากาศภายในเนื้อหา – หรือจะว่าไป – ไม่เข้าใจบรรยากาศงานของ ทิม เบอร์ตัน
(สิ่งที่เขียนต่อไปนี้อาจจะไม่ถูกต้อง เป็นความรู้สึกส่วนตัวที่คิดแบบนี้จริง ๆ คือ) มันควรมีเหตุผลที่ตั้งชื่อเรื่องว่า The Melancholy Death of Oyster Boy & Other Stories แทนที่จะเป็น Oyster Boy เพราะจุดสำคัญของเรื่องอยู่ที่ ความตายของเด็กชายหอยนางรม ไม่ได้อยู่ที่ตัวเด็กชายหอยนางรม
วิธีและสาเหตุการตายของเด็กชายหอยนางรมต่างหากที่เป็นเนื้อหาสาระ
แต่เรื่องการแปลชื่อเรื่องก็ไม่ใช่เรื่องง่าย อันนี้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป อย่าง Harry Potter and the Philosopher’s Stone (หรือ Harry Potter and the Sorcerer’s Stone ในพากย์อเมริกา) พอมาเป็นภาษาไทยใช้ชื่อ แฮรี พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ มันก็ออกมาดูดีกว่า หินพ่อมด หรือ ศิลานักปราชญ์ มาก
หรือที่ คุณรงค์ วงษ์สวรรค์ เคยเขียนไว้ที่ไหนสักแห่งเกี่ยวกับการแปลชื่อนิยาย Call of the Wild ซึ่งพากย์ไทยหลายลีลา อย่าง “เสียงเพรียกจากพงไพร” (ชอบการแปลชื่อนี้มาก) แต่คุณรงค์ตั้งคำถามว่าดินแดนขั้วโลกมีแต่น้ำแข็งแบบนั้น ไม่ควรใช้ “พงไพร” แน่นอน น่าจะเป็นแดนเถื่อน ถิ่นกันดาร เสียมากกว่า
เรื่องแบบนี้ละเอียดอ่อนและต้องพินิจไตร่ตรอง
หน้าปกและชื่อเรื่องยังไม่ทำให้หงุดหงิดใจเท่ากับเมื่อได้อ่านเนื้อใน ซึ่งแปลขัดใจคนเคยอ่านต้นฉบับ (บางคน) มาก
ยกตัวอย่าง บทที่ชื่อ James
Unwisely, Santa offered a teddy bear to James, unaware that He had been mauled by a grizzly earlier that year
แปลว่า
ไม่ค่อยฉลาดเท่าไหร่ ที่ซานตาคลอสให้ตุ๊กตาหมีแก่เจมส์ ช่างไม่รู้เลยหรือว่า เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เจมส์เพิ่งถูกหมีใหญ่ตะปบตาเหวอะไปข้าง
รู้สึกตงิด ตั้งแต่ที่แปล unaware that…เป็น ช่างไม่รู้เลยหรือว่า
จะบอกว่าแปลผิดหรือไม่? ก็ไม่ผิด unaware คือ ไม่รู้ แต่อ่านต้นฉบับแล้วมันจะต้องมีสำเนียงหนักแน่นกว่าหน่อย คือ ซานตาคลอสน่ะไม่รู้ว่าเจมส์โดนหมีกรีซลีย์ขย้ำเอา พอใช้ภาษาไทยเป็น ช่างไม่รู้เลยหรือว่า ก็เลย เอ๊ะ! เพราะต้นฉบับน่ะ น่าจะสื่อว่า ซานตาคลอสให้เพราะไม่รู้ (เลยเป็นตลกร้าย) เวลาอ่าน “ช่างไม่รู้เลยหรือว่า” มันอ่านแล้วให้ความรู้สึกแบบตัดพ้อน้อยใจ หรือเราจะคิดไปคนเดียว? คือถ้าแปลแค่ ไม่รู้ว่าเมื่อต้นปีเจมส์โดนหมีตะปบ ยังรับอารมณ์จากต้นฉบับมากกว่า
อีกอย่าง ในต้นฉบับเขียนตรงไหนว่าตาเหวอะไปข้าง? (นอกจากในรูปประกอบ) แล้วทำไมถึงเอา “เมื่อต้นปีที่ผ่านมา” ขึ้นก่อน ในเมื่อเองไปไว้ข้างหลังก็ได้ความเหมือนกัน และเหมือนต้นฉบับ
ช่างไม่รู้เลยหรือว่า เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เจมส์เพิ่งถูกหมีใหญ่ตะปบตาเหวอะไปข้าง
กับ
ช่างไม่รู้เลยหรือว่า เจมส์เพิ่งถูกหมีใหญ่ตะปบตาเหวอะไปข้างเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
ส่วนต้นฉบับ อ่านแล้วได้อารมณ์ว่า
ให้โดยไม่รู้ว่าเจมส์เพิ่งโดนหมีขย้ำเมื่อต้นปีนี้เอง
