นิทานโกหกเยอรมัน เออ ก็สงสัยอยู่นิดหน่อยว่าทำไมเป็นนิทานแล้วยังตอกย้ำว่าเป็นนิทาน “โกหก” อยากอ่านเรื่องนี้มานานแล้ว รู้จักชื่อ บารอน ฟอน มึนช์เฮาเซ่น มาหลายสิบปีจากหนังสือค่ายต่วยตูน โดยคุณจินตวีร์ วิวัธน์ นักเขียนคนโปรด (และเคยเป็นบรรณาธิการนิตยสารต่วยตูนพิเศษ) เคยเขียนพาดพิงผ่าน ๆ ทำให้อยากอ่านเรื่องของ บารอน ฟอน มึนช์เฮาเซ่น บ้างแต่ก็ไม่มีโอกาส จนกระทั่งได้เห็นหนังสือ นิทานโกหกเยอรมันของบารอน ฟอน มึนช์เฮาเซ่น พระราชนิพนธ์แปล สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เล่มนี้
/
ที่สงสัยว่าทำไมถึงใช้ชื่อว่านิทานโกหก เพราะปกตินิทานก็เป็นเรื่องโกหกอยู่แล้วไม่ใช่หรือ? เนื้อหาคือเรื่องเล่าของ บารอน ฟอน มึนช์เฮาเซ่น ที่โลดโผนโจนทะยาน อย่างเช่นไปดวงจันทร์ ควบม้าครึ่งตัว บินขึ้นฟ้าโดยใช้ฝูงเป็ด และอีกหลายเรื่องซึ่งตั้งใจจะเล่าให้ขบขันเอาสนุกมากกว่าจะหลอกให้ใครเชื่อ
น่าจะเรียกนิทานขี้โม้มากกว่า
แต่เรื่องเหล่านี้คือ แฟนตาซีที่อ่านสนุก ลื่นไหล ยิ่งถ้าคิดว่าเรื่องเหล่านี้เขียนไว้ตั้งแต่ปีค.ศ. ๑๗๘๑–๑๗๘๓ สองร้อยกว่าปีที่แล้วยังอ่านสนุกในปัจจุบันอยู่เลย จำได้ว่าเคยอ่านจากที่ไหนสักแห่ง ยกย่องนิทานเรื่องนี้ว่าเป็นเทพนิยายก่อนเทพนิยาย คือเล่าเรื่องจากประสบการณ์จริงด้วยเรื่องเหลือเชื่อเหนือจริง
ตัวตนของท่าน บารอน ฟอน มึนช์เฮาเซ่น
ตัวท่านบารอนคนนี้มีตัวตนอยู่จริง ชื่อคือ ฮีโรนีมัส คาร์ล ฟริดดิก, ไฟร์แฮร์ ฟอน มึนช์เฮาเซ่น เคยทำงานรับใช้ ดุ๊กแอนโธนี อุลริช แห่งบรันสวิก ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของจักรวรรดิรัสเซีย ด้วยเหตุนี้เขาจึงติดตามเจ้านายไปร่วมรบในสงครามรัสเซีย – ออสโตร – ตุรกี ช่วงปีค.ศ. ๑๗๓๕ – ๑๗๓๙ และได้รับการแต่งตั้งเป็นทหารในกรมทหารม้ารัสเซีย และได้เป็นผู้บังคับกองร้อยประจำเมืองริกาของลัตเวีย ภายหลังได้รับยศถึงนายร้อยเอก (กัปตัน) หลังสงครามสิ้นสุดในปีค.ศ. ๑๗๓๙ เขาก็ยังรับหน้าที่รณรงค์ต่อต้านตุรกีอีกหลายปี และเกษียณออกมาในปีค.ศ. ๑๗๖๐ ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น ไฟร์แฮร์ แห่งจักรวรรดิโรมัน (เทียบเท่าชั้นบารอน)
และในช่วงเกษียณอายุนี้ เขาเริ่มเล่าประสบการณ์อันตื่นเต้นโลดโผนโจนทะยานระหว่างการรบ ให้บรรดาชนชั้นสูงในเยอรมนีได้รับฟังเพื่อความบันเทิงหลังมื้อค่ำ ซึ่งเรื่องที่ท่านเล่าก็ได้รับการกล่าวถึงแบบปากต่อปาก บรรดาชนชั้นสูงทั้งไกลใกล้ ต่างได้ฟังเรื่องที่ท่านเล่าก็เอาไปเล่าต่อ จนท่านกลายเป็นคนดังประจำเมือง มักจะได้รับการพบปะสังสรรค์เพื่อฟังเรื่องต่าง ๆ จากปากท่านเอง เรื่องที่ท่านมึนช์เฮาเซ่นเล่าคงมีการเสริมเติมแต่งเพื่ออรรถรสไปตามสมควร ซึ่งในตอนนั้นไม่มีใครคิดว่าท่านโกหก แต่เห็นว่าเป็น “น้ำจิ้ม” หรือว่าการตั้งข้อสังเกตด้วยอารมณ์ขัน
