ฅ คน

ฅ คน หรือ ฅอคน เป็นตัวอักษรที่หายไปจากการภาษาไทยในปัจจุบัน และดูจะเป็นคำที่มีคนเข้าใจผิดกันมากพอสมควร เพราะคิดว่า ฅ นี้ ใช้สะกดคำว่า คน บางท่านจึงนำไปใช้เป็น ฅน ทั้งที่เคยมีการอธิบายเมื่อนานมาแล้วว่า คำนี้ไม่ใช่ ฅน

ตั้งแต่สมัยเป็นเด็กอนุบาลก็ต้องท่องสระและพยัญชนะไทยให้ได้ทั้งหมด พยัญชนะไทยมีทั้งสิ้น ๔๔ ตัว ก็ต้องท่องไล่เรียงไปตั้งแต่ ก ไก่ ข ไข่ ค ควาย ฯลฯ จนไปถึง ฮ นกฮูกตาโต

ตอนนั้นก็เลยเกิดคำถามขึ้นมาว่า “ไอ้เจ้าตัว ฅ นี้ ทำไมต้องเรียก คอคนด้วย เพราะคำว่าคนก็ไม่เห็นเขียนด้วยตัว ฅ” สมัยนั้นได้คำตอบมาว่า “ก็เพราะแต่ก่อนเราเขียนคำว่าคนด้วยตัว ฅ แต่สมัยหลังเขียนด้วยตัว ค ควาย คนก็เลยไม่เป็นคน แต่กลายเป็นควายแทน” ก็ยังว่าแปลกดี แค่เปลี่ยนตัวอักษรก็ทำให้คนเปลี่ยนไปด้วย ถ้าเปลี่ยนจาก ค ควาย เป็น ป ปลาได้ คนก็คงจะกลายเป็นปลา หรืออะไรอีกต่าง ๆ นานาเท่าที่ตัวอักษรจะบันดาลให้เป็นไป

เมื่อโตจนถึงมัธยมก็ได้ความรู้ใหม่มาว่าแต่ก่อนตัวอักษรไทยก็เป็นเพียงตัวโดด ๆ เรียกตัว ก ตัว ข ตัว ค ฯลฯ กันเฉย ๆ นอกจาก “สอ” สามสอ จึงเรียกให้ต่างกันว่า ส ลอ ศ คอ ษ บอ เพิ่งมาเรียกเป็น ก ไก่ ข ไข่ ฯลฯ เอาเมื่อตอนสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นผู้กำหนดนี้เอง นั่นก็แสดงว่าแต่ก่อนคนไม่ได้สนใจว่า “ค” ไหนจะเป็นควายหรือเป็นคน

เมื่อทราบดังนี้แล้วก็สงสัยต่อไปว่า “แล้วแต่ก่อนเราเขียนคำว่า คน ด้วยตัว ฅ จริงหรือ” แล้วพ่อขุนรามคำแหงมหาราชอุตส่าห์ “ต่อยหิน” รูป ฅ ขึ้นมาเพื่อคำว่า “ฅน” เพียงคำเดียว ? หรือแม้แต่ตัว ฃ ขวดเองก็มีปัญหานี้เหมือนกัน

ปัจจุบันหนังสือของสำนักพิมพ์ผีเสื้อได้พยายามที่จะกลับมาใช้ตัว ฃ และ ฅ อีก

ฃ และ ฅ

ด้วยความอยากรู้อยากเห็นจึงได้ไปค้นคว้า หาคำที่ใช้ และ ฅ ก็เลยไปเจอ หนังสือ รวมศิลาจารึกในประเทศไทย โดยกรมศิลปากร ศึกษาเฉพาะ หลักศิลาจารึกหลักที่ ๑ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช

ก็ปรากฏว่า พบคำที่เขียนโดยใช้ ฃ ขวดทั้งสิ้น ๘ คำ คือ

  • ฃุน (ปรากฏ 14 ครั้ง)
  • ฃึ้น (ปรากฏ 2 ครั้ง)
  • เฃ้า (ปรากฏ 4 ครั้ง)
  • ฃวา (ปรากฏ 1 ครั้ง)
  • ฃาย (ปรากฏ 1 ครั้ง)
  • ฃ (ขอ) (ปรากฏ 1 ครั้ง)
  • ฃ้า (ฆ่า) (ปรากฏ 1 ครั้ง)
  • แฃวน (ปรากฏ 2 ครั้ง)

