ก็องดิด หรือ Candide เป็นหนังสือนวนิยายแนวปรัชญาของ วอลแตร์ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปีค.ศ. ๑๗๕๙ โดยเนื้อหาของเรื่องนี้แสดงความคิดไม่เห็นด้วยกับหลักปรัชญาสุทรรศนิยม (optimism) ของ ก็อทฟรีท วิลเฮ็ล์ม ไลบนิทซ์ (Gottfried Wilhelm von Leibniz) ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนความคิดใหม่ หรือ นวยุค (Modern paradigm) หรือยุคที่เริ่มเกิดความเชื่ออย่างใหม่ที่ไม่ยึดติดกับศาสนามากนัก โดยมุมมองของสุทรรศนิยม คือมองว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนเป็นสิ่งดี
ก็องดิด
ปรัชญนิยายโดย วอลแตร์
แปลโดย วัลยา วิวัฒน์ศร
แต่ในวอลแตร์แทรกความคิดผ่านปากก็องดิดว่า “มันก็คือความบ้าที่จะยืนยันว่าทุกสิ่งทั้งปวงเป็นไปด้วยดี ทั้ง ๆ ที่มีแต่ความเลวร้าย”
มีบทความแสดงคุณค่าของปรัชญนิยายเรื่องนี้ โดย วัลยา วิวัฒน์ศร ผู้แปล- รวมอยู่ตอนท้ายของนิยายเรื่องนี้อยู่แล้ว (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๕ สำนักพิมพ์มติชน มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๖) ดังนั้นจะไม่เขียนถึงว่าเป็นอย่างไร โปรดอ่านด้วยตัวท่านเองเทอญ
แต่ในมุมมองส่วนตัว สิ่งที่ยังค้างคาอยู่ในใจคือ เมื่อครั้งที่ลองอ่านครั้งแรกเมื่อเกือบสามทศวรรษที่แล้ว ฉบับแปลโดย วัลยา วิวัฒน์ศร นี่แหละ แต่พิมพ์กับสำนักพิมพ์ผีเสื้อ สมัยนั้นออกจะไม่ได้คิดอะไรมาก รู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้ออกจะโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) คือ แสดงความตั้งใจจะหักล้างแนวคิดสุทรรศนิยมมากเกินไปหน่อย ทำให้เกิดความรู้สึกว่ามันจงใจยัดเยียดเกินไป
เป็นความรู้สึกแบบเดียวกับเมื่อตอนที่ได้อ่าน อวสานการยุทธ์ เล่มสุดท้ายของนิยายชุด นาร์เนีย ความจงใจยัดเยียดความเชื่อมากเกินไปของผู้เขียนทำให้ความชื่นชอบที่มีต่อหนังสือในนิยายชุดนี้ทั้ง ๖ เล่มก่อนหน้านั้นหายไปหมด
นิยาม โฆษณาชวนเชื่อ – การสื่อสารในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อชักจูงความคิด วิสัยทัศน์ ของประชาชน (หรือผู้รับ) โดยนำเสนอเหตุผลเพียงบางด้านที่เป็นประโยชน์ตรงต่อความต้องการของผู้สื่อสาร โดยมักทำซ้ำและกระจายไปอย่างขว้างขวาง
ซึ่งไม่ใช่เรื่องเสียหาย อย่าง ฟาร์มสัตว์ หรือ 1984 ก็เป็นโฆษณาชวนเชื่อในรูปแบบหนึ่งตามนิยามข้างต้น
หากจะพิจารณาตามนิยามนั้น ก็องดิด ก็คือโฆษณาชวนเชื่อของวอลแตร์ ที่พยายามยัดความคิดของเขาว่าลัทธิความเชื่อทางสุทรรศนนิยมนั้นไม่ดีอย่างไร
หยิบมาอ่านอีกครั้งหลังผ่านไปนับสิบปี เป็นอย่างไร?
ก็องดิด – การมองโลกแง่ดีมันไม่ดีอย่างไร?
