This หน้าแรก » Literary Chronicles » เสียงพูดสุดท้าย ‘รงค์ วงษ์สวรรค์

เสียงพูดสุดท้าย ‘รงค์ วงษ์สวรรค์

เสียงพูดสุดท้าย ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นบทสัมภาษณ์ช่วงสุดท้ายของชีวิต ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๘ โดย วรพจน์ พันธุ์พงศ์

เสียงพูดสุดท้าย

อ่านหนังสือของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์มาตั้งแต่ยังเยาว์วัย สมัยนั้นชอบ “บ้านหลังนี้มีห้องแบ่งให้เช่า” “เสเพลบอยชาวไร่” “มาเฟียก้นซอย” (เรื่องนี้เสียดายมากที่คุณ ‘รงค์ เขียนไม่จบเพราะนิตยสารที่ลงเรื่องเป็นตอนเบี้ยวค่าเรื่อง) และยังมีอีกหลายเรื่อง

วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ได้สัมภาษณ์ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ในช่วงปีพ.ศ. ๒๕๕๐ – ๒๕๕๑ และนำมาเรียบเรียงเป็น“เสียงพูดสุดท้าย” น่าจะเป็นความในใจสุดท้ายของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ จริง ๆ (‘รงค์ เสียชีวิตในปีพ.ศ. ๒๕๕๒)

เนื้อหาบทสัมภาษณ์ ได้เล่าเรื่องราวมากมายในชีวิตอันโลดโผนโจนทะยานชั่วชีวิตของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ซึ่งมันยาวเกินกว่าจะย่อให้เหลือ ๒๕๐ กว่าหน้าในหนังสือเล่มนี้ เพราะชีวิตเขามีทั้ง ทำงานในเรือ เป็นช่างภาพ เป็นนักข่าว เป็นนักเขียน ทำงานโฆษณา คิดคำโฆษณา ตั้งชื่อภาพยนตร์ แปลบทภาพยนตร์ รวมทั้งเคยแสดงภาพยนตร์

ในฐานะแฟนหนังสือ ยังรู้สึกว่ามีอะไรหลายอย่างที่อยากรู้อยากเห็นมากกว่านี้ แต่ หลายเรื่องในนี้ ก็เป็นประวัติศาสตร์ที่ต้องจารึกเอาไว้ อย่างช่วงทำงานสยามรัฐกับ ม.ล. คึกฤทธิ์ ปราโมช ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในสมัยนั้นน่าสนใจ เคยอ่านเล่มอื่น เช่น “ใต้ถุนป่าคอนกรีต” “ไฉไลเป็นบ้า” “กัญชาธิปไตย” ก็จะมีเนื้อหาบางตอน ที่เคยไปปรากฎอยู่ในนั้น หรือคุ้นว่าเคยอ่านมาก่อน อย่างใน “เงาของเวลา” ก็มีบางบทที่ตัวละครและเรื่องราวเคยไปโผล่ใน “เสเพลบอยชาวไร่” แต่การอ่านเรื่องเล่าแบบนั้นในหนังสือเล่มนี้จะเป็นอีกอรรถรสหนึ่ง คือมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยให้ย่อยเพิ่มเติมเสริมเข้ามา

การได้อ่านเรื่องเล่าจากพญาอินทรีแห่งสวนอักษรที่ผู้คนยกย่อง มีคุณค่า เพราะนี่คือช่วงวาระสุดท้ายในชีวิตของเขาแล้ว การได้อ่านความคิดว่าเขาคิดอะไรอยู่ สิ่งเหล่านี้ผ่านประสบการณ์และวิสัยทัศน์ที่เป็นตัวตนของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ เหมือนได้อ่านความคิดของครูบาอาจารย์

เสียงพูดสุดท้าย

จะยกตัวอย่างที่ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์เขาเล่าประสบการณ์สอนเด็กถ่ายรูปเอาไว้น่าสนใจ

ยี่สิบกว่า ๆ ทำงานได้สักพักเริ่มมีชื่อเสียง นักเรียนถ่ายภาพเทคนิคกรุงเทพ ทุ่งมหาเมฆ รุ่นแรก ๆ เรียนกับเรา ได้ค่าจ้างชั่วโมงละ ๒๐ บาท สอน ๒ – ๓ รุ่น สอนให้เขารักกล้องมากกว่าถ่ายรูปเพียว ๆ เราไม่อยากสอน ชอบสอนการวางมุม การใส่อารมณ์ในภาพ คุณจะถ่ายอะไร

มีถนนอยู่สายหนึ่งตัดเข้ามาในตำบลหนึ่ง จะถ่ายอะไร ถ่ายผู้หญิงหาบน้ำเดินมา ถ่ายคนขับรถ หรือถ่ายหลุมบ่อ ตะเข็บถนนแตกเพราะการคดโกง บางคนไม่รู้จะถ่ายอะไร เราอำมันว่า มึงไปลงนรกเถอะ จะมาเรียนถ่ายรูปทำไม อุตส่าห์ให้โจทย์ขนาดนี้

เหมือนอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ด่าลูกศิษย์ว่าถ้าไม่รู้จักคิด คุณไปรับจ้างทาสีเถอะ อย่ามาเป็นศิลปินเลย

ทุกอย่างต้องฝึก และถ้ามีคนสอนที่ชี้บางจุดให้ มันจะไปได้ไกล เหมือนอ่านนวนิยายภาษาอังกฤษ เขาสอนให้โยนดิกฯ ทิ้งเลย อ่านรอบแรกไปก่อน ไม่รู้เรื่องไม่เป็นไร แล้วย้อนมาอ่านใหม่ คราวนี้เข้าใจหมดเพราะภาษาจะอธิบายตัวมันเอง ถ้าเปิดดิกฯ ตลอดเวลาชาติหน้าก็อ่านไม่ออก หลักการอีกอย่างหนึ่ง เขาบอกให้เลือกหนังสือที่ชอบที่สุด เราเลือกหนังสือโป๊ มันสนุกดี ทำให้อยากอ่านบ่อย อ่านทุกวัน ศัพท์ก็เข้ามาในหัว เปิดดิกฯ จะลืม ถ้ารู้เองไม่ลืม

นี่คือความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ คือมีแนวคิด มุมมองของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ ทุกตัวอักษร ซึ่งไม่ใช่ว่าใครจะพูดแบบนี้ได้ทุกคน เพราะต้องสั่งสมความคิด พิสูจน์ตัวเองมาชั่วชีวิตว่าเป็นอย่างที่เขียน หรือเขียนในสิ่งที่ตัวเองเป็น ไม่ได้เสแสร้ง เรื่องนี้สำคัญพอสมควรเพราะเป็นเรื่องของความมุ่งมั่นการฝึกฝนตัวเอง เป็นเรื่องของพลังและความตั้งใจ

ไม่อยากเอาไปเปรียบเทียบกับนักเขียนบางคน แต่ก็ต้องเทียบ (แต่ขอละชื่อไว้ก็แล้วกัน) เวลาอ่านหนังสือที่เขาเขียน แล้วได้เห็นที่เขาให้สัมภาษณ์หรือพูดคุยกันสด ๆ มันคนละอย่างกันเลย ทำให้เกิดความรู้สึก “ไม่เชื่อ” ต่อสิ่งที่เขาเขียนเพราะรู้สึกว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ออกมจากตัวตนของเขาจริง อย่างมากก็การตัดปะความคิดคนอื่นมาใช้

แต่สำหรับ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ นี่ บอกได้เลยว่าที่เขาคิด เขาเขียน คือสิ่งที่เขาเป็น

และนั่นคือความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้

ข้อมูลหนังสือ

เสียงพูดสุดท้าย ‘รงศ์ วงษ์สวรรค์

ผู้เขียน: วรพจน์ พันธุ์พงศ์

สำนักพิมพ์: บางลำพู

พิมพ์: มกราคม 2557

ISBN: 9786169182603

แสดงความคิดเห็น