ฅ คน หรือ ฅอคน เป็นตัวอักษรที่หายไปจากการภาษาไทยในปัจจุบัน และดูจะเป็นคำที่มีคนเข้าใจผิดกันมากพอสมควร เพราะคิดว่า ฅ นี้ ใช้สะกดคำว่า คน บางท่านจึงนำไปใช้เป็น ฅน ทั้งที่เคยมีการอธิบายเมื่อนานมาแล้วว่า คำนี้ไม่ใช่ ฅน
ตั้งแต่สมัยเป็นเด็กอนุบาลก็ต้องท่องสระและพยัญชนะไทยให้ได้ทั้งหมด พยัญชนะไทยมีทั้งสิ้น ๔๔ ตัว ก็ต้องท่องไล่เรียงไปตั้งแต่ ก ไก่ ข ไข่ ค ควาย ฯลฯ จนไปถึง ฮ นกฮูกตาโต
ตอนนั้นก็เลยเกิดคำถามขึ้นมาว่า “ไอ้เจ้าตัว ฅ นี้ ทำไมต้องเรียก คอคนด้วย เพราะคำว่าคนก็ไม่เห็นเขียนด้วยตัว ฅ” สมัยนั้นได้คำตอบมาว่า “ก็เพราะแต่ก่อนเราเขียนคำว่าคนด้วยตัว ฅ แต่สมัยหลังเขียนด้วยตัว ค ควาย คนก็เลยไม่เป็นคน แต่กลายเป็นควายแทน” ก็ยังว่าแปลกดี แค่เปลี่ยนตัวอักษรก็ทำให้คนเปลี่ยนไปด้วย ถ้าเปลี่ยนจาก ค ควาย เป็น ป ปลาได้ คนก็คงจะกลายเป็นปลา หรืออะไรอีกต่าง ๆ นานาเท่าที่ตัวอักษรจะบันดาลให้เป็นไป
เมื่อโตจนถึงมัธยมก็ได้ความรู้ใหม่มาว่าแต่ก่อนตัวอักษรไทยก็เป็นเพียงตัวโดด ๆ เรียกตัว ก ตัว ข ตัว ค ฯลฯ กันเฉย ๆ นอกจาก “สอ” สามสอ จึงเรียกให้ต่างกันว่า ส ลอ ศ คอ ษ บอ เพิ่งมาเรียกเป็น ก ไก่ ข ไข่ ฯลฯ เอาเมื่อตอนสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นผู้กำหนดนี้เอง นั่นก็แสดงว่าแต่ก่อนคนไม่ได้สนใจว่า “ค” ไหนจะเป็นควายหรือเป็นคน
เมื่อทราบดังนี้แล้วก็สงสัยต่อไปว่า “แล้วแต่ก่อนเราเขียนคำว่า คน ด้วยตัว ฅ จริงหรือ” แล้วพ่อขุนรามคำแหงมหาราชอุตส่าห์ “ต่อยหิน” รูป ฅ ขึ้นมาเพื่อคำว่า “ฅน” เพียงคำเดียว ? หรือแม้แต่ตัว ฃ ขวดเองก็มีปัญหานี้เหมือนกัน
ปัจจุบันหนังสือของสำนักพิมพ์ผีเสื้อได้พยายามที่จะกลับมาใช้ตัว ฃ และ ฅ อีก
ฃ และ ฅ
ด้วยความอยากรู้อยากเห็นจึงได้ไปค้นคว้า หาคำที่ใช้ ฃ และ ฅ ก็เลยไปเจอ หนังสือ รวมศิลาจารึกในประเทศไทย โดยกรมศิลปากร ศึกษาเฉพาะ หลักศิลาจารึกหลักที่ ๑ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
ก็ปรากฏว่า พบคำที่เขียนโดยใช้ ฃ ขวดทั้งสิ้น ๘ คำ คือ
- ฃุน (ปรากฏ 14 ครั้ง)
- ฃึ้น (ปรากฏ 2 ครั้ง)
- เฃ้า (ปรากฏ 4 ครั้ง)
- ฃวา (ปรากฏ 1 ครั้ง)
- ฃาย (ปรากฏ 1 ครั้ง)
- ฃ (ขอ) (ปรากฏ 1 ครั้ง)
- ฃ้า (ฆ่า) (ปรากฏ 1 ครั้ง)
- แฃวน (ปรากฏ 2 ครั้ง)
พบคำที่เขียนโดยใช้ตัว ฅ ทั้งสิ้น ๓ คำ คือ
