The Origin of the World หรือ L’Origine du monde หรือ ต้นกำเนิดโลก เป็นผลงานของ กุสตาฟว์ กูร์แบ เมื่อปีค.ศ. ๑๘๘๖ เป็นรูปช่วงกลางของสตรีนางหนึ่งนอนเปลือยแยกขา เห็นเส้นขนบนเนินโยนีเต็มตา
รูปนี้เป็นผลงานในสาย สัจนิยม หรือ Realism คือเขียนภาพเหมือนจริง แสดงสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ต่างจากศิลปะยุคก่อนหน้า เช่น โรแมนติก ที่จะนำเสนอความคิดเป็นอุดมคติ ภาพฝันสมบูรณ์แบบ งานสัจนิยมจะเสนอสิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้าโดยไม่แต่แต่งเติมและไม่สร้างความฝันประโลมใจ
แต่ภาพ “ต้นกำเนิดโลก” นี้แสดงภาพอย่างที่เห็นจริง และเส้นขนดกดำกระจุกนี้เป็นการมองโลกอย่างที่เป็นจริง นี่คือร่างกายจริง
แล้วสาวคนนั้นเป็นใคร
แต่เนิ่นนานมา เล่ากันว่า สาวต้นแบบ “ต้นกำเนิดโลก คือ โจแอนนา ฮิฟเฟอนัน (Joanna Hiffernan) หรือ โจ นางแบบไอริส แฟนสาวของ เจมส์ วิสท์เลอร์ (James Whistler) ศิลปินอเมริกัน เพื่อนของ กุสตาฟว์ กูร์แบ และภาพนี้เป็นต้นเหตุให้เจมส์กับกุสตาฟว์ทะเลาะกันจนเจมส์ย้ายกลับลอนดอน
แต่ก็มีบางคนแย้งว่าไม่น่าใช่ เพราะเส้นขนที่เห็นสีเข้ม แตกต่างจากเส้นผมของโจแอนนาซึ่งเป็นสีแดงเพลิง
แต่มีคนค้นพบข้อสังเกตของ อเล็กซานเดอร์ ดูมาส์ คนลูก (Alexandre Dumas fils) กับ จอร์จ แซนด์ (George Sand) ระบุว่า น่าจะเป็น คอนสแตนส์ ควิโนซ์ Constance Queniaux นักเต้นบัลเลต์ชาวปารีส ภรรยาน้อยของ คาลิล เบย์ นักการทูตเยอรมัน และภาพนี้เขียนในฤดูร้อน ค.ศ. ๑๘๘๖ โดย คาลิลเป็นผู้ว่าจ้างให้กุสตาฟว์วาดเก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตัว และเมื่อนำไปเทียบกับรูปของเธอหลายภาพ ลักษณะของรูปร่างและสีผม ทำให้หลายคนปักใจเชื่อว่าเธอเป็นต้นแบบของภาพ The Origin of the World
ความสำคัญของ The Origin of the World
การเขียนภาพเปลือยมีมายาวนาน แต่ก่อนหน้านั้นศิลปินมักเลี่ยงการวาดโยนีให้เห็นเต็มตา กุสตาฟว์ เน้นความสมจริง และวางจุดสนใจไปที่โยนีชัดเต็มตา นี่คือคุณค่าของต้นกำเนิดโลก ในฐานะศิลปะในแขนงสัจนิยม
แต่ระยะหลังกลับมีคำถามว่าภาพนี้สมจริง จริงหรือไม่ ใช่หรือมั่ว
ดูวิดีโอก่อน
เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๒๐๑๔ เดโบราห์ เดอ โรเบอร์ติส (Deborah De Robertis) นางแบบ/ศิลปินสาวเดินเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ออร์แซ นั่งหน้ารูปต้นกำเนิดโลกของกูร์แบ แล้วก็ถ่างขาออกเลียนแบบรูปของกูร์แบ เธอตั้งชื่อการแสดงของเธอว่า ภาพสะท้อนต้นกำเนิด (Mirror of Origin) เมื่อหน่วยรักษาความปลอดภัยเห็นก็เข้ามาล้อมรอบเธอ และสุดท้ายต้องพึ่งตำรวจพาเธอออกไปจากพิพิธภัณฑ์
ภายหลังเธอบอกว่าประมาณหนึ่งเดือนก่อนหน้านั้นเธอเคยมาที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้และเปิดแสดงแบบนี้ครั้งหนึ่งแล้ว แต่หน่วยรักษาความปลอดภัยไม่เห็น หรือเห็นแต่ไม่ว่าอะไร
“ฉันไม่ได้ทำโดยไร้ความคิด” เดโบราห์ เดอ โรเบอติส อธิบายการกระทำของเธอ
“มีช่องว่างในประวัติศาสตร์ศิลปะที่ขาดหายไปต่อสิ่งที่เห็นในภาพวาดเสมือนจริงของเขา ภาพแสดงให้เห็นขาเปิดถ่างออก แต่กลีบโยนียังปิดอยู่ เขาไม่ได้เผยภาพจริงต่อสายตาคนดู รูนั่น…ที่ฉันทำไป ฉันไม่ได้จะเปิดอวัยวะเพศให้ใครดู, แต่ฉันกำลังแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่หายไปในภาพนี้ ช่องคลอด หลุมดำกลางโยนี, ดวงตาที่ปิดสนิทนี้ ช่องว่างนี้มันไม่ใช่แค่กลีบเนื้อ มันหมายถึงความเป็นนิรันดร์ ต้นกำเนิดของการกำเนิด”