พบคำที่เขียนโดยใช้ตัว ฅ ทั้งสิ้น ๓ คำ คือ

  • ฅ้า (ปรากฏ 1 ครั้ง)
  • ฅวาม (ปรากฏ 3 ครั้ง)
  • ฅู้ม (คุ้ม) (ปรากฏ 1 ครั้ง)

และพบคำว่า “คน” ในความหมายว่า “มนุษย์” ทั้งสิ้น 8 ครั้ง ทั้งหมดเขียนโดยใช้ตัว ค ควาย (ไม่นับ “…เบื้องหัวนอนรอดคนที…” เพราะเป็นชื่อเมือง) นี่ก็แสดงให้เห็นว่าความเชื่อที่ปรากฏมาแต่เดิมไม่ถูกต้องเสียแล้ว เพราะคำว่า “คน” เขียนโดยใช้ตัว ค ควายมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ไม่เคยแม้สักครั้งเดียวที่จะใช้ตัว ฅ เขียนคำว่า “คน”

เมื่อข้องใจดังนี้แล้วก็เลยต้องไปถามนักภาษาศาสตร์ภาษาไทย ผู้รู้ทั้งหลายจึงวิสัชนาให้แจ้งว่า “สันนิษฐานว่าแต่เดิมเสียง ข ไข่ , ฃ ขวด และเสียง ค ควาย , ฅ ฅน น่าจะแตกต่างกัน แต่ภายหลังมีการเลือนของเสียงให้ใกล้กัน จนกลายเป็นเสียงเดียวกันในที่สุด”

เมื่อได้ทราบอย่างนี้แล้วก็น่าจะสรุปได้แล้วว่า การที่คนจะเป็นคนหรือเป็นควายนั้น น่าจะเป็นเพราะตัวตนกระทำเอาเองมากกว่า ส่วนตัวอักษรคงไม่สามารถบันดาลให้ใครเป็นควายเป็นนกไปได้

ฅ ฅน ไม่ได้หมายถึงคน

ความจริง สมัยที่เราเอ่ยปากท่องตัวอักษร ก ไก่ ข ไข่ ฃ ขวด ค ควาย นั้น คำว่า ฅ ในที่นี้ หมายถึง (ลำ)คอของคน ไม่ใช่ หมายถึงคน

ขอยกบทความของ ศาสตราจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ (ราชบัณฑิต) ก็แล้วกัน เขียนไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ในจุลสารอะไรสักฉบับข้าพเจ้าขออภัย เนื่องจากลืมไปแล้ว จะกลับไปค้น ด้วยจำได้คลับคล้ายว่าเป็นจุลสารของมหาวิทยาลัยไหนสักแห่ง แต่ก็นึกไม่ออก หาไม่เจอ


เวลานี้ได้มีบุคคลบางคนพยายามรณรงค์จะให้นำเอา ฃ ขวด และ ฅ คน กลับมาใช้ในการเขียนภาษาไทยอีก รวมทั้งคุณอดิศร เพียงเกษ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการด้วย ทั้งนี้ก็โดยเห็นว่าคำว่า “คน” น่าจะใช้ ฅ คน ไม่ใช่ ค ควาย เพราะคนไม่ใช่ควาย ในเมื่อเรามี ฅ คน ใช้อยู่แล้ว ทำไมจึงต้องใช้ ค ควายเขียนคำว่า “คน” ด้วย

ทำให้ข้าพเจ้านึกถึงคุณประยูร จรรยาวงศ์ ที่ท่านพยายามรณรงค์ในการเขียนคำว่า “คน” โดยใช้ ฅ คนแทน ซึ่งท่านก็ทำได้ เพราะท่านเขียนเอง แล้วก็เอาไปทำบล็อก