รูดอล์ฟ อิริช ราสเป นักเขียนเยอรมันเลยเอาเรื่องที่เขาเล่ามาเขียนต่ออีกทีแบบต่อเติมเสริมจินตนาการกว้างไกลไปกว่าเดิม คาดกันว่ารูดอล์ฟน่าจะเคยได้พบท่านมึนช์เฮาเซ่นมาแล้ว อาจจะเป็นที่มหาวิทยาลัยก็อตทินเงน หรืออาจจะเป็นแขกรับเชิญได้รับฟังเรื่องเล่าจากปากของท่านมึนช์เฮาเซ่นโดยตรง
นิทานโกหกเยอรมัน ของ บารอน ฟอน มึนช์เฮาเซ่น
เรื่องเหล่านี้ ตีพิมพ์เป็นตอนลงในนิตยสาร Vade mecum für lustige Leute (แปลเป็นไทยว่าคู่มือคนตลก) เป็นนิตยสารแนวบันเทิงเริงรมย์ในเบอลิน สมัยที่เผยแพร่ในปีค.ศ. ๑๗๘๑ ใช้ชื่อเรื่องว่า “M-h-s-nsche Geschichten” หรือ “เรื่องราวของ M-h-s-n” ไม่ได้ลงชื่อผู้เขียน โดยใช้กลวิธีเขียนราวกับเหมือนคนกำลังเล่าเรื่องตัวเองให้คนอื่นฟัง ซึ่งถึงไม่เอ่ยชื่อโดยตรง แต่คนก็นึกถึงท่านมึนช์เฮาเซ่นได้ไม่ยาก เพราะท่านเป็นที่รู้จักพอสมควร
ต่อมา ได้รวมเล่มเป็นภาษาอังกฤษครั้งแรกในปีค.ศ. ๑๗๘๕ ในชื่อ “เรื่องเล่าของบารอนช์มึนช์เฮาเซ่น เกี่ยวกับการท่องเที่ยวมหัศจรรย์และการรณรงค์ในรัสเซีย” ซึ่งใช้ชื่อ มึนช์เฮาเซ่นโดยตรง แต่สะกด Munchausen ไม่ใช่ Münchhausen อย่างชื่อของท่านบารอน และนิยายเรื่องนี้ก็ได้รับความนิยมจนนำไปแปลหลายภาษารวมทั้งภาษาเยอรมันบ้านเกิดของท่านมึนช์เฮาเซ่น
รูดอล์ฟ อิริช ราสเป เป็นนักเขียนที่มีผลงานมากมาย ทั้งด้านการเขียนเชิงศาสตร์ลุ่มลึกหลายอย่าง แต่ก็โดนจับได้ว่าขโมยผลงานคนอื่นมาบ้าง มีปัญหาเรื่องฉ้อฉลบ้าง โดนตำรวจเยอรมนีจับกุมก็เลยต้องเดินทางไปประเทศอื่นเพื่อหลบปัญหา เช่น โปแลนด์และอังกฤษ เป็นต้น
ซึ่งที่อังกฤษนี้ เขาได้ปักหลักฐานมั่นคงนำเสนอผลงานสม่ำเสมอ จนได้เป็นสมาชิกของ ราชสมาคมแห่งลอนดอน มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารของสมาคมหลายเรื่อง แต่โดนขับออกจากสมาคมด้วยพฤติกรรมฉ้อฉลต้มตุ๋นหลอกลวง หลังจากนั้นเขาก็ทำงานแปลหนังสือภาษาเยอรมันเป็นอังกฤษ และได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลปะและอื่น ๆ ออกมาอีกหลายเล่ม รวมทั้งเรื่องของบารอนมึนเฮาเซ่น ซึ่งมีเนื้อหาแฝงเร้นการเสียดสีสังคมชั้นสูงโดยไม่ออกนามผู้เขียน
จนกระทั่งรูดอล์ฟเสียชีวิตไปแล้วหลายปี จึงได้มีการเปิดเผยชื่อผู้เขียนหนังสือนี้ ในปีค.ศ. ๑๘๒๔
บารอน ฟอน มึนช์เฮาเซ่น กลายเป็นตัวละครที่คนอ่านรู้จักในฐานะนายทหารผู้ทะนงองอาจหาญกล้า ผู้เล่าการผจญภัยมหัศจรรย์เกินความจริงไปมาก ทั้งการเดินทางโดยขี่ลูกปืนใหญ่ การเดินทางไปพระจันทร์ การโดนปลายักษ์กินแต่รอดมาได้ โดยแสดงบุคลิกว่าเป็นคนมีเหตุผลและมั่นคงไม่ตื่นตระหนกตกใจง่าย ๆ เล่าเรื่องไปเรื่อย ๆ ซึ่งหลายครั้งมีความนัยเสียดสีสังคมอยู่บ้าง ความจริงใครอ่านก็น่าจะรู้ว่านี่เป็นเรื่องแต่งไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อท่านบารอนตัวจริง แต่ก็เกิดปัญหาเพราะทำให้ใครต่อใครเรียกท่านในอีกชื่อว่า บารอนจอมโกหก – Baron of Lies (เขียนมาถึงตอนนี้แล้วเลยนึก อ๋อออออออออ ในใจ มิน่าใช้ชื่อเรื่องว่านิทานโกหก จะล้อกับสมญานามของท่านบารอนนี่เอง)
