Richard Prince

มีคำกล่าว่า Good artists copy, great artists steal – ศิลปินที่ดีลอกเลียน ศิลปินที่ยิ่งใหญ่ขโมย ริชาร์ด พรินซ์ (Richard Prince) ทำตัวอย่างให้เห็นว่าเขาเป็นศิลปินที่ยิ่งใหญ่…ด้วยการขโมยภาพคนอื่นมาใช้ดื้อ ๆ ! อย่างเช่นผลงานในชื่อ “นิวพอร์ทเทรทส์” (New Portraits) เขาจับภาพหน้าจออินสตาแกรมมาขยายขนาดใหญ่ ทุกอย่างเหมือนกับที่ดูอินสตาแกรมตามปกติ เพียงแต่มีขนาดใหญ่ ทุกภาพจะมีชื่อริชาร์ด พรินซ์แสดงความคิดเห็นต่อรูปภาพนั้นอยู่ด้วย

แต่ในความคิดเห็นนั้นเขาไม่ได้บอกเจ้าของภาพว่าจะนำภาพของบุคคลเหล่านั้นไปขาย

และขายในราคาแพงถึง ๑๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ

Richard Prince – ใคร?

ริชาร์ด พรินซ์

ริชาร์ด พรินซ์เป็นศิลปินเชิงแนวคิด (Conceptual art – หลายท่านถอดคำไทยว่ามโนทัศนศิลป์) ที่ทำงานมายาวนานตั้งแต่ทศวรรษ ๑๙๗๐ โดยนำเสนอผลงานศิลปะโดยนำภาพถ่ายของคนอื่นมาดัดแปลง (Re-photography) เขาเคยแสดงความคิดของตัวเองว่าวัตถุไม่สำคัญเท่าความคิดนำเสนอ และผลงานของเขาก็ได้นำผลงานของคนอื่นที่ปรากฏในที่ต่าง ๆ เช่นหน้าโฆษณาในนิตยสารมาดัดแปลงใหม่ ตัวอย่างเช่น ภาพหนึ่ง เขาไปตัดเอามาจากโฆษณาบุหรี่มาร์ลโบโร ถ่ายโดย แซม เอเบลล์ (Sam Abell) ซึ่งแซมก็ไม่ประทับใจกับการทำงานของริชาร์ดเท่าไหร่นัก

ลองชมวิดีโอสัมภาษณ์แซมเกี่ยวกับเรื่องนี้

แซม เอเบล หนึ่งในช่างภาพที่โดน ริชาร์ด พรินซ์ นำรูปไปใช้

ริชาร์ด พรินซ์ ใช้สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมและวิพากษ์วิจารณ์มันออกมาโดยใช้สิ่งที่เห็นได้ในที่สาธารณะ ส่วนใหญ่เป็นรูปภาพของคนอื่นและเขานำมันมาดัดแปลง (หรือบางทีก็แทบไม่ได้ดัดแปลง) อย่างเช่นผลงานที่โด่งดังมากชิ้นหนึ่งของเขาคือภาพ จิตวิญญาