Black Lives Matter เป็นขบวนการเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือผู้มีอำนาจภาครัฐในสหรัฐอเมริกา ปฎิบัติต่อชาวผิวดำอย่างเท่าเทียม โดยมีข้อสมมติฐานว่า เวลาเจ้าหน้าที่ตำรวจพบเห็นผู้ต้องสงสัยผิวดำมักจะใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ
แม้แต่ในดินแดนที่โฆษณาว่าเป็นดินแดนแห่งความเสมอภาคและโอกาสอย่างอเมริกาก็ยังมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมและอคติที่หยั่งรากลึกจนเกินกว่าจะแก้ได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะเรื่องอคติทางสีผิวในอเมริกายังเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสไม่แพ้ที่ใดในโลก ปัญหาเรื่องตำรวจ (ผิวขาว) เลือกปฏิบัติต่อคนผิวดำมีมาช้านาน เกิดเป็นตะกอนสะสมกันมาหลายสิบปี เมื่อมีเหตุอะไรมากระตุ้น มันก็ปะทุขึ้นอีกครั้ง
ใช้คำว่าอีกครั้งเพราะมันไม่ใช่ครั้งแรก และจะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ความรู้สึกไม่เป็นธรรมระหว่างสีผิวยังคงดำเนินต่อไปในอเมริกา และขณะกำลังเขียนเรื่องนี้อยู่ก็กำลังประท้วงกันในหลายรัฐเพราะคำว่า ๘ นาที ๔๖ วินาที ซึ่งมาจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เจ้าหน้าที่ตำรวจมินนีแอโพลิสได้จับกุม จอร์จ ฟรอยด์ ชายผิวดำวัย ๔๘ ที่ใช้ธนบัตร ๒๐ ดอลลาร์ปลอมซื้อบุหรี่ เดริก ชอวิน เจ้าหน้าที่ตำรวจจับ จอร์จ ฟรอยด์ กดลงกับพื้นโดยเอาเขากดบริเวณคอไว้ ซึ่งกล้องวงจรปิดจับภาพไว้ได้ว่าเป็นการกดนานถึง ๘ นาที ๔๖ วินาที จอร์จ ฟรอยด์ เสียชีวิตจากเหตุนั้น เจ้าหน้าที่ทั้ง ๔ โดนไล่ออกในวันรุ่งขึ้น และ เดริก ชอวิน ที่เอาเข่ากดคอ จอร์จ ฟรอยด์ โดนฟ้องข้อหาฆาตกรรมโดยไม่ตั้งใจ
เรื่องนี้ ถ้าพูดอย่างเป็นกลาง ก็น่าเห็นใจคุณตำรวจพอสมควร เพราะประวัติของจอร์จก็ใช่ว่าจะดี ทั้งเรื่องยาเสพติด ปล้น ตามที่ แคนแดซ โอเวน นักกิจกรรมทางการเมืองผิวดำที่ออกมาเปิดเผยเกี่ยวกับความรุนแรงต่าง ๆ ซึ่งทำให้ตำรวจ “ระแวง” และป้องกันตัวมากจนเกินเลย
อ่านเพิ่มเติมที่
https://www.voanews.com/usa/race-america/anti-racism-protests-continue-us
ยกมือขึ้น
แต่กระแสต่อต้านการกระทำรุนแรงของตำรวจต่อคนผิวดำ ปะทุมานานแล้ว ตั้งแต่กรณี “ยกมือขึ้น” ซึ่งมาจากกรณีเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ เจ้าหน้าที่ตำรวจคนผิวขาวยิง ไมเคิล บราวน์ วัยรุ่นผิวสีอายุ ๑๗ ปีที่ไม่มีอาวุธ ในเมืองเฟอร์กูสัน ทั้งที่ขณะนั้นมีคนเห็นว่าเขาชูมือขึ้นเหนือหัวแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ผู้ยิงไมเคิลอ้างว่าขณะนั้นไมเคิลวิ่งเข้าใส่เขา จึงจำเป็นต้องยิงเพื่อป้องกันตัว และเขาจำเป็นต้องทำไม่ว่าคนที่วิ่งเข้าหานั้นเป็นคนผิวขาวก็ตาม
