Geoffrey Fisher หรือ บารอน ฟิชเชอร์แห่งแลมเบ็ธ หรืออาร์คบิช็อปแห่งแคนเทอร์เบอร์รี (ระหว่างปี ๑๙๔๕–๑๙๖๑) มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์โลกคือท่านเป็นผู้สวมมงกุฎในวันราชาภิเษกของสมเด็จราชินีนาถอิลิซาเบ็ธที่สองแห่งอังกฤษ เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๑๙๕๓
I would sit in the dim light of the school chapel and listen to him preaching about the lamb of God and about mercy and forgiveness. I knew very well that only the night before this preacher had shown neither mercy nor forgiveness in flogging some small boy who had broken the rules
— Boy
แต่สำหรับแฟนหนังสือของโรอัล ดาห์ล อาจจะมองภาพท่านอีกแบบหนึ่ง เพราะในหนังสือ Boy: Tales of Childhood (พากย์ไทยว่า เด็กชายโรอัลด์ ดาห์ล แปลโดยปาริฉัตร เสมอแข สำนักพิมพ์ผีเสื้อ) ได้กล่าวถึงท่านแบบไม่ค่อยดีนัก
ในหนังสือ โรอัลด์ ดาห์ล ได้เล่าถึงการทำโทษนักเรียนของครูใหญ่แห่งเร็พตันสมัยที่เขาเรียนอยู่ว่ารุนแรง โหดร้าย ขัดกับที่ท่านได้เทศนาถึงความเมตตากรุณา การให้อภัย และเขาได้อธิบายต่อว่าความขัดแย้งระหว่างคำพูดและการกระทำนี้ทำให้เขาแคลงใจในศาสนาและพระเจ้า โรอัลด์ ดาห์ล ไม่ได้เอ่ยชื่อครูใหญ่ผู้นั้น แต่ได้ระบุไว้ว่า “ต่อมาได้เป็นอัครสังฆราชแห่งแคนเทอร์เบอรี และเป็นผู้สวมมงกุฎสมเด็จราชินีนาถอิลิซาเบ็ธที่สอง”
Geoffrey Fisher ผู้สวมมงกุฎให้สมเด็จราชินีนาถอิลิซาเบ็ธที่สอง
เมื่อค้นดูอัครสังฆราชแห่งแคนเทอร์เบอรีผู้สวมมงกุฎให้สมเด็จราชินีนาถอิลิซาเบ็ธที่สองในวันราชาภิเษก ก็ได้ชื่อ เจฟฟรี ฟิชเชอร์
เจฟฟรี ฟรานซิส ฟิชเชอร์ เป็นบาทหลวงตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๑๓ เป็นครูใหญ่โรงเรียนเร็ฟตันตั้งแต่ปีค.ศ. ๑๙๑๔ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นบิช็อปแห่งเชสเตอร์ในปีค.ศ. ๑๙๓๒ เป็นบิช็อปแห่งลอนดอนในปีค.ศ. ๑๙๓๙ และได้เป็นอาร์คบิช็อปแห่งแคนเทอเบอร์รีในปีค.ศ. ๑๙๔๒
มีคนตั้งข้อสังเกตว่าโรอัลด์ ดาห์ลเขียนหนังสือหลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้นมาร่วม ๕๐ ปีอาจจะจำผิดคนหรือเปล่า? (หนังสือพิมพ์เมื่อปีค.ศ. ๑๙๘๔) ในหนังสือก็ไม่ระบุชี่อใดทั้งสิ้น และได้มีการสืบค้นความจริงตามมาว่าใครเป็นใคร
ในหนังสือ Storyteller: The Authorized Biography of Roald Dahl โดย โดนัลด์ สเตอร์ร็อก (พิมพ์จำหน่ายเดือนกันยายน ค.ศ. ๒๐๑๐, สำนักพิมพ์ Simon & Schuster) ได้แสดงข้อมูลให้เห็นว่า ช่วงที่โรอัลด์ ดาห์ลกล่าวถึงในหนังสือนั้น เจฟฟรี ฟิชเชอร์ไม่ได้เป็นครูใหญ่ที่โรงเรียนเร็ฟตันแล้ว ณ เวลานั้น เจฟฟรี ฟิชเชอร์ ไปรับตำแหน่งบิช็อปแห่งเชสเตอร์ ครูใหญ่คนนั้นน่าจะเป็น จอห์น คริสตี ผู้เข้ารับตำแหน่งต่อจากฟิชเชอร์ (เหตุการณ์ที่โรอัล ดาห์ลเล่าน่าจะเกิดในปีค.ศ. ๑๙๓๓)
ทั้งนี้ จอห์น คริสตี ผู้ดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนเร็พตันต่อจากฟิชเชอร์อ้างว่า การเฆี่ยนตีรุนแรงนั้น เขาทำเพียงครั้งเดียวคือการลงโทษนักเรียนอายุ ๑๘ ปี ที่ข่มเหงเด็กนักเรียนรุ่นน้องในโรงเรียน
อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อมูลที่บอกว่า “ต่อมาได้เป็นอัครสังฆราชแห่งแคนเทอร์เบอรี และเป็นผู้สวมมงกุฎสมเด็จราชินีนาถอิลิซาเบ็ธที่สอง” ทำให้ผู้อ่านหนังสือของดาห์ลคงเกิดความรู้สึกไม่ดีต่อ เจฟฟรี ฟิชเชอร์ ไปเรียบร้อยแล้ว ถึงแม้จะมีการค้นหาข้อมูลเรื่องนี้มายืนยันในภายหลังว่าช่วงเวลาที่เกิดขึ้นไม่น่าจะเป็นเจฟฟรี ฟิชเชอร์ก็ตาม แต่มันก็ทำให้ชื่อเสียงของท่านต้องมัวหมองลงไปบ้าง
น่าคิดว่าการพาดพิงถึงบุคคลอื่น แม้จะไม่ได้ออกชื่ออย่างชัดเจน หากมีความผิดพลาดแบบนี้เกิดขึ้นจะแก้ไขอย่างไรได้บ้าง?
อ่านเพิ่มเติมที่ https://www.express.co.uk/expressyourself/197750/Roald-Dahl-The-real-and-imagined-lives-of-a-great-storyteller