The Incredible Adventures of Professor Branestawm ของ นอร์แมน ฮันเตอร์ (Norman Hunter) หรือ ศาสตราจารย์สมองใส ฉบับแปลโดย ครรชิต มาลัยวงศ์ นี้เป็นหนังสือที่มีอิทธิพลต่อชีวิตข้าพเจ้าตามสมควร เพราะเล่มนี้เป็นหนังสือ (ที่ไม่ใช่หนังสือการ์ตูน) เล่มแรกในชีวิตที่ซื้อเอง
ดีใจที่ซื้อเล่มนี้ เพราะถ้าหากว่าอ่านไม่สนุกก็คงไม่อยากซื้อหนังสืออื่นมาอ่านต่อ ตอนที่ซื้อเล่มนี้ ยังเด็กอยู่เลย และเป็นหนังสือที่ปัจจุบัน นาน ๆ ทีก็ยังหยิบขึ้นมาอ่าน
นอร์แมน ฮันเตอร์ เป็นนักจัดรายการวิทยุสำหรับเด็กประจำสถานีวิทยุบีบีซี ได้เขียนเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๓๓ เล่าเรื่องราวสนุก ๆ ของ ศาสตราจารย์เบรนสตอว์ม นักประดิษฐ์ผู้ชาญฉลาดแห่งหมู่บ้านแพ็กเวลล์ เดิมทีเขียนเพื่อเล่าในรายการของสถานีวิทยุบีบีซี ต่อมาทำเป็นหนังสือ
ซึ่งในตอนเปิดตัวท่านศาสตราจารย์ นอร์แมน ฮันเตอร์ อธิบายภาพลักษณ์ของท่านไว้ว่า
“ท่านศาสตราจารย์เบรนสตอว์ม, เหมือนกับผู้ยิ่งใหญ่ท่านอื่น มีรสนิยมเรียบง่าย สวมเสื้อเรียบง่ายกับกางเกงสองขาเรียบง่าย เสื้อโค้ทของเขามีเข็มกลัดติดเอาไว้เพราะกระดุมมักจะกระเด็นหาย ศีรษะของเขาล้านจนเป็นประกายสดใสฉายแสงเหมือนสิ่งอื่น ๆ ที่สะท้อนแสงอาทิตย์ มีแว่นตาห้าอัน อันแรกสำหรับอ่านหนังสือ อันหนึ่งสำหรับเขียน อันหนึ่งสำหรับใส่นอกบ้าน อันหนึ่งเอาไว้มองลอดแว่นตามองคุณ และอันที่ห้าเอาไว้มองหาแว่นตาอันอื่นที่มักจะหายเสมอ”
— นอร์แมน ฮันเตอร์, ศาสตราจารย์สมองใส
ความสนุกของเรื่องก็คือ ความช่างคิดประดิษฐ์ระดับอัจฉริยะของท่านศาสตร์จารย์ที่มักจะได้ผลลัพธ์แปลก ๆ กลับมาเพราะว่าท่านขี้ลืม
ท่านศาสตราจารย์ของเราเป็นคนขี้ลืมขนาดหนัก เพราะสมองท่านเอาไว้ใช้ในการประดิษฐ์สิ่งน่าทึ่งหลายอย่าง เช่น เครื่องยึดกางเกง ไม่ให้กางเกงหลุด เครื่องดักขโมย เครื่องทำแพนเค้ก ไปจนถึงเครื่องจักรย้อนเวลา (Time Machine) เป็นคนที่สื่อสารกับคนทั่วไปยาก เพราะมัวแต่คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ เช่น เดินลงสระว่ายน้ำเพราะกำลังคิดหาทางไปห้องสมุด แต่พอไปห้องสมุดกลับขอซื้อขนมปัง! แต่ท่านก็ไม่ได้เป็นพิษภัยอะไรกับใคร แม้จะมีคนเจ็บตัวจากสิ่งที่ท่านประดิษฐ์ขึ้นมาบ้าง เพราะความขี้หลงขี้ลืมของท่านทำให้สิ่งประดิษฐ์ของท่านมีอันต้องผิดเพี้ยนไปจากที่ตั้งใจ
สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดเป็นเรื่องฮา ๆ และการผจญภัยแบบน่ารักของท่านศาสตราจารย์กับเพื่อนสนิทคือนายพันเอกเดดช็อตต์ นายทหารผู้กล้าหาญ ไม่เคยพลาดรถไฟ ศัตรู หรือโอกาสที่จะตกอยู่ในอันตราย! และแม่บ้าน คุณฟลิตเตอร์สนูป ผู้ดูแลบ้านของทางศาสตราจารย์อย่างดี เอาแค่เรื่องการยืมและคืนหนังสือห้องสมุดยังเป็นเรื่องสนุกได้ เพราะท่านศาสตราจารย์เบรนสตรอมยืมหนังสือเรื่องเดียวกันจากห้องสมุด ๑๔ แห่ง! ด้วยเหตุจากความขี้ลืมของท่านนี่แหละ
บุคลิกของศาสตราจารย์สติเพื่องในนิยายสำหรับเด็กอาจจะมีหลายคน แต่ท่านศาสตราจารย์เบรนสตรอมน่ารักเป็นพิเศษ ความกระตือรือร้นในการทดลองใหม่ ๆ เหมือนกับธรรมชาติของเด็กที่ปฏิบัติจะเดินตามความคาดหวังของผู้ใหญ่ เชื่อว่า ท่านศาสตราจารย์ก็คือเด็กในชีวิตจริง ที่มีความไร้เดียงสา มีความกล้าหาญ ค้นหาสิ่งแปลกใหม่ ไม่กลัวความผิดพลาด ใช้ชีวิตไปกับการผจญภัยที่ผู้ใหญ่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ใหม่ ๆ เป็นผู้ใหญ่ทำตัวเหมือนเด็กโดยไม่มีใครดุ
แต่ในอีกด้าน บางเรื่องก็อาจจะไม่น่ารัก ถ้ามีคนจริงจัง อย่างเช่น ท่านระเบิดทหารต่างชาติจำนวนมากเพียงเพื่อความสนใจใคร่รู้ของท่าน แต่ก็เหมือนกับนิทานสำหรับเด็กในอดีต เหมือนกับเรื่องของ ทิม เบอร์ตัน เหมือนกันเรื่องของ โรอัลด์ ดาลห์
เรื่องสำหรับเด็ก มักจะแฝงความโหดร้ายไร้เดียงสาอยู่เสมอ
The Incredible Adventures of Professor Branestawm ออกเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๓๓ ตามมาด้วย Professor Branestawm’s Treasure Hunt ปี ค.ศ. ๑๙๓๗ และเป็นช่วงไปนาน เพราะ นอร์แมน ฮันเตอร์ ย้ายไปอยู่ในแอฟริกาใต้และไม่ได้เขียนหนังสือเลยในช่วงปีค.ศ. ๑๙๔๙ ถึง ๑๙๗๐ แต่เมื่อเขากลับมาอังกฤษเขาก็กลับมาเขียนหนังสืออีกครั้ง รวมทั้งปล่อยตอนต่อของศาสตราจารย์เบรนสตรอมให้อ่านกัน จึงออกเล่มที่ ๓ คือ The Peculiar Triumph of Professor Branestawm ปี ค.ศ. ๑๙๗๐ และตามออกมาอีกเรื่อย ๆ รวมทั้งสิ้นมี ๑๓ เล่ม
และสิ่งน่ารักอีกอย่างในหนังสือเล่มนี้ก็คือภาพประกอบ
เล่มแรกเป็นฝีมือ ดับเบิลยู ฮีธ โรบินสัน นักวาดรูปที่สร้างสรรค์ภาพท่านศาสตราจารย์และสิ่งประดิษฐ์ทั้งหลายได้อารมณ์ขัน เล่มที่สองเป็นฝีมือจอร์จ อดัมสัน เป็นหนังสือที่ชอบที่สุดจนถึงทุกวันนี้ ไม่มีพิษภัย อ่านได้ทุกวัย
แต่ฉบับภาพยนตร์ เมื่อปีค.ศ. ๒๐๑๔ ก็ออกมาโอเคอยู่นะ