กรณีนี้คณะลูกขุนใหญ่ไม่ฟ้องดำเนินคดี ก่อเกิดการประท้วง “ยกมือขึ้น” คือใช้สัญลักษณ์ยกมือเหนือศีรษะในลักษณะยอมจำนน แม้แต่ทีมอเมริกันฟุตบอล เซนหลุยส์แรมส์ ก็ยังแสดงท่านี้ ช่วงท้ายการแข่งเพื่อร่วมประท้วง เพราะ ส่วนนายตำรวจผู้ยิงลาออกจากงานเพื่อรับผิดชอบและลดแรงกดดันต่อองค์กรเนื่องจากมีการขู่จะทำร้ายตำรวจที่ปฏิบัติงานในสถานีตำรวจเมืองเฟอร์กูสัน
ฉันหายใจไม่ออก
ประโยค “ฉันหายใจไม่ออก” (I Can’t Breath) เป็นประโยคสุดท้ายที่ อีริก การ์เนอร์ ชายผิวดำร่างใหญ่พูดก่อนเสียชีวิตระหว่างที่ตำรวจนิวยอร์คซิตี้ควบคุมตัวเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ในเกาะสแตเทน นิวยอร์ก เขาต้องสงสัยว่าขายบุหรี่หนีภาษี ตำรวจหลายรายรุมล้อมเขา และเจ้าหน้าที่แดเนียล แพนทาลีโอได้ล็อกคอเขาจากด้านหลัง อิริกพยายามบอกว่าเขาหายใจไม่ออก แต่ไม่มีใครสนใจจนเขาเสียชีวิตในที่สุด
ฝ่ายชันสูตรลงความเห็นว่าเป็นความตายแบบ “ฆาตกรรม” เพราะถูกรัดคอกดทับจนหายใจไม่ออก และการล็อกคอจากด้านหลังเป็นเรื่องต้องห้ามตามนโยบายของกรมตำรวจนครนิวยอร์ก แต่ทางฝ่ายกฎหมายของตำรวจชี้แจงว่าถึงแม้จะมีการห้ามล็อกคอจากข้างหลัง แต่ไม่มีโทษทางอาญา สมาคมสหภาพตำรวจท้องถิ่นชี้แจงว่านายแดเนียลทำการภายใต้กรอบของกฎหมาย
และเมื่อคณะลูกขุนใหญ่นิวยอร์กคลงมติไม่ฟ้องนายตำรวจผู้ล็อกคออีริคระหว่างจับกุมจนเป็นเหตุให้ถึงตาย สร้างความไม่พอใจให้คนจำนวนมาก เมื่อคืนวันที่ ๕ ธันวาคม (ตามเวลานิวยอร์ก) เกิดประท้วงกันขนานใหญ่ในเขตมิดทาวน์ แมนฮัตตัน บางส่วนนอนบนทางเท้าใกล้กับศูนย์ร็อกกีเฟลเลอร์ที่กำลังมีพิธีประดับไฟให้ต้นคริสต์มาส เพื่อประท้วงอย่างสงบ
เฟรดดี เกรย์
หลังจากเหตุประท้วงด้วยปัญหาการปฏิบัติไม่เป็นธรรมจากตำรวจ (โดยเชื่อว่าเลือกปฏิบัติจากสีผิว)เริ่มจางไปไม่เท่าไหร่ ในบัลติมอร์เกิดเหตุประท้วงขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากตำรวจบัลติมอร์จับ เฟรดดี เกรย์ หนุ่มผิวดำเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเขาถูกตำรวจซ้อมหนักเอาการ
เจ้าหน้าที่นำตัวเฟรดดี เกรย์ส่งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ เขาเสียชีวิตหลังจากนั้น ๑ สัปดาห์ เรื่องนี้ทำให้เกิดชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ ลามจนเป็นจลาจล สาเหตุจากความเชื่อว่าตำรวจตั้งใจเล่นงานเฟรดดีหนักเกินเหตุ โดยมีการลำดับเวลาดังนี้