ข้าพเจ้าเคยได้รับคำถามอยู่เสมอว่า ตัว ฃ ขวด และ ฅ คนนี้ได้เลิกใช้ตั้งแต่เมื่อใด เพราะ ฃ ขวด พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานบอกไว้ว่า “พยัญชนะตัวที่ ๓ นับเป็นพวกอักษรต่ำ แต่เดี๋ยวนี้เลิกใช้แล้ว.” และที่ ฅ ฅน ก็บอกว่า “พยัญชนะตัวที่ ๕ นับเป็นพวกอักษรต่ำ แต่เดี๋ยวนี้เลิกใช้แล้ว.” เมื่อเลิกใช้แล้วก็น่าจะตัดออกจากพจนานุกรม ข้าพเจ้าก็ตอบไปว่า ที่ว่า “เลิกใช้แล้ว” นั้น มิได้มีประกาศเลิกใช้เป็นทางการ หากเลิกใช้ไปโดยปริยายตั้งแต่ประมาณรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมากกว่า

ทั้งนี้เนื่องจากพิมพ์ดีดภาษาไทยซึ่งได้จัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีว่าการกระทรวงธรรมการนั้น ด้านอักษรไม่พอที่จะบรรจุพยัญชนะ และสระ รวมทั้งเครื่องหมายวรรณยุกต์และเครื่องหมายวรรคตอนของไทยได้ทั้งหมด

จึงจำเป็นต้องตัดพยัญชนะ สระ และเครื่องหมายที่ให้น้อยออก ซึ่งรวมทั้งตัว ฃ ขวด และ ฅ ฅนด้วย ทั้งนี้เพราะคำทั้ง ๒ นี้ มีใช้น้อย และก็ยังไม่ค่อยได้มาตรฐานเท่าใดนัก

คน ไม่ได้เขียนด้วย ฅ

ที่บางคนคิดว่าคำว่า “คน” ในสมัยสุโขทัยนั้นต้องเขียนด้วย ” ฅ” ด้วยนั้น นับว่าเป็นความเข้าใจผิด ทั้งนี้เพราะในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหงนั้น คำว่า “คน” ใช้ ค ควายทั้งนั้น ดังในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ด้าน ๔ มีข้อความตอนท้ายสุดของศิลาจารึกหลักนั้น ดังนี้

“…พ่อขุนพระรามคำแหงนั้น หาเป็นท้าวเป็นพระญาแก่ไทยทั้งหลาย หาเป็นครูอาจารย์สั่งสอนไทยทั้งหลายให้รู้บุญรู้ธรรมแท้ แต่คนอันมีในเมืองไทยด้วยรู้ด้วยหลวก ด้วยแกล้วด้วยหาญ ด้วยแคะด้วยแรง หาคนจักเสมอมิได้ อาจปราบฝูงข้าเสีก มีเมืองกว้างช้างหลาย ปราบเบื้องตะวันออก รอดสระหลวงสองแฅว… ชอบด้วยธรรมทุกคนฯ”

ในศิลาจารึกด้านที่ ๔ นี้มีคำว่า “คน” อยู่ ๓ แห่ง ท่านใช้ ค ควายทั้งสิ้น ส่วนคำที่ใช้ ฅ คน นั้นมีอยู่เพียง ๓ คำคือที่ด้าน ๑ มีคำว่า “ฅวาม” ในข้อความว่า “จึ่งแล่งฅวามแก่เขาด้วยชื่อ” และ “มีถ้อยมีฅวาม” และอีกคำหนึ่งที่ใช้ ฅ คน คือ “ฅำ” ในความว่า “พ่อเชื้อเสื้อฅำ” ที่ด้าน ๒ ก็มีคำว่า “ฅวาม” เช่นกันในข้อความว่า “…เมื่อถามสวนฅวามแก่มันด้วยชื่อ” และที่ด้าน ๔ มีคำว่า “แฅว” ในความว่า “สระหลวง สองแฅว” รวมแล้วก็ปรากฏว่าในศิลาจารึกหลักที่ ๑ มิใช้ ฅ คนมี ๓ คำคือ “ฅวาม” “ฅำ” และ “แฅว” เท่านั้น

จำนงค์ ทองประเสริฐ

อ้าว แบบนี้ ที่เข้าใจว่า ฅ หมายถึง (ลำ)คอของคน ก็น่าจะผิดด้วย แต่ที่ท่องกันมาแต่โบราณนั้น เป็น (ลำ)คอของคนจริง ๆ นะ ฅอคน มาจาก คอ (อวัยวะหนึ่ง)

