Fiji Mermaid – เงือกแห่งฟิจิ

Fiji Mermaid หรือ นางเงือกแห่งฟิจิ นี้เป็นหนึ่งในเรื่องลวงโลกที่น่าสนใจไม่แพ้เรื่องอื่น ๆ เลยทีเดียว

เดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๔๒ มีข่าวแพร่สะพัดในหมู่สื่อมวลชนว่า ด็อกเตอร์ เจ กริฟฟิน (Dr. J. Griffin) สมาชิกสถาบันศึกษาประวัติศาสตร์ธรรมชาติเกาะอังกฤษ (British Lyceum of Natural History) ซึ่งกำลังเดินทางมานิวยอร์ก ครอบครองซากสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ ซึ่งน่าจะเป็นเงือกตามเรื่องเล่าโบราณ จับได้ในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ ใกล้เกาะฟิจิ!

เมื่อมีข่าวดังนั้น ก็ไม่น่าแปลกใจเมื่อท่าน ด็อกเตอร์ เจ กริฟฟิน เดินทางมาถึงโรงแรมที่พักในนิวยอร์ก จึงได้พบกับนักข่าวจำนวนมากรอทำข่าวอยู่ ซึ่งดูเหมือนเขาจะไม่เต็มใจและหวงแหนเกินกว่าจะนำซากสิ่งมีชีวิตนั้นออกมาให้นักข่าวดู เมื่อเขาเข้าพักที่โรงแรมฟิลาเดเฟีย ก็แสดงซากนั้นให้กลุ่มคนที่ได้รับเชิญจำนวนไม่กี่คน (แน่นอน ว่ามีเงินและมีอิทธิพลเส้นสายพอสมควร) ซึ่งเมื่อกลุ่มนั้นได้เห็นก็เอาไปเล่าให้กับสื่อมวลชนฟังอีกทอดหนึ่ง

พี ที บาร์นัม (ถ้าจำได้ เขาเคยติดต่อซื้อยักษ์หินแห่งคาร์ดิฟฟ์) ติดต่อหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ฉบับหนึ่ง บอกว่าเขาเคยขอให้ด็อกเตอร์ เจ กริฟฟิน นำซากเงือกมาวางแสดงในพิพิธภัณฑ์ของเขา แต่ด็อกเตอร์ เจ กริฟฟินไม่ยินยอมให้ของจริง แต่ยอมให้จำลองไม้แกะสลักเหมือนตัวจริงเอาไว้ และเขาอยากจะมอบให้หนังสือพิมพ์ฉบับนั้น

อานิสสงฆ์จากความใจดีของ พี ที บาร์นัม ที่มอบไม้แกะสลักรูปเงือกให้หนังสือพิมพ์ ทำให้เขาขายหนังสือเกี่ยวกับเงือกของเขาไปได้หลักหมื่นเล่มในเวลาอันรวดเร็ว!! ชาวนิวยอร์กตื่นตัวกับการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์นี้ถ้วนหน้า มีทั้งคนที่บอกไม่เชื่อ และคนที่ยืนยันว่าเคยเห็นเจ้าสิ่งนี้ขณะยังมีชีวิตมาแล้ว

Fiji Mermaid

เงือกแห่งฟิจิ กลายเป็นเรื่องใหญ่ในเดือนนั้น และซากในการครอบครองของด็อกเตอร์ เจ กริฟฟิน ได้นำไปแสดงให้คนดูในคอนเสิร์ตฮอลที่บอร์ดเวย์ ผู้คนหลั่งไหลกันมาชมซากเงือกแห่งฟิจิ มีหลายคนตั้งทฤษฎีที่แปลกประหลาดเกี่ยวกับซากนี้ ตั้งแต่ว่ามันคงเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีสติปัญญา หลังจากแสดงใน คอนเสิร์ตฮอลได้หนึ่งสัปดาห์ ด็อกเตอร์เจ กริฟฟินก็อนุญาตให้นำไปแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ของพี บี บาร์นัม

และพิพิธภัณฑ์ของพี บี บาร์นัมก็ฉวยโอกาสขึ้นราคาค่าเข้าชม…

ซากเงือกที่ดูเหมือนครึ่งลิงครึ่งปลาตัวนี้ ทำให้จินตนาการสวยงามของนางเงือกสาวสวยที่ช่วงบนเป็นสตรีวัยเยาว์ช่วงล่างเป็นปลาที่เคยครองใจนักเล่านิทานมานานต้องแตกสลาย

หลังจากประสบความสำเร็จในการแสดงซากเงือกแห่งฟิจิในพิพิธภัณฑ์ของเขาที่นิวยอร์ก เขาก็ส่งไปแสดงยังรัฐทางใต้ แต่เนื่องจากเขาติดภารกิจมากมาย จึงได้ส่ง อแลนสัน เทย์เลอร์ ลุงเขาไปควบคุมไปแทน แต่เหตุการณ์ที่เซาธ์แคโรไรนากลับไม่เรียบร้อยอย่างที่คาด เพราะหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ ๒ ฉบับเกิดมีความเห็นไม่ลงรอยกัน