นั่นคือ เดโบราห์ เดอ โรเบอติส คิดว่า ภาพเขียนของกุสตาฟว์ ไม่ได้แสดง “ความจริง” ไม่มีทางที่หญิงสาวจะอ้าขาแบบนั้นแล้วกลีบโยนีจะปิดสนิทแบบนั้น มันจะต้องเปิดเผยช่องคลอดให้เห็นบ้าง
ทัศนคติของ กุสตาฟว์ กูร์แบ ต่อ “สัจนิยม”
หากเราอ่าน “แถลงการณ์” หากได้อ่านคำแถลงการณ์ในฐานะศิลปิน ที่กุสตาฟว์กล่าวในนิทรรศการของตัวเองที่กรุงปารีสเมื่อปีค.ศ. ๑๘๕๕ เขากล่าวว่า
มีคนเรียกข้าพเจ้าว่า นักสัจนิยม เช่นเดียวกับที่เรียก โรแมนติก กับศิลปินในปี ๑๘๓๐ จะเรียกว่าอะไร ก็ไม่เคยแสดงความคิดที่แท้จริงเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ เพราะถ้ามันทำอย่างนั้นได้ ผลงานศิลปะคงไม่จำเป็น
ไม่ต้องขยายความให้มากขึ้นหรือน้อยลง ซึ่งข้าพเจ้าไม่ควรหวัง, ว่าจะสามารถเข้าใจได้อย่างแท้จริง ข้าพเจ้าจะจำกัดความให้ชัดเจนด้วยคำพูดเพียงเล็กน้อยเพื่อกำจัดความเข้าใจผิดให้น้อยลง
ข้าพเจ้าได้ศึกษาศิลปะของสมัยโบราณและศิลปะสมัยใหม่ โดยหลีกเลี่ยงอุปาทานและปราศจากอคติ ข้าพเจ้าไม่ต้องการเลียนแบบสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งมันไม่เป็นอะไรอื่นนอกจากการคัดลอกอีกอันและอีกอัน และไม่ใช่ความตั้งใจของข้าพเจ้าที่จะบรรลุเป้าหมายเล็กๆ น้อยๆ ของ “ศิลปะเพื่อศิลปะ” ไม่! ข้าพเจ้าแค่อยากจะดึงตัวเองออกจากประเพณีขนบนิยมที่คุ้นเคย ด้วยจิตสำนึกที่มีเหตุผลและเป็นอิสระแสดงความเป็นตัวของตัวเอง
เพื่อที่จะได้รู้ว่าต้องทำอย่างไร นั่นคือความคิดของข้าพเจ้า จะสามารถแปลขนบธรรมเนียม ความคิด รูปลักษณ์ของเวลาได้ ตามประมาณการของข้าพเจ้าเอง ไม่ใช่แค่เป็นจิตรกรเท่านั้น แต่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งด้วย กล่าวสั้น ๆ คือ เพื่อสร้างงานศิลปะที่มีชีวิต – นี่คือเป้าหมายของข้าพเจ้า
กุสตาฟว์ กรูแบ, ค.ศ. ๑๙๘๕
ความข้อนี้เป็นไฉน?
ประเด็นนี้ สะเทือนความเป็น “สัจนิยม” ที่ต้องเสนอความจริง ถ้าหากมีข้อสงสัยว่า กุสตาฟว์ กูร์แบ ได้ “ตกแต่งความจริง” ขึ้นมาเพื่อความสวยงาม หรือเพื่ออะไรก็ตาม มันขัดกับสิ่งที่เขาตั้งใจนำเสนอทั้งหมด
ข้าพเจ้าแค่อยากจะดึงตัวเองออกจากประเพณีขนบนิยมที่คุ้นเคย ด้วยจิตสำนึกที่มีเหตุผลและเป็นอิสระแสดงความเป็นตัวของตัวเอง
แต่ภาพนี้ เขากำลังเสนอสิ่งที่ “ไม่จริง” และหากเขาอ้างว่าเขามีเสรีภาพในการเสนอความจริงเต็มที แต่บิดเบือน “ความจริง” เพื่อความสวยงามหรือเพื่อศีลธรรม หรือ เพื่อ ฯลฯ อะไรต่าง ๆ นานา หรือไม่?
หมายถึงในที่สุดแล้วโยนีเป็นสิ่งต้องห้าม หรือเป็นสิ่งที่ต้องปกปิด ภาพต้นกำเนิดโลกที่เคยมีคุณค่าในฐานะเปิดเผยเรื่องปกปิดกลับไม่ได้แสดงความสมจริง นั่นคือความจริงนั้นก็ยังโดนบิดเบือน
ถ้าเป็นอย่างนั้น บางทีภาพ เลอาห์ สีน้ำเงิน หมายเลข ๗ (Blue Leah #7) ของ เดเนียล เมดแมน อาจจะอธิบายถึงคำว่าสมจริงตามที่ควรจะเป็น
หรืออย่างที่ มิกคาลีน โธมัส วาดภาพ ต้นกำเนิดของจักรวาล ๑ (Origin of the Universe 1)
เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ควรสนใจ และไม่คิดว่าจะทำให้คุณค่าผลงานของ กุสตาฟว์ กูร์แบ ลดน้อยลง แต่ก็ทำให้เกิดคำถามถึงคำว่าสมจริงตามนิยามที่กุสตาฟว์นำเสนอ
คิดเห็นอย่างไร โปรดแสดงความคิดข้างล่างนี้เพื่อแลกเปลี่ยนกัน