Baphomet

Baphomet (หรือ Bafomet – บาโฟเมต) เป็นปิศาจที่มีชื่อเสียงมากตัวหนึ่ง  เพราะมีการเอ่ยนามปิศาจตัวนี้ในช่วงสงครามครูเสดครั้งที่ ๗ (ประมาณช่วงปีค.ศ. ๑๒๔๘ – ๑๒๕๔) เมื่อกษัตริย์ ฟิลลิปที่ ๔ แห่งฝรั่งเศส ใช้เป็นข้ออ้างในการจับกลุ่มอัศวินเทมปลาร์ (Knights Templar) ในวันศุกร์ที่ ๑๓ ตุลาคม ค.ศ. ๑๓๐๗ โดยกล่าวหาว่าบรรดาอัศวินเหล่านี้นับถือปิศาจบาโฟเมตและประหารชีวิตทั้งหมด

อัศวินเทมปลาร์ เป็นที่รู้จักกันในนาม นักรบผู้ยากจนของคริสต์จักรและวิหารโซโลมอน (ภาษาละตินคือ Pauperes commilitones Christi Templique Salomonici แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า Poor Fellow-Soldiers of Christ and of the Temple of Solomon) ก่อตั้งขึ้นในช่วงปี ค.ศ. ๑๑๑๙

โดย ฮิว เดอ เปเยนส์ (Hugh de Payens) ได้รวบรวมเหล่าอัศวินผู้อุทิศตัวเองเพื่อปกป้องปกป้องผู้จารึกแสวงบุญไปเยรูซาเลมโดยไม่รับเงินค่าจ้างใด ๆ ทั้งสิ้น โดยได้รับพระบรมราชานุญาตจากกษัตริย์บาลด์วินที่สองแห่งเจรูซาเลมและวอร์มุนด์ผู้ปกครองสูงสุดของแพเทรียชแห่งเจรูซาเล็ม

อัศวินเหล่านี้มีแหล่งพำนักอยู่ในบริเวณเทมเปิลเมาต์ (Temple Mount) ที่ตั้ง โดมแห่งก้อนหิน (Dome of the Rock) ที่ใช้เก็บก้อนหินที่ศาสดามูฮัมหมัดได้รับจากสวรรค์ ตามคติความเชื่อของชาวมุสลิมในเยรูซาเลม และยังเชื่อกันว่าปลูกสร้างในตำแหน่งเดียวกับวิหารโซโลมอน (Temple of Solomon) อีกด้วย

แต่เมื่อเวลาผ่านไป อัศวินเทมปลาร์มีชื่อเสียงมากขึ้น ก็ได้รับ “สินน้ำใจ” มากขึ้น และได้รับการรับรองจากพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่สองในปีค.ศ. ๑๑๓๙ พวกเขาสร้างองค์กรและระบบรับฝากสิ่งของมีค่าเพื่อไม่ให้สูญหายหรือโดนโจรแย่งชิง ทำให้อัศวินเทมปลาร์กลายเป็นองค์กรใหญ่ มั่งคั่งด้วยทรัพย์สิน ที่ดิน และมั่นคงด้วยกำลังทหาร

มีตำนาน (ซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องจริง) กล่าวว่า กลุ่มอัศวินเทมเปลอร์ได้พบคัมภีร์ฉบับดั้งเดิมในวิหารแห่งโซโลมอน ซึ่งถ้าเผยแพร่เนื้อหาภายในออกไปอาจสั่นคลอนคริสต์จักรได้ เลยเป็นเหตุให้พระสันตปาปาคลีเมนต์ ที่ ๕ ต้องส่งจดหมายลับถึงกษัตริย์ฟิลลิปที่ ๔ แห่งฝรั่งเศสให้กำจัดกลุ่มอัศวินเทมเปลอร์

แต่ทางวาติกันได้ประกาศว่าเรื่องเหล่านี้ไม่มีจริงโดยบอกว่า กษัตริย์ฟิลลิปที่ ๔ แห่งฝรั่งเศสยืมเงินจากกลุ่มอัศวินเทมเปลอร์มาใช้ในสงครามกับอังกฤษแต่ไม่มีปัญญาใช้คืน

ในเมื่อใช้คืนไม่ได้ก็เลยเบี้ยวหนี้ด้วยการสังหารคิดสังหารเจ้าหนี้ซะ!

แต่ถ้าจะฆ่าอัศวินเทมเปลอร์โดยไม่มีเหตุผลเพียงพอคงมีปัญหาตามมามากมาย ก็เลยใช้ข้ออ้างทางศาสนากำจัดเสี้ยนหนาม โดยอ้างว่ากลุ่มอัศวินเหล่านี้คือพวกนอกรีตที่รับใช้ปิศาจบาโฟเมต

เมื่อผู้ครองอาณาจักร์อื่นเห็นว่ากษัตริย์ฟิลลิปที่ ๔ แห่งฝรั่งเศสกำจัดอัศวินเทมเปลอร์แล้วยึดทรัพย์สินได้มากมายมหาศาล ทำให้เกิดการเลียนแบบขึ้นทั่วยุโรป ส่งผลให้อัศวินเทมเปลอร์ต้องจบสิ้นลงในสมัยนั้น ทิ้งไว้เพียงตำนานเกี่ยวกับสมบัติที่สาบสูญและกองกำลังเร้นลับที่เป็นปริศนามาถึงทุกวันนี้

ภายหลังเริ่มสงสัยว่าบาโฟเมตมีตัวตนอยู่จริง หรือเป็นเพียงสิ่งสมมติที่กษัตริย์ฟิลลิปที่ ๔ ใช้เป็นข้ออ้างเท่านั้น เนื่องจากไม่เคยปรากฏชื่อว่าเป็นปิศาจร้ายกาจอะไรมาก่อน อีกทั้งการบรรยายลักษณะเฉพาะของปิศาจตัวนี้ก็แตกต่างกันไปไม่มีความแน่นอน คือมีทั้งเป็นกะโหลกมนุษย์ เป็นภาพกึ่งปิศาจแมว เป็นคนไว้หนวดเครา เป็นปิศาจมีเขาและมีปีก แถมยังมีที่มาไม่เหมือนกันอีกต่างหาก (เพราะตำนานเกี่ยวกับบาโฟเมตมีมานานจนรุ่นหลังต้องมาตีความเสริมแต่งกันเอง)

มีผู้ศึกษาประวัติศาสตร์บางคน เคยนำเสนอว่า แท้จริงแล้ว ชื่อ Baphomet นั้นมาจาก Mahomet ซึ่งย่อมาจาก The Prophet Muhammad

จนกระทั่งในปีค.ศ. ๑๘๕๔ อิลิแฟส เลวี (Éliphas Lévi) ผู้นำสูงสุดของโบสถ์ซาตาน (Church of Satan) ในฝรั่งเศสได้เขียนตำราเล่มหนึ่งชื่อว่า Dogme et rituel de la haute magie (มีคนแปลเป็นภาษาอังกฤษ ใช้ชื่อว่า Transcendental Magic: Its Doctrine and Ritual – ตำราเวทย์ระดับสูง: หลักคำสอนและพิธีกรรม) ซึ่งในเล่มนี้ อิลิแฟสได้วาดรูปบาโฟเมตเอาไว้โดยใช้แพะเป็นเค้าโครงมีลำตัวช่วงบนเป็นผู้หญิง ประทับสัญลักษณ์ดาวห้าแฉก (ชี้ขึ้น) ไว้ที่หน้าผาก กึ่งกลางเขาทั้งสองข้าง มีคบไฟแทรกกลาง ซึ่งเขาบรรยายในตำราว่า เป็นไฟแสดงความสมดุลของวิญญาณที่ยกระดับขึ้นเหนือสสาร ดังเช่นเปลวไฟในขณะที่แม้ติดอยู่กับคบเพลิงแต่ส่องสว่างอยู่เหนือสิ่งนั้น”

Baphomet (หรือ Bafomet - บาโฟเมต)

แขนข้างหนึ่งชี้ขึ้น แขนข้างหนึ่งชี้ลง (As Above, So Below) แขนข้างหนึ่ง เขียนคำลาตินว่า SOLVE (แยก) และอีกข้างเขียนว่า COAGULA (เข้าร่วม) ซึ่งเป็นลักษณะที่อิลิแฟสตั้งใจจะให้เป็นการแสดงความสมดุลทุกอย่าง คือ เป็นทั้งชายและหญิง เป็นทั้งคนและสัตว์ ชี้ขึ้นและลง นรก สวรรค์ แยกและรวมกัน ฯลฯ

 หลังจากนั้นทั้งโลกก็เชื่อกันว่าบาโฟเมตมีรูปร่างหน้าตาตามแบบที่ อิลิแฟส เลวี วาดมาจนถึงทุกวันนี้ และเป็นส่วนหนึ่งของ ตราประทับบาโฟเมต ในเวลาต่อมา

อ่านเพิ่มเติมที่วิกิพีเดีย

แสดงความคิดเห็น