ริชาร์ด ยีด้อน บรรณาธิการเดอะเชอร์เลสตันคูเรียร์ (The Charleston Courier) เชื่อว่ามันเป็นของจริง แต่นักสัตววิทยาสมัครเล่น เรฟ. จอห์น บาชแมน กลับเขียนบทความลงในเดอะเชอร์เลสตันเมอคิวรี (The Charleston Mercury) หนังสือพิมพ์คู่แข่งว่ามันเป็นของปลอมแน่ ๆ ความขัดแย้งของหนังสือพิมพ์สองฉบับ ทำให้ อแลนสัน เทย์เลอร์ ตัดสินใจรีบส่งซากเงือกกลับนิวยอร์กก่อนจะได้มีการพิสูจน์ในที่สาธารณะ

แต่ก่อนจะเตลิดเปิดเปิงไปไกล ก็มีคนตั้งสติตรวจเช็คข้อมูลแล้วพบว่าประเทศอังกฤษไม่มี สถาบันศึกษาประวัติศาสตร์ธรรมชาติเกาะอังกฤษ!

อ้าว แล้ว ด็อกเตอร์ เจ กริฟฟิน ที่อ้างว่าเป็นสมาชิก สถาบันศึกษาประวัติศาสตร์ธรรมชาติเกาะอังกฤษคนนี้มาจากไหน?

ตรวจสอบจนในที่สุดพบว่า ด็อกเตอร์ เจ กริฟฟิน แท้จริงคือนาย ลีวาย ไลแมน ผู้สมรู้ร่วมคิดกับนายพี บี บาร์นัมสร้างเรื่องเงือกแห่งฟิจิมาเพื่อโฆษณาและหารายได้เข้าพิพิธภัณฑ์ของ พี ที บาร์นัมโดยเฉพาะ และตัว พี ที บาร์นัมเป็นคนแอบส่งจดหมายเวียนไปเวียนมาสร้างกระแสเรื่องด็อกเตอร์ เจ กริฟฟินกับซากเงือกแห่งฟิจิไปยังหนังสือพิมพ์ฉบับต่าง ๆ

ต้นกำเนิดซากเงือกแห่งฟิจิ

ถึงแม้ว่า เงือกแห่งฟิจิ จะเป็นที่รู้จักจากการปั่นเรื่องของ พี ที บาร์นัม แต่เขาก็ไม่ได้เป็นคนสร้างสิ่งนี้ขึ้นเอง

เงือกแห่งฟิจิ เป็นที่รู้จักครั้งแรก ในปีค.ศ. ๑๘๒๒ (พ.ศ. ๒๓๖๕)  โดยกัปตัน ซามูเอล บาร์เร็ตต์อีดส์ (Captain Samuel Barrett Edes) ลงทุนขายเรือพิกเกอริงของเขา เพื่อนำเงินมาซื้อซากสัตว์ประหลาดตัวนี้ในราคาประมาณ ๖,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐฯ

กัปตันซามูเอลนำซากที่เขาซื้อ ไปแสดงที่ เทิร์ฟคอฟฟีเฮาส์ ที่ถนนเซนต์เจมส์ ลอนดอน ในแต่ละวันมีผู้คน ๓๐๐ ถึง ๔๐๐ คนยอมจ่ายเงิน ๑ ชิลลิงเพื่อเข้าไปดูซากสิ่งมีชีวิตนั้น และกลายเป็นเรื่องที่คนลอนดอนพูดถึง และมีคนมาขอตรวจสอบหลายคน แต่ที่เด่น ๆ ก็มี ด็อกเตอร์ฟิลลิป ที่ตีพิมพ์ขอสังเกตจากการตรวจสอบใน วารสารการแพทย์และกายภาพแห่งลอนดอน (The London Medical and Physical Journal)  ฉบับที่ ๔๘ ในเดือนเมษายนปีเดียวกันนั้น

ดังจะยกมาดังนี้

หัวมีขนาดเกือบเท่าลิงบาบูน ปกคลุมด้วยขนสีดำบาง ๆ ห้อยลงมาและไม่ชี้ฟู… สีหน้านั้นแสดงออกถึงความหวาดกลัว ซึ่งทำให้ดูเหมือนเป็นภาพล้อเลียนของใบหน้ามนุษย์ แต่ผมไม่คิดว่าทั้งสองสิ่งนี้เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ มันเกิดขึ้นจากสิ่งมีชีวิตที่กำลังจะตาย และเหมือนตายด้วยความทุกข์ทรมาน

เจ้าสัตว์นี้มีความยาวสามฟุต แต่คงเป็นเพราะไม่ได้รับการเก็บรักษาอย่างดี ทำให้มันหดตัวลงอย่างมาก หากมีชีวิตอยู่คงจะยาวและหนากว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้… ฟันเขี้ยวคล้ายกับฟันของสุนัขโตเต็มวัย อื่น ๆ ทั้งหมดมีความคล้ายมนุษย์อยู่มากทีเดียว”