- ฅ้า (ปรากฏ 1 ครั้ง)
- ฅวาม (ปรากฏ 3 ครั้ง)
- ฅู้ม (คุ้ม) (ปรากฏ 1 ครั้ง)
และพบคำว่า “คน” ในความหมายว่า “มนุษย์” ทั้งสิ้น 8 ครั้ง ทั้งหมดเขียนโดยใช้ตัว ค ควาย (ไม่นับ “…เบื้องหัวนอนรอดคนที…” เพราะเป็นชื่อเมือง) นี่ก็แสดงให้เห็นว่าความเชื่อที่ปรากฏมาแต่เดิมไม่ถูกต้องเสียแล้ว เพราะคำว่า “คน” เขียนโดยใช้ตัว ค ควายมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ไม่เคยแม้สักครั้งเดียวที่จะใช้ตัว ฅ เขียนคำว่า “คน”
เมื่อข้องใจดังนี้แล้วก็เลยต้องไปถามนักภาษาศาสตร์ภาษาไทย ผู้รู้ทั้งหลายจึงวิสัชนาให้แจ้งว่า “สันนิษฐานว่าแต่เดิมเสียง ข ไข่ , ฃ ขวด และเสียง ค ควาย , ฅ ฅน น่าจะแตกต่างกัน แต่ภายหลังมีการเลือนของเสียงให้ใกล้กัน จนกลายเป็นเสียงเดียวกันในที่สุด”
เมื่อได้ทราบอย่างนี้แล้วก็น่าจะสรุปได้แล้วว่า การที่คนจะเป็นคนหรือเป็นควายนั้น น่าจะเป็นเพราะตัวตนกระทำเอาเองมากกว่า ส่วนตัวอักษรคงไม่สามารถบันดาลให้ใครเป็นควายเป็นนกไปได้
ฅ ฅน ไม่ได้หมายถึงคน
ความจริง สมัยที่เราเอ่ยปากท่องตัวอักษร ก ไก่ ข ไข่ ฃ ขวด ค ควาย นั้น คำว่า ฅ ในที่นี้ หมายถึง (ลำ)คอของคน ไม่ใช่ หมายถึงคน
ขอยกบทความของ ศาสตราจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ (ราชบัณฑิต) ก็แล้วกัน เขียนไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ในจุลสารอะไรสักฉบับข้าพเจ้าขออภัย เนื่องจากลืมไปแล้ว จะกลับไปค้น ด้วยจำได้คลับคล้ายว่าเป็นจุลสารของมหาวิทยาลัยไหนสักแห่ง แต่ก็นึกไม่ออก หาไม่เจอ
เวลานี้ได้มีบุคคลบางคนพยายามรณรงค์จะให้นำเอา ฃ ขวด และ ฅ คน กลับมาใช้ในการเขียนภาษาไทยอีก รวมทั้งคุณอดิศร เพียงเกษ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการด้วย ทั้งนี้ก็โดยเห็นว่าคำว่า “คน” น่าจะใช้ ฅ คน ไม่ใช่ ค ควาย เพราะคนไม่ใช่ควาย ในเมื่อเรามี ฅ คน ใช้อยู่แล้ว ทำไมจึงต้องใช้ ค ควายเขียนคำว่า “คน” ด้วย
ทำให้ข้าพเจ้านึกถึงคุณประยูร จรรยาวงศ์ ที่ท่านพยายามรณรงค์ในการเขียนคำว่า “คน” โดยใช้ ฅ คนแทน ซึ่งท่านก็ทำได้ เพราะท่านเขียนเอง แล้วก็เอาไปทำบล็อก