ระหว่างเวลา ๐๘.๔๐ — ๐๘.๔๖ เจ้าหน้าที่ตำรวจ การ์เร็ทท์ มิลเลอร์ และ เอ็ดเวิร์ด เนโร จับกุมตัว เฟรดดี เกรย์ (อ้างในรายงานว่าเขาพบมีดพับในตัวเฟรดดี แต่การพกมีดพับไม่ผิดกฎหมาย) ร้อยตำรวจโท ไบรอั้น ไรซ์ เข้ามา (หมายเหตุ ตำแหน่ง Lieutenant เทียบกับยศทางไทยคือร้อยโท ร้อยตำรวจโท แต่การจัดลำดับชั้นยศของตำรวจอเมริกาต่างจากไทย) ตำรวจสามนาย จับเฟรดดี เข้ารถตู้ตำรวจซึ่งมีเจ้าหน้าที่ซีซา กูดสัน เป็นคนขับที่ถนนเพรสเบอรี เขาโดนจับกุมตัวเข้าหลังรถตามธรรมเนียมปฏิบัติปกติ ซึ่งตำรวจบอกว่า “เป็นการจับกุมตัวโดยไม่ใช้กำลัง” มีวิดีโอที่คนแถวนั้นได้จับภาพเอาไว้
ในวิดีโอจะเห็นว่าเฟรดดีร้องเสียงดัง และโดนลากไป (เหมือนขาจะได้รับบาดเจ็บ ผู้เห็นเหตุการณ์ตะโกนถึงเรื่องนี้ในวิดีโอด้วย)
ระหว่างเวลา ๐๘:๔๖ — ๐๘:๕๔ รถตำรวจจอดช่วงระหว่างถนนเมาท์กับเบเกอร์ ซีซาอ้างว่าหยุดเพื่อเขียนรายงาน ณ จุดนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจใส่กุญแจมือและเท้าเฟรดดี และให้เขานั่งหมอบก้มหัวติดท้อง (ซึ่งเชื่อว่าเป็นตัวเร่งเร้าอาการบาดเจ็บให้หนักขึ้น)
ระหว่างเวลา ๐๘:๕๔ — ๐๘:๕๙ รถตำรวจจอดช่วงถนนนอร์ธฟรีมอนท์อเวนิวกับถนนมอชเชอร์ ไม่มีรายงานว่ารถจอดทำอะไร แต่หลังเกิดเหตุแล้วมีการเช็คกล้องวงจรปิดตามเส้นทางรถตำรวจวิ่ง จึงได้เห็นว่ารถตำรวจมาหยุดจอดที่นี่ (เชื่อว่าคงตรวจดูสภาพอาการบาดเจ็บของเฟรดดี)
๐๘:๕๙ รถตำรวจจอดช่วงระหว่างถนนดรูอิดฮิลล์อเวนิว กับถนนดอลฟิน ตำรวจต้องไปรับผู้ต้องสงสัยอีกคน
๐๘:๕๙ — ๐๙:๒๔ รถตำรวจจอดที่ ๑๖๐๐ บล็อกดับเบิลยู ถนนนอร์ธอเวนิว เพื่อรับผู้ต้องสงสัยอีกคนไปด้วย พร้อมเจ้าหน้าที่วิลเลียม พอร์ตเตอร์ และจ่าตำรวจ อลิเซีย ไวท์
๐๙.๒๔ รถพยาบาลฉุกเฉินได้รับสายให้ไปที่ตั้งสถานีตำรวจ และรับตัวเฟรดดี เกรย์มาโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ เฟรดดี เกรย์เสียชีวิตวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๘ สองวันต่อมาคนในชุมชนก็เริ่มมีปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เริ่มชุมนุมประท้วงลุกลามเป็นจลาจลถึงขั้นต้องประกาศกฎอัยการศึก