ใน ก็องดิด สื่อว่าลัทธิสุทรรศนนิยม (Optimism) ซึ่งวางรากฐานแนวคิดไว้โดยไลบนิซ เป็นสิ่งผิด แนวคิดว่า “ทุกสิ่งที่เกิดมาในโลกนี้ล้วนดีอยู่แล้วด้วยพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า” ไม่น่าจะถูกต้อง และวอลแตร์ก็สร้างตัวละคร อาจารย์ปองโกลศ (Pangloss) ให้เป็นตัวแทนความเชื่อสุทรรศนนิยม นั้น
อาจารย์ปองโกลศ
อาจารย์ปองโกลศ เป็นนักปรัชญาผู้เปรียบเสมือนครูของก็องดิด และอาจจะเป็นตัวละครสมมติที่วอลแตร์ตั้งใจกระทบไลบนิซ ท่านอาจารย์ปองโกลศ คือผู้ที่แสดงความเห็นในแง่ดีต่อสิ่งเลวร้ายทุกสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะมีความเชื่อว่า ทุกสิ่งในโลกนี้ดีและสมบูรณ์แบบเพราะว่าพระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพได้ทรงสร้างขึ้นมา สิ่งที่คิดว่าเลวร้ายนั้น แท้จริงไม่ได้เลวร้าย แต่ว่าเป็นเพราะมนุษย์ไม่เข้าใจความซับซ้อนของพระเจ้าจึงทำให้คิดว่ามันเลวร้าย แต่ถ้าเข้าถึงแล้วจะรู้ว่ามันเป็นสิ่งที่ดีที่เกิดขึ้น
แต่วอลแตร์คงมีความเห็นว่า การมองว่าทุกสิ่งดีอยู่แล้ว เป็นทัศนคติที่ทำให้วางเฉยต่อสิ่งที่ผิดที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา เพราะคิดว่าไม่มีความจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดขึ้น เขาจึงได้สร้างสถานการณ์เพื่อให้ก็องดิดและท่านอาจารย์ต้องพบหรือเป็นประจักษ์พยานต่อสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้น เพื่อให้ท่านอาจารย์ปองโกลศแสดงความคิดในแง่ดี เพื่อให้คนอ่านเกิดความรู้สึกในทางตรงข้าม อย่างเช่น การปล่อยคนจมน้ำตายเพราะ “มันเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น เพื่อเป็นสิ่งที่ดี”
อาจารย์ปองโกลศรักษาปรัชญาการมองโลกในแง่ดีของเขาไว้ โดยการจงใจเพิกเฉยต่อหลักฐานใด ๆ ที่ขัดกับความเชื่อของเขา และสร้างข้อโต้แย้งที่ไร้เหตุผลเพื่อสนับสนุนความคิดของเขา วอลแตร์เพิ่มเติมทัศนคติบิดเบี้ยวและเกินจริง …แม้ติดเชื้อกามโรค ท่านอาจารย์ปองโกลศก็ยังคิดว่าเป็นเรื่องดี
“นี้เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับโลกที่ดีที่สุดนี้ต่างหาก มันเป็นส่วนผสมที่ขาดไม่ได้ทีเดียว แม้โรคภัยนี้จะวางยาต้นกำเนิดแห่งเผ่าพันธุ์ และบ่อยครั้งทำให้สูญพันธุ์ รวมทั้งเป็นเครื่องกีดขวางจุดประสงค์ของธรรมชาติที่กำหนดให้มนุษย์สืบพันธุ์ก็ตาม แต่ถ้าโคลัมบัสไม่ได้ไปรับเชื้อมาจากเกาะแห่งหนึ่งในทวีปอเมริกาแล้วไซร้ เราคงไม่มีช็อคโกแลตกิน และไม่มีแมลงโคชินีล ซึ่งให้สีม่วงชาดสำหรับวาดภาพ…”
ปองโกลศ
อาจารย์ปองโกลศมองโลกในแง่ดีได้ปานนั้น
นี่คือทัศนะของวอลแตร์ที่มีต่อลัทธิสุทรรศนนิยม ซึ่งดูจะเป็นการเสียดสี ไลบนิซ อย่างจงใจ เขาเขียนถึงความสัมพันธ์ระหว่างหลักการที่เป็นนามธรรมกับผู้คนที่ยึดถือหลักการเหล่านี้ ในช่วงต้นเรื่อง วอลแตร์อาศัยก็องดิดแสดงให้เห็นถึงความไร้ปัญญา งมงายของทั้งฝ่ายผู้บริหารประเทศและศาสนา ซึ่งเป็นการแสดงสังคมศตวรรษที่ ๑๘ ให้ผู้อ่านตระหนักถึงการตีความตาม “หลักการ” อันเป็นนามธรรม ซึ่งส่งผลต่อวิจารณญาณของก็องดิดในทางใดทางหนึ่ง ช่วงกลางศตวรรษที่ ๑๘ นั้นมีความรุนแรงครั้งใหญ่หลายอย่าง เช่น แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เมืองลิสบอนในปี ค.ศ. ๑๗๕๕ (https://en.wikipedia.org/wiki/1755_Lisbon_earthquake) สงครามเจ็ดปีซึ่งขยายขอบเขตไปไกลทั่วยุโรป (https://en.wikipedia.org/wiki/Seven_Years%27_War) มุ่งประเด็นไปที่หลักการของไลบนิซ ซึ่งยืนยันว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้หากไม่มีเหตุผลว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ผลที่ตามมาของหลักการนี้คือความเชื่อที่ว่า “สิ่งต่าง ๆ ควรเป็นอย่างที่มันเป็น เพราะทุกอย่างเป็นไปเพื่อสิ่งที่ดีที่สุด”