ท่านมึนช์เฮาเซ่นตัวจริงไม่พอใจอย่างมากที่หนังสือเอาเรื่องที่ท่านเล่าไปล้อเลียน แถมไม่ใส่ชื่อผู้ประพันธ์แต่ใส่ชื่อท่านในชื่อเรื่อง ทำให้คนเข้าใจผิดว่าท่านเป็นคนเขียนเรื่องเหล่านี้เอง ก็เลยฟ้องร้องสำนักพิมพ์เพื่อให้ยุติการพิมพ์ แต่ไม่สำเร็จเท่าไหร่ ตัวรูดอล์ฟก็ไม่เคยออกมาแสดงตัวว่าเป็นผู้เขียน อาจจะเป็นเพราะกลัวท่านบารอนฟ้องร้องหรือโดยหมายหัวเอาได้
ในช่วงแรกรูดอล์ฟวาดภาพประกอบเองด้วย ตอนแรกจะวาดเป็นหนุ่มผอมบอบบาง แต่ภายหลังกลายเป็นคนมีอายุ จมูกโด่งไว้หนวด จนกลายเป็นเอกลักษณ์ตัวแทนของท่านบารอน ภายหลังยังมีคนอื่นหยิบเอาชื่อ บารอน ฟอน มึนช์เฮาเซ่น ไปใช้เป็นตัวละครดำเนินเรื่องในนิทานเรื่องอื่นอีก ทำให้ชื่อมึนช์เฮาเซ่นเป็นตัวละครอมตะอีกรายในโลกวรรณกรรมพื้นบ้าน มีสีสันน่าสนใจไม่น้อย
นิทานโกหกเยอรมัน ที่กลายเป็นวัฒนธรรมป็อป
ชื่อ มึนช์เฮาเซ่น โดนนำไปตั้งเป็นอะไรหลายอย่างเช่น มึนซ์เฮาเซ่นซินโดรม ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่บุคคลหนึ่งสร้างเรื่องหรือจินตนาการเรื่องราวเกินจริง หรือทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพ มึนช์เฮาเซ่นทริเลมมา คือการใช้ตรรกะที่ไม่มีทางเป็นไปได้ (เช่นท่านบารอนขี่ม้าลงบ่อน้ำ ท่านเลยช่วยตัวเองด้วยการดึงผมตัวเองขึ้นเพื่อหิ้วตัวเองออกจากบ่อน้ำ!!! หรือ มึนช์เฮาเซ่นนัมเบอร์ เลขจำนวนเต็มที่เท่ากับผลบวกของเลขแต่ละหลักยกกำลังเท่ากับตัวเลขในหลักนั้น เช่น 3435 = 3^3 + 4^4 + 3^3 + 5^5
ความโด่งดังของ บารอน มึนช์เฮาเซ่น ทำให้มีการดัดแปลงเรื่องราวไปทำเป็นบทละคร ละครเวที ละครวิทยุ เกมส์ ละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ เช่น Munchausen เมื่อปี ๑๙๔๓ สร้างโดยโจเซฟ ฟอน เบกี ชาวเยอรมันรักษาอารมณ์ขันของต้นฉบับได้อย่างน่าทึ่งรวมถึงผนวกสิ่งใหม่เข้าไป อย่างเช่นการเปิดไฟในห้อง ทั้งที่วันเวลาตามท้องเรื่องยังไม่รู้จักไฟฟ้ากันเลย
นอกจากนี้ยังมีเรื่อง Baron Munchausen (๑๙๖๑) The Adventures Of Baron Munchuasen (๑๙๘๙) เป็นต้น
อ่านเรื่องราวของ ท่านบารอน ในวิกิพีเดีย
ส่งท้าย
วกกลับมาที่หนังสือเล็กน้อย ไม่ชอบการจัดรูปเล่มและการทำภาพประกอบ เหมือนทำให้พ้น ๆ ไป เลือกรูปจากที่ต่าง ๆ กระจัดกระจายไม่มีเอกภาพเอาเสียเลย แต่ชอบที่เล่มนี้ใช้ตัวอักษรใหญ่ อ่านง่ายสบายตา
คนส่วนใหญ่อาจคิดว่าใช้ตัวอักษรใหญ่ไป แต่สำหรับคนที่ดวงตาเริ่มมีปัญหาแล้วการใช้ตัวอักษรใหญ่ชัดเจนแบบนี้เป็นเรื่องดีงามน่านับถือมาก ถ้าไม่ติดที่การเลือกรูปประกอบที่ทำลายอารมณ์และบรรยากาศแล้ว นิทานโกหกเยอรมัน เล่มนี้เป็นหนังสือที่เหมาะกับการอ่านทั้งในด้านความคลาสสิก และเนื้อหาไม่เครียด