ข้าพเจ้าเคยได้รับคำถามอยู่เสมอว่า ตัว ฃ ขวด และ ฅ คนนี้ได้เลิกใช้ตั้งแต่เมื่อใด เพราะ ฃ ขวด พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานบอกไว้ว่า “พยัญชนะตัวที่ ๓ นับเป็นพวกอักษรต่ำ แต่เดี๋ยวนี้เลิกใช้แล้ว.” และที่ ฅ ฅน ก็บอกว่า “พยัญชนะตัวที่ ๕ นับเป็นพวกอักษรต่ำ แต่เดี๋ยวนี้เลิกใช้แล้ว.” เมื่อเลิกใช้แล้วก็น่าจะตัดออกจากพจนานุกรม ข้าพเจ้าก็ตอบไปว่า ที่ว่า “เลิกใช้แล้ว” นั้น มิได้มีประกาศเลิกใช้เป็นทางการ หากเลิกใช้ไปโดยปริยายตั้งแต่ประมาณรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมากกว่า
ทั้งนี้เนื่องจากพิมพ์ดีดภาษาไทยซึ่งได้จัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีว่าการกระทรวงธรรมการนั้น ด้านอักษรไม่พอที่จะบรรจุพยัญชนะ และสระ รวมทั้งเครื่องหมายวรรณยุกต์และเครื่องหมายวรรคตอนของไทยได้ทั้งหมด
จึงจำเป็นต้องตัดพยัญชนะ สระ และเครื่องหมายที่ให้น้อยออก ซึ่งรวมทั้งตัว ฃ ขวด และ ฅ ฅนด้วย ทั้งนี้เพราะคำทั้ง ๒ นี้ มีใช้น้อย และก็ยังไม่ค่อยได้มาตรฐานเท่าใดนัก
คน ไม่ได้เขียนด้วย ฅ
ที่บางคนคิดว่าคำว่า “คน” ในสมัยสุโขทัยนั้นต้องเขียนด้วย ” ฅ” ด้วยนั้น นับว่าเป็นความเข้าใจผิด ทั้งนี้เพราะในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหงนั้น คำว่า “คน” ใช้ ค ควายทั้งนั้น ดังในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ด้าน ๔ มีข้อความตอนท้ายสุดของศิลาจารึกหลักนั้น ดังนี้
“…พ่อขุนพระรามคำแหงนั้น หาเป็นท้าวเป็นพระญาแก่ไทยทั้งหลาย หาเป็นครูอาจารย์สั่งสอนไทยทั้งหลายให้รู้บุญรู้ธรรมแท้ แต่คนอันมีในเมืองไทยด้วยรู้ด้วยหลวก ด้วยแกล้วด้วยหาญ ด้วยแคะด้วยแรง หาคนจักเสมอมิได้ อาจปราบฝูงข้าเสีก มีเมืองกว้างช้างหลาย ปราบเบื้องตะวันออก รอดสระหลวงสองแฅว… ชอบด้วยธรรมทุกคนฯ”
ในศิลาจารึกด้านที่ ๔ นี้มีคำว่า “คน” อยู่ ๓ แห่ง ท่านใช้ ค ควายทั้งสิ้น ส่วนคำที่ใช้ ฅ คน นั้นมีอยู่เพียง ๓ คำคือที่ด้าน ๑ มีคำว่า “ฅวาม” ในข้อความว่า “จึ่งแล่งฅวามแก่เขาด้วยชื่อ” และ “มีถ้อยมีฅวาม” และอีกคำหนึ่งที่ใช้ ฅ คน คือ “ฅำ” ในความว่า “พ่อเชื้อเสื้อฅำ” ที่ด้าน ๒ ก็มีคำว่า “ฅวาม” เช่นกันในข้อความว่า “…เมื่อถามสวนฅวามแก่มันด้วยชื่อ” และที่ด้าน ๔ มีคำว่า “แฅว” ในความว่า “สระหลวง สองแฅว” รวมแล้วก็ปรากฏว่าในศิลาจารึกหลักที่ ๑ มิใช้ ฅ คนมี ๓ คำคือ “ฅวาม” “ฅำ” และ “แฅว” เท่านั้น
จำนงค์ ทองประเสริฐ
อ้าว แบบนี้ ที่เข้าใจว่า ฅ หมายถึง (ลำ)คอของคน ก็น่าจะผิดด้วย แต่ที่ท่องกันมาแต่โบราณนั้น เป็น (ลำ)คอของคนจริง ๆ นะ ฅอคน มาจาก คอ (อวัยวะหนึ่ง)