(คืออ่านบรรยากาศของทิมแล้ว นึกภาพว่าซานตาคลอสไม่รู้ว่าเจมส์โดนหมีขย้ำมา เลยเอาตุ๊กตาหมีไปให้เจมส์ในวันคริสตมาส)
แต่คิดว่าผู้แปลคงมีเหตุผล เพราะการแปลมีความยากตรงที่ต้องเก็บใจความสำคัญของภาษาต้นทางเอามาใส่ภาษาปลายทาง โดยคนอ่านในภาษาปลายทางเข้าใจได้ง่าย เชื่อว่าเธอมีเหตุผลและไตร่ตรองรอบคอบดีแล้ว
เพียงแต่อดคิดไปอีกทางไม่ได้
การอ่าน เด็กชายหอยนางรม โดยที่เคยอ่าน The Melancholy Death of Oyster Boy & Other Stories มาก่อน ทำให้เกิดอาการสะดุดเป็นระยะ ความรู้สึกแบบนี้มันเกาะกินใจเวลาอ่านฉบับแปลภาษาไทย จนไม่อยากอ่านซ้ำ
ช่างเถอะ…
ทิ้งฉบับแปลไปดีกว่า
The Melancholy Death of Oyster Boy and Other Stories
กลับมาอ่านต้นฉบับ
บทกวีประกอบภาพจำนวน ๒๓ บท เล่าเรื่องแสนหวานและโศกนาฏกรรมของเด็กที่พิกลพิการน่ารังเกียจและน่าเห็นใจ
หลายคนเบือนหน้าหนี และบอกว่า นี่ไม่เหมาะกับเยาวชน!
แต่ความจริงมีอยู่ว่า บรรดานิทานสำหรับเด็กแต่ไหนแต่ไรมาก็โหดร้ายอยู่แล้ว!
จำได้หรือไม่ว่า “เด็กหญิงขายไม้ขีดไฟ” ประสบชะตากรรมสุดท้ายอย่างไร? ในเรื่อง “สโนไวท์” กับ “เจ้าหญิงนิทรา” เจ้าชายก็ไม่ต่างอะไรกับพวกโรคจิตที่ชอบมีเพศสัมพันธ์กับศพ “แจ็คผู้ฆ่ายักษ์” ก็คือหัวขโมยที่ลักทรัพย์แล้วฆ่าเจ้าทรัพย์!
นี่ยังไม่ได้เข้าไปล้วงลึกถึงต้นฉบับดั้งเดิม อย่าง “เจ้าหญิงนิทรา” ที่โดนเจ้าชายลักหลับจนท้อง แล้วก็คลอดลูกมาทั้งที่ยังหลับ จนเด็กที่เกิดมาดูดดื่มปลายนิ้วของนาง นั่นล่ะ คำสาปจึงสลาย…
แต่ในความโหดร้ายที่อ้างถึงนั้น ล้วนอธิบายถึงสิ่งที่เด็กต้องเผชิญในชีวิตจริงได้ทุกเรื่อง รวมถึง The Melancholy Death of Oyster Boy and Other Stories ของ ทิม เบอร์ตัน ด้วย
ความวิกล พิการ ขาดความรัก ความเข้าใจ ความใฝ่ฝันอยากจะเป็นวีรบุรุษ (แบบแปลก ๆ) ของเด็กเกิดขึ้นได้เสมอ สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานของเด็ก อย่างเช่น (สปอย!!!) เด็กชายหอยนางรม ต้องพบความตายที่น่าเศร้า เมื่อพ่อผู้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศใช้เขาเป็นเป็นอาหารเสริมกำลังทางเพศ (ภายใต้ความเชื่อว่าหอยนางรมเพิ่มพลังทางเพศ) โดยแม่ของเขารู้เห็นเป็นใจ จะว่าไปในโลกแห่งความจริง เรามีพ่อ-แม่ที่ทำร้ายลูกของตัวเองโดยเห็นว่าเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งจะทำอย่างไรก็ได้
ชีวิตมันเศร้าและแสนโหดร้าย ยอมรับความจริงกันเสียเถอะ
แต่ในความโหดร้ายของ ทิม เบอร์ตัน ก็ยังมีอะไรบางอย่างที่ทำให้รู้สึกว่ามีความหวังกับการมีชีวิตอยู่ในทางที่บิดเบี้ยวของแต่ละคน คือคนเรา (หรือตัวละคร) ไม่มีความสมบูรณ์แบบ แต่ละคนมีอะไรแปลก ๆ บ้าบอไม่เข้าพวก เป็นหนึ่งในพวกที่แปลกแยกจากสิ่งรอบข้าง แต่เราก็ยังใช้ชีวิตของเราต่อไปในแบบนั้นแหละ นี่คือหนังสือของ ทิม เบอร์ตัน – ความตายแสนเศร้าของเด็กชายหอยนางรม –
ใครที่ไม่มีหนังสือเล่มนี้ แต่อยากอ่านโปรดตามไปที่ลิงค์นี้ http://homepage.eircom.net/~sebulbac/burton/home.html