ผลการชันสูตรยืนยันว่าได้รับบาดเจ็บจากการบาดเจ็บทางร่างกาย ส่วนหนึ่งมาจากการโดนจับใส่กุญแจมือและล่ามเท้า อยู่ด้านหลังรถแวนในท่าที่ไม่เหมาะสม เจ้าหน้าที่ตำรวจ ๖ นายโดนตั้งข้อหาฆาตกรรม เจ้าหน้าที่วิลเลียม พอร์ตเตอร์ กับจ่าตำรวจอลิเซีย ที่มาสมทบภายหลังก็โดนด้วย โดยมีรายงานว่าอลิเซียได้ตรวจเช็คสภาพของเฟรดดี แต่ปล่อยปะละเลย ไม่ใส่ใจจะช่วยเหลือ
อ่านเพิ่มเติม https://www.rollingstone.com/culture/culture-features/death-of-freddie-gray-5-things-you-didnt-know-129327/
เรื่องนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ว่าความเท่าเทียมเป็นเพียงทฤษฎี ยังไม่เคยมีจริงในโลกใบนี้
Black Lives Matter
เรื่องที่นำเสนอมาข้างต้นเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า คนผิวดำมองว่า ความเท่าเทียมทางสีผิวเป็นเพียงทฤษฎี ยังไม่เคยมีจริงในโลกใบนี้ จึงเกิดเป็นขบวนการเรียกร้องที่บอกว่า ชีวิตคนดำมีความหมาย – Black Lives Matter ซึ่งทางฝ่ายคนที่ไม่ใช่คนผิวดำก็บอกว่า ทุกชีวิตมีความหมายโว้ย – All Lives Matter
เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ความเป็นมาว่า Black Lives Matter คือการเรียกร้องของคนผิวดำ ซึ่งสืบรากลงไปถึงการเป็นทาส มันจึงมีความหมายเฉพาะ ไม่ได้บอกว่าชีวิตอื่นไร้ความหมาย แต่นี่กำลังพูดถึงคนผิวดำ
ปัญหาความขัดแย้งทางสีผิวยังไม่จบง่าย ๆ ฝันกลางวันของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ คงต้องเป็นแค่ฝันไปอีกนานกว่าคนต่างผิวสีจะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสันติในอเมริกา
ปัญหานี้คงเป็นปัญหาระดับชาติที่หยั่งรากฝังลึกลงไปทุกที เรื่องของคนเชื้อสายอัฟริกาในอเมริกามีประเด็นมายาวนาน ตั้งแต่สมัยที่พวกเขาเป็นเพียงทาส จึงโดนมองว่าเป็นมนุษย์คนละระดับกับคนผิวขาวอันศิวิไลซ์เกินกว่าจะหาผิวสีอื่นเปรียบได้ ถึงขนาดว่าครั้งหนึ่ง ศาลสูงสุดของอเมริกาเคยประกาศว่า คนผิวดำไม่ว่าจะเป็นทาสหรือไม่ใช่ทาส ก็ล้วนแต่ไม่ใช่พลเมืองสหรัฐอเมริกา จึงไม่มีสิทธิตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ (คดี Dred Scott v. Sandford ปีค.ศ. ๑๘๕๗) ซึ่งเป็นหนึ่งเหตุการณ์ที่นำไปสู่สงครามกลางเมืองของสหรัฐอเมริกา
ดังนั้นเรื่องนี้คงไม่ยุติโดยง่าย และคงต้องใช้เวลา
เรื่องนี้มีผลกระทบมาถึงปัจจุบัน ที่ความขัดแย้ง การแสดงสัญลักษณ์เพื่อบ่งบอกจุดยืน ซึ่งบางทีก็นำมาสู่ปัญหาหลายเรื่อง เช่นกรณีของ คอลิน เคเปอร์นิก
Unite the Right
กลุ่มชาตินิยมผิวขาวได้ชุมนุม “ฝ่ายขวารวมเป็นหนึ่ง” (Unite the Right) ในชาร์ลอตต์วิลล์คืนวันเสาร์ที่ 12 สิงหาคม ตามเวลาท้องถิ่น ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มที่ต่อต้านฝ่ายขวาออกมารวมกลุ่มต่อต้านด้วยเช่นกัน