ส่วน ฃ ขวดมีใช้หลายคำ คือคำว่า “ฃึ้น” “เฃ้า” ที่เป็นกริยา “ฃุน” “ฃาย” “แฃวน” “หมากฃาม” “เสียงฃับ” (ภู) เฃา” รวม ๘ คำ คำว่า “ฃุน” ซึ่งหมายถึงผู้เป็นใหญ่นั้นใช้ ฃ ขวดทุกแห่ง เช่น “ลูกเจ้าลูกฃุน” “ฃุนสายชน” “ฃุนรามคำแหง” “ฃุนพระรามคำแหง” คำว่า “เฃ้า” ที่เป็นกริยาใช้ ฃ ขวด เช่น “เกลื่อนเฃ้า” “กูขับเฃ้า” “เฃ้าเวียง” “เฃ้ามา” ถ้า “เฃ้า” ใช้เป็นคำนาม แปลว่าปีนั้นใช้ ข ไข่ เช่น “สิบเก้าเข้า” “สิบสี่เข้า” “หกเข้า” และ “สามเข้า” คำว่า “เขา” ถ้าเป็นคำนามอันหมายถึง ภูเขา ท่านใช้ ฃ ขวด เช่น “ในเฃาอันนั้น” “ผีในเฃาอั้น” ซึ่งอยู่ในด้าน ๓ ของศิลาจารึก

คำว่า “ขับ” ถ้าหากหมายถึงกิริยาอย่างขับไล่ ก็ใช้ ข ไข่ เช่น กูขับเข้าก่อนพ่อกู” แต่ถ้าหมายถึง “ขับร้อง” ก็ใช้ ฃ ขวด เช่น “เสียงเลื่อนเสียงฃับ”

เมื่อเปิดหนังสือ “อักขราภิธานศรับท์” ของ หมอปรัดเล ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. ๑๘๗๓ ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๑๖ ก็พบคำที่ใช้ ฃ ขวด ได้แก่ “ขิก, ขุก ๆ , ขุกขัก, ขุกค่ำขุกคืน, เขกหัว, เขกโขก, แขกทั้งหมด, โขก, ขอกรั้ว, ขงจู๊ และ ขัง” เฉพาะคำว่า “ขัง” พอเป็นลูกคำ เช่น ขังไก่ ขังคน ฯลฯ ใช้ ข ไข่ทั้งหมด คำว่า “ข้าง” ใช้ ฃ ขวดก็มี ข ไข่ก็มี “ขิง, ขึง, ขึ้ง เข่ง, แขง, แข่ง, แข้ง, โขง, โข่ง, ของรวมทั้งลูกคำ ยกเว้น “ของสงฆ์” ใช้ ข ไข่ ซึ่งยังไม่มีเอกภาพเลย ส่วน ฅ นั้นมีใช้น้อยมาก แม้แต่คำว่า “คน” ก็ใช้ ค ควาย ที่ใช้ ฅ ก็คือ “คอของคน ลำคอ และ คอหอย” เท่านั้น อย่าง “ห่าหักฅอ” ก็ใช้ ฅ

จำนงค์ ทองประเสริฐ

อ้อ ที่ท่องมาว่า ฅอ คน ฅอคน มาแบบนี้เอง

ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าการจะหันกลับไปใช้ ฃ และ ฅ อีกนั้น จะเอาอะไรเป็นหลักในการที่จะกำหนดว่าเมื่อใดใช้ ฃ ขวด และเมื่อใดใช้ ฅ แต่ที่พจนานุกรมยังคงเก็บ ฃ ขวด และ ฅ ไว้ก็เพื่อรักษาประวัติความเป็นมาของอักษรไทย เพราะถ้าหากตัด ๒ คำนี้ออกไป ต่อไปอีกสัก ๕๐ – ๖๐ ปี อนุชนรุ่นหลังมาพบคำว่า ฃ ฅ ในหนังสือเก่า ๆ ก็จะไม่ทราบว่าเป็นมาอย่างไร อาจคิดว่าคนโบราณเขียนผิดก็ได้.

จำนงค์ ทองประเสริฐ

ก็หวังว่าจะเข้าใจกันแบบนี้ ว่าไม่จำเป็นต้องสะกดคำว่า คน ด้วย ฅน

Published by

Unnamed Sheep

The Lord is my shepherd, I shall not want He makes me down to lie Through pastures green He leadeth me the silent waters by With bright knives, he releaseth my soul

แสดงความคิดเห็นCancel reply

Exit mobile version