ส่วน ฃ ขวดมีใช้หลายคำ คือคำว่า “ฃึ้น” “เฃ้า” ที่เป็นกริยา “ฃุน” “ฃาย” “แฃวน” “หมากฃาม” “เสียงฃับ” (ภู) เฃา” รวม ๘ คำ คำว่า “ฃุน” ซึ่งหมายถึงผู้เป็นใหญ่นั้นใช้ ฃ ขวดทุกแห่ง เช่น “ลูกเจ้าลูกฃุน” “ฃุนสายชน” “ฃุนรามคำแหง” “ฃุนพระรามคำแหง” คำว่า “เฃ้า” ที่เป็นกริยาใช้ ฃ ขวด เช่น “เกลื่อนเฃ้า” “กูขับเฃ้า” “เฃ้าเวียง” “เฃ้ามา” ถ้า “เฃ้า” ใช้เป็นคำนาม แปลว่าปีนั้นใช้ ข ไข่ เช่น “สิบเก้าเข้า” “สิบสี่เข้า” “หกเข้า” และ “สามเข้า” คำว่า “เขา” ถ้าเป็นคำนามอันหมายถึง ภูเขา ท่านใช้ ฃ ขวด เช่น “ในเฃาอันนั้น” “ผีในเฃาอั้น” ซึ่งอยู่ในด้าน ๓ ของศิลาจารึก
คำว่า “ขับ” ถ้าหากหมายถึงกิริยาอย่างขับไล่ ก็ใช้ ข ไข่ เช่น กูขับเข้าก่อนพ่อกู” แต่ถ้าหมายถึง “ขับร้อง” ก็ใช้ ฃ ขวด เช่น “เสียงเลื่อนเสียงฃับ”
เมื่อเปิดหนังสือ “อักขราภิธานศรับท์” ของ หมอปรัดเล ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. ๑๘๗๓ ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๑๖ ก็พบคำที่ใช้ ฃ ขวด ได้แก่ “ขิก, ขุก ๆ , ขุกขัก, ขุกค่ำขุกคืน, เขกหัว, เขกโขก, แขกทั้งหมด, โขก, ขอกรั้ว, ขงจู๊ และ ขัง” เฉพาะคำว่า “ขัง” พอเป็นลูกคำ เช่น ขังไก่ ขังคน ฯลฯ ใช้ ข ไข่ทั้งหมด คำว่า “ข้าง” ใช้ ฃ ขวดก็มี ข ไข่ก็มี “ขิง, ขึง, ขึ้ง เข่ง, แขง, แข่ง, แข้ง, โขง, โข่ง, ของรวมทั้งลูกคำ ยกเว้น “ของสงฆ์” ใช้ ข ไข่ ซึ่งยังไม่มีเอกภาพเลย ส่วน ฅ นั้นมีใช้น้อยมาก แม้แต่คำว่า “คน” ก็ใช้ ค ควาย ที่ใช้ ฅ ก็คือ “คอของคน ลำคอ และ คอหอย” เท่านั้น อย่าง “ห่าหักฅอ” ก็ใช้ ฅ
จำนงค์ ทองประเสริฐ
อ้อ ที่ท่องมาว่า ฅอ คน ฅอคน มาแบบนี้เอง
ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าการจะหันกลับไปใช้ ฃ และ ฅ อีกนั้น จะเอาอะไรเป็นหลักในการที่จะกำหนดว่าเมื่อใดใช้ ฃ ขวด และเมื่อใดใช้ ฅ แต่ที่พจนานุกรมยังคงเก็บ ฃ ขวด และ ฅ ไว้ก็เพื่อรักษาประวัติความเป็นมาของอักษรไทย เพราะถ้าหากตัด ๒ คำนี้ออกไป ต่อไปอีกสัก ๕๐ – ๖๐ ปี อนุชนรุ่นหลังมาพบคำว่า ฃ ฅ ในหนังสือเก่า ๆ ก็จะไม่ทราบว่าเป็นมาอย่างไร อาจคิดว่าคนโบราณเขียนผิดก็ได้.
จำนงค์ ทองประเสริฐ
ก็หวังว่าจะเข้าใจกันแบบนี้ ว่าไม่จำเป็นต้องสะกดคำว่า คน ด้วย ฅน