โลกที่สวยงามนั้นไม่มีอยู่จริง
นอกจากลัทธิสุทรรศนนิยมแล้ว วอลแตร์ยังเสียดสีศาสนจักรและรัฐฯ โดยวางบทบาท “ตัวร้าย” ก็องดิดพบการตัดสินที่ไม่เป็นธรรม โดนเกณฑ์และถูกทารุณกรรมในกองทัพของกษัตริย์บัลแกเรีย พบผู้นำศาสนาที่หน้าซื่อใจคด เช่น หนึ่งในนักบวชคณะฟรันซิสกันเป็นหัวขโมยอัญมณี ทั้งที่ถือวัตรปฏิบัติตามแบบที่นักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซี นั่นคือเป็นคณะนักบวชภิกขาจาร หรือถือครองความยากจนไม่ครอบครองสินทรัพย์ระงับความโลภ หรือผู้ทำทางศาสนาที่กดขี่ผู้มีความเชื่อแตกต่างอย่างไร้มนุษยธรรม การตัดสินใจเผาคนสักสองสามคนทั้งเป็นให้ตายช้า ๆ เพื่อทำพิธีอันยิ่งใหญ่ป้องกันแผ่นดินไหว นักบวชและครองอำนาจรัฐใช้อำนาจหน้าที่หาผลประโยชน์ทางเพศจากผู้หญิง
สิ่งหนึ่งที่น่าสังเกตคือ ตัวละครหญิงสำคัญในเรื่องทั้ง ๓ คนโดนข่มขืน วอลแตร์ใช้เรื่องราวของผู้หญิงเหล่านี้เพื่อแสดงให้เห็นถึงอันตรายพิเศษที่มีแต่ผู้หญิงเท่านั้น แต่ที่อันตายกว่าคือความมืดบอดของผู้คนต่อสิ่งที่เกิดขึ้นกับสตรี ตัวละครชายในนวนิยายให้ความสำคัญกับพรหมจรรย์ แต่ก็มีเหตุให้หญิงเหล่านั้นรักษาพรหมจรรย์ไว้ไม่ได้ อาจจะเป็นทัศนคติหนึ่งของวอลแตร์ที่มีต่อสังคมในสมัยนั้น ทั้ง การปล้น การประหารชีวิตอย่างไม่ยุติธรรม โรคภัย แผ่นดินไหว การทรยศ และความริษยาที่นำมาสู่การทำลาย
จากนั้นกลางเรื่องก็นำก็องดิดไปสู่โลกในฝันของนักปรัชญาบริสุทธิ์บางท่าน (เช่นรุสโซ) เพื่อชี้ให้เห็นว่าโลกในฝันนั้นมีสิ่งไม่อภิรมย์ ป่าเถื่อน หรือไม่ก็ดีเกินไป ดังเช่นผู้คนในนครเอลโดราโด ซึ่งอาจจะเป็นการบอกโดยนัยความความดีงามแท้จริงไม่มีอยู่ในโลก สุดท้ายกลับมาสู่โลกความเป็นจริง พร้อมกับเจริญเติบโตทางปัญญา (ตามที่วอลแตร์เห็นว่าถูกต้อง) และด้วยทรัพย์สมบัติที่ขนมาจากเอลโดราโด ทำให้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับก็องดิดบางเบาไปได้ด้วยอำนาจเงินตราและการติดสินบน การฉ้อโกง
ท้ายที่สุดแล้ว ก็องดิด ให้เราทำสวน
การตัดสินใจที่จะไปทำสวน กับประโยคที่เหมือนบทสรุปชีวิตของก็องดิดว่า “จงทำสวนของเราไป” ทำให้พวกเขามีความสุข
ถ้าหากจะมองว่า ก็องดิด ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าการเย้ยหยันผู้คนที่ทัศนคติไม่ตรงกับเขา ก็อาจจะเป็นการด่วนสรุปเกินไป แต่การโฆษณาชวนเชื่อให้คนหันมาเชื่ออย่างที่เขาเชื่อ ก็ทำให้คนอ่านได้ตั้งคำถามว่า เรา-ยังไว้วางใจต่อระบบความเชื่อต่างๆ ได้หรือไม่? ทั้งสถาบันศาสนา ปรัชญา นักการเมือง ผู้ชี้นำทางสังคม หรือแม้แต่-ยังเชื่อมั่นความเป็นมนุษย์ในตัวผู้อื่นได้หรือไม่?-
สุดท้ายแล้ว วอลแตร์อาจจะอยากบอกเพียงว่า “จงทำสวนของเรา” คือทำงานของตัวเองไป อย่าไปคิดหรือยุ่งเกี่ยวกับอะไรอื่น แค่ทำหน้าที่ของเราในฐานะฟันเฟืองเล็ก ๆ ที่ช่วยให้สังคมหมุนเคลื่อนไปเท่านั้น
อ่านเรื่องย่อ และอื่น ๆ ได้ที่ วิกิพีเดีย (ไทย)