มีคำกล่าว่า Good artists copy, great artists steal – ศิลปินที่ดีลอกเลียน ศิลปินที่ยิ่งใหญ่ขโมย ริชาร์ด พรินซ์ (Richard Prince) ทำตัวอย่างให้เห็นว่าเขาเป็นศิลปินที่ยิ่งใหญ่…ด้วยการขโมยภาพคนอื่นมาใช้ดื้อ ๆ ! อย่างเช่นผลงานในชื่อ “นิวพอร์ทเทรทส์” (New Portraits) เขาจับภาพหน้าจออินสตาแกรมมาขยายขนาดใหญ่ ทุกอย่างเหมือนกับที่ดูอินสตาแกรมตามปกติ เพียงแต่มีขนาดใหญ่ ทุกภาพจะมีชื่อริชาร์ด พรินซ์แสดงความคิดเห็นต่อรูปภาพนั้นอยู่ด้วย

แต่ในความคิดเห็นนั้นเขาไม่ได้บอกเจ้าของภาพว่าจะนำภาพของบุคคลเหล่านั้นไปขาย

และขายในราคาแพงถึง ๑๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ

Richard Prince – ใคร?

Richard Prince
ริชาร์ด พรินซ์

ริชาร์ด พรินซ์เป็นศิลปินเชิงแนวคิด (Conceptual art – หลายท่านถอดคำไทยว่ามโนทัศนศิลป์) ที่ทำงานมายาวนานตั้งแต่ทศวรรษ ๑๙๗๐ โดยนำเสนอผลงานศิลปะโดยนำภาพถ่ายของคนอื่นมาดัดแปลง (Re-photography) เขาเคยแสดงความคิดของตัวเองว่าวัตถุไม่สำคัญเท่าความคิดนำเสนอ และผลงานของเขาก็ได้นำผลงานของคนอื่นที่ปรากฏในที่ต่าง ๆ เช่นหน้าโฆษณาในนิตยสารมาดัดแปลงใหม่ ตัวอย่างเช่น ภาพหนึ่ง เขาไปตัดเอามาจากโฆษณาบุหรี่มาร์ลโบโร ถ่ายโดย แซม เอเบลล์ (Sam Abell) ซึ่งแซมก็ไม่ประทับใจกับการทำงานของริชาร์ดเท่าไหร่นัก

ลองชมวิดีโอสัมภาษณ์แซมเกี่ยวกับเรื่องนี้

แซม เอเบล หนึ่งในช่างภาพที่โดน ริชาร์ด พรินซ์ นำรูปไปใช้

ริชาร์ด พรินซ์ ใช้สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมและวิพากษ์วิจารณ์มันออกมาโดยใช้สิ่งที่เห็นได้ในที่สาธารณะ ส่วนใหญ่เป็นรูปภาพของคนอื่นและเขานำมันมาดัดแปลง (หรือบางทีก็แทบไม่ได้ดัดแปลง) อย่างเช่นผลงานที่โด่งดังมากชิ้นหนึ่งของเขาคือภาพ จิตวิญญาณอเมริกา ที่เขาเผยแพร่ออกมาเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๒๖

จิตวิญญาณอเมริกา – Spiritual of America

นิตยสาร ชูการ์เอ็นสไปซ์ (Sugar ‘n’ Spice) เผยแพร่ภาพเปลือยของ บรูค ชิลด์ส ในวัย ๑๐ ขวบ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ซึ่งต่อมา บรูค ชิลด์ส ได้ดำเนินการทางกฎหมายไม่ให้นำภาพชุดนั้นไปเผยแพร่ต่อในปีพ.ศ. ๒๕๒๔ แต่ศาลได้ตัดสินในปีพ.ศ. ๒๕๒๖ ว่าภาพนี้ถ่ายภายใต้การดูแลของผู้ปกครอง (คือ เทอรี ชิลด์ส มารดาของเธอ) และไม่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองสื่อลามกอนาจารเด็กและเยาวชน (อ่านรายละเอียดคำพิพากษาได้ที่ http://journalism.uoregon.edu/~tgleason/j385/Brooke.htm) และเมื่อศาลตัดสินแบบนั้น ริชาร์ด พรินซ์ นำภาพดังกล่าวมาดัดแปลง โดยตั้งชื่อเสียดสีว่า “จิตวิญญาณอเมริกา” ตามแบบภาพ “จิตวิญญาณอเมริกา”เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๖๖ ของ อัลเฟรด สไตกลิทซ์ ซึ่งถ่ายภาพสะโพกม้าเอาไว้

จิตวิญญาณอเมริกา”เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๖๖ ของ อัลเฟรด สไตกลิทซ์

และภาพชุด “นิวพรอทเทรตส์” หรือ การถ่ายภาพบุคคลใหม่ นำภาพจากอินสตาแกรมมามาขยายใหญ่ แนวคิดเพื่อวิพากษ์สังคมปัจจุบันกับโซเชียลเน็ตเวิร์ค ไม่มีใครสงสัยว่านี่คืองานศิลปะหรือไม่ แต่คำถามที่ตามมาคือสมควรหรือไม่ ครั้งนี้คงไม่มีปัญหาขึ้นโรงขึ้นศาล เพราะเคยมีเคสในเรื่องการนำมาใช้ทางศิลปะกำกับอยู่ และริชาร์ดได้แสดงตัวออกความเห็นทุกรูป ซึ่งในภาพที่เอามาขายจะมีความคิดเห็นของเขาปิดท้ายทุกภาพ

แต่ก็มีเสียงสะท้อนจากเจ้าของภาพมาประปราย

เผื่อใครอยากเห็นภาพต้นฉบับเต็ม ๆ

มิสซี ซุไซด์ นางแบบจากเว็บซุไซด์เกิร์ลส์ แสดงความเห็นว่า “ความคิดแวบแรกคือ ฉันไม่รู้จักใครที่จ่ายเงิน ๙๐,๐๐๐ ดอลลาร์เพื่ออะไรอื่น นอกจากซื้อบ้าน” แล้วเธอก็จัดการนำภาพ ภาพเดียวกับที่ริชาร์ดนำไปใช้ มาขยายขนาดใหญ่เท่ากัน แล้วบอกขายในราคา ๙๐ ดอลลาร์แทน

ซึ่งริชาร์ดก็ตอบผ่านทวิตเตอร์ว่า มันเป็นความคิดที่เยี่ยมมาก

สิ่งที่ปรากฏในอินเตอร์เน็ต ไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัวอย่างที่หลายคนพร่ำบอกเสมอว่า “นี่คือพื้นที่ส่วนตัว จะทำอะไรก็ได้” นี่คือเฟซบุ๊กส่วนตัว นี่คือินสตาแกรมส่วนตัว นี่คือทวิตเตอร์ส่วนตัว

...ในอินเตอร์เน็ตมีแต่พื้นที่สาธารณะ

สำหรับคนที่สงสัยว่า ศิลปินดังขนาดนี้ ขโมยภาพคนอื่นมาใช้เปิดเผยแบบนี้ ทำไมไม่โดนฟ้องเรียกค่าเสียหายบ้าง ยิ่งอเมริกาเป็นประเทศที่ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกันเป็นอาชีพ

ในอดีต เคยมีคนฟ้องเขาข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์เหมือนกัน อย่างเช่น แพทริก คาโร ฟ้องร้องดำเนินคดีเขาในปีพ.ศ. ๒๕๕๑

ริชาร์ด พรินซ์ นำภาพจากหนังสือรวมภาพของ แพทริก คาโร (Patrick Cariou) ชื่อ “เยส ราสตา” (Yes Rasta) ตีพิมพ์ปีพ.ศ. ๒๕๔๓ มาจัดแสดงในงานชื่อ “คาเนล โซน” ของเขาเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งไม่ใช่แค่ภาพเดียว แต่หลายสิบภาพ ทั้งทำมาพิมพ์ใหม่ตรง ๆ ปรับขนาด ทำเบลอหรือเปลี่ยนสี

ซึ่งต้องมีการพิสูจน์ถึงการนำมาใช้อย่างยุติธรรมตามการสร้างงานศิลปะ ซึ่งบางภาพก็เข้าข่ายศิลปะ บางภาพเข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์โดนสั่งให้ทำลายทิ้ง แต่ในการอุทธรณ์พิจารณาว่า 25 จาก 30 ภาพที่ริชาร์ดนำมาดัดแปลงเป็นไปตาม “ยุติธรรมตามการสร้างงานศิลปะ” คดีความยืดเยื้อถึงปีพ.ศ. ๒๕๕๖ และทั้งคู่ตัดสินใจตกลงกันนอกศาล

การนำภาพคนอื่นมาดัดแปลงนี้เป็นเรื่องถกเถียงกันมานานว่าสมควรหรือไม่ ลองอ่าน http://hyperallergic.com/69719/richard-prince-back-in-black/ มีเปรียบเทียบเป็นกรณีศึกษาทางข้อกฎหมาย (อย่าอ่านแต่ลิงค์ที่ลงไว้ โปรดกดลิงค์ตามที่อ้างอิงในบทความไปศึกษาต่อเรื่องการละเมิด ลอกเลียน และนำมาใช้เพื่องานศิลปะ

 ฝ่ายหนึ่งบอกว่ามันคือการขโมย อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่ามันงานศิลปะ

แล้วคุณคิดอย่างไรกับศิลปะแบบนี้ หรือว่ามันไม่ใช่ศิลปะ ถ้าภาพของคุณในอินสตาแกรมเกิดมีศิลปินอย่างริชาร์ดมานำไปขายได้เป็นแสนดอลลาร์คุณจะทำอย่างไร?