มูลเหตุการประท้วง เกิดจาก หน่วยงานท้องถิ่นได้เคลื่อนย้ายรูปปั้น โรเบิร์ต อี ลี นายพลทหารฝ่ายใต้ช่วงสงครามกลางเมืองจากสวนอีแมนซิเปชันในชาร์ล็อตวิลล์ ทำให้มีการประท้วงตั้งแต่พฤษภาคม นำโดยริชาร์ด บี สเปนเซอร์ ผู้หลงชาตินิยมหัวรุนแรงคูคลักซ์แคลนเป็นแกนนำ มีการจัดเดินขบวนเพื่อแสดงออกโดยเปิดเผยมาหลายครั้ง
แต่เบื้องหลังการประท้วงนั้นไม่ได้อยู่ที่รูปปั้นอย่างเดียว กลุ่มนิยมขวาจัด ทั้งกลุ่มคลั่งชาติผิวขาว และกลุ่มนิยมผิวขาวเริ่มคิดว่าตัวเองคือฐานเสียงสำคัญของโดนัลด์ ทรัมป์ และบัดนี้ได้เวลาเคลื่อนไหวแล้วมากกว่า เมื่อการเดินขบวนเคลื่อนมาถึงเวอจิเนียร์ก็มีการต้อนรับทั้งจากฝ่ายสนับสนุนและต่อต้าน
ผลคือ ในราวตีหนึ่งสี่สิบห้านาที มีรถยนต์พุ่งเข้ากลุ่มที่ออกมาต่อต้านฝ่ายขวา และผู้อยู่ในเหตุการณ์อ้างว่ารถคันดังกล่าวพุ่งตรงสู่กลุ่มคนอย่างตั้งใจ มีคนบาดเจ็บนับสิบราย บางคนบาดเจ็บสาหัส และมีผู้เสียชีวิตหนึ่งราย ฮีตเธอร์ ดี ฮีเยอร์ อายุ 32 คนขับรถเป็นชายวัย 20 ปี เจมส์ อเล็กซ์ ฟิลด์ จูเนียร์ จากมัวมี โฮไอโอ ผู้หลงใหลแนวคิดนีโอนาซี
เทอรี แม็กออลิฟฟ์ ผู้ว่าการรัฐเวอจิเนียประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทันที
เหตุการณ์นี้มีสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่าง เป็นต้นว่ากลุ่มลัทธิบูชาผิวขาวว่าเป็นเลิศเหนือสีผิวอื่นแทบไม่มีพื้นที่ในสื่อกระแสหลักมานาน จนกระทั่งโดนัลด์ ทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดี และกับเหตุการณ์นี้ โดนัลด์ก็ได้แสดงความเห็นว่า
“เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเกลียดชัง ความบ้าคลั่ง และความรุนแรงอย่างมากในหลายด้าน”
โดนัลด์ ทรัมป์
โดยไม่แตะกลุ่มผู้นิยมผิวขาว ทำให้เกิดปฏิกิริยาตีกลับว่าโดนัลด์สนับสนุนฝ่ายนิยมผิวชาว จนมีคนจากทำเนียบขาวออกมาเสริมว่า “ท่านประธานาธิบดีกล่าวในแถลงการณ์เมื่อวานนี้ว่าเขากล่าวโทษทุกรูปแบบของความรุนแรง ความคลั่งไคล้ และความเกลียดชัง แน่นอนว่ามีกลุ่มผู้นิยมผิวขาว เคเคเค นีโอนาซีและกลุ่มหัวรุนแรงทั้งหมดอยู่ด้วย”
โธมัส พี บอสเซิร์ต ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงกล่าว่า ท่านประธานาธิบดีไม่อยาก “เชิดชูชื่อกลุ่มเหล่านั้น”
และอิวานกา ทรัมป์ บุตรสาวของโดนัลด์ ทรัมป์ก็ทวีตข้อความว่า ไม่ควรมีพื้นที่ในสังคมให้กลุ่มเหยียดผิว บูชาผิวขาว และนีโอนาซี