The London Medical and Physical Journal, Volume 48

งานนี้เขาลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ด้วยความหวังที่ว่าซากเงือกนี้จะทำเงินให้กับเขา แต่สุดท้าย ก็มีคนตรวจสอบแล้วบอกว่านี่คือส่วนผสมของลิงอุรังอุตัง เขี้ยวลิงบาบูน กระดูกปลา (คาดว่าปลาแซลมอน) ซึ่งแน่นอนว่าท่านกัปตันค้านหัวชนฝา เพราะเขาลงทุนไปมาก แต่เมื่อนักสัตววิทยาตรวจสอบว่าเป็นของปลอม ผลก็คือเขาเป็นหนี้มหาศาลเพราะเรือที่เขาขายไปนั้นไม่ใช่ของเขาเพียงคนเดียว สตีเฟน เอเลอรี หุ้นส่วนเรือ พิกเกอริง เมื่อรู้ว่าเขาขายเรือไปโดยไม่แจ้งให้ทราบ ก็แจ้งความดำเนินคดีในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๒๒

มกราคม ค.ศ. ๑๘๒๓ การแสดงซากนางเงือกก็โดนปิด การลงทุนขายเรือเพื่อซื้อซากเงือกนี้ไม่ได้รับผลตอบแทนอย่างที่เขาคาดคิดไว้ เมื่อเขาเสียชีวิต ซากเงือกจึงตกเป็นของบุตรชายซึ่งได้ขายมันกับ โมเสส คิมบอลล์ (Moses Kimball) ในปีค.ศ. ๑๘๔๒ และ โมเสส คิมบอลล์ก็เอาไปให้ พี ที บาร์นัม เช่าซากนางเงือกสัปดาห์ละ ๑๒.๕ ดอลลาร์

ความจริง พี ที บาร์นัม ได้ให้นักสัตว์วิทยาตรวจสอบและได้รับคำตอบว่าของปลอมแน่นอน แต่ด้วยความที่เขาเป็นคนมีหัวทางการค้าแยบยล เขาเกิดความคิดว่ามันคงไม่เกี่ยวว่าเป็นของจริงหรือของปลอม ถ้าเขาทำให้ประชาชนเชื่อว่ามันเป็นของจริง มันก็จะเป็นของจริง!

ดังนั้นเขาจึงจ้างนาย ลีวาย ไลแมน ให้มารับหน้าที่เป็นด็อกเตอร์ เจ กริฟฟิน และสร้างเรื่องราวดังกล่าวขึ้น

ซากเงือกแห่งฟิจิ ตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ของพี ที บาร์นัม ในนิวยอร์ก สลับกับ พิพิธภัณฑ์ของ โมเสส คิมบอลล์ ในบอสตันร่วม ๒๐ ปี เคยนำไปแสดงที่ลอนดอนในปีค.ศ. ๑๘๕๙ แต่หลังจากนำกลับมาในเดือนมิถุนายนและนำไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์ของ โมเสส คิมบอลล์ หลังจากนั้นชะตากรรมของซากเงือกนี้เงียบไป บ้างว่าซากนี้มอดไหม้ไปกับเหตุไฟไหม้ที่พิพิธภัณฑ์ของ พี ที บาร์นันในปีค.ศ. ๑๘๖๕ บ้างก็ว่ามอดไหม้ไปกับเหตุไฟไหม้ที่พิพิธภัณฑ์ของโมเสส คิมบอลล์ในช่วงทศวรรษ ๑๘๘๐

ปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์โบราณคดีและชาติพันธุ์วิทยาพีบอดี (Peabody Museum of Archaeology and Ethnology) ของฮาร์วาร์ด ได้แสดงซากเงือกแห่งฟิจิ ซึ่งอ้างว่าได้ครอบครองหลังจากมีคนเก็บรักษาไว้จากเหตุไฟไหม้ที่พิพิธภัณฑ์ของ โมเสส คิมบอลล์ และผู้รับมรดกนำมามอบให้ทางพิพิธภัณฑ์ แต่จากรูปภาพเปรียบเทียบทำให้แน่ใจว่าน่าจะเป็นคนละตัวกับซากเงือกแห่งฟิจิที่เคยสร้างความฮือฮาในปีค.ศ. ๑๘๔๒

สำหรับที่มาของซากนี้ บางกระแสบอกว่า กัปตันซามูเอลซื้อมาจากชาวดัตช์คนหนึ่งซึ่งอ้างว่าซื้อมาจากชาวประมงญี่ปุ่น ซึ่ง ชาวประมงผู้นั้นอาจจะสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องราง หรือไม่ก็อาจจะทำเล่น ๆ แต่คนผิวขาวดันเชื่อจริง

Published by

Unnamed Sheep

The Lord is my shepherd, I shall not want He makes me down to lie Through pastures green He leadeth me the silent waters by With bright knives, he releaseth my soul

แสดงความคิดเห็นCancel reply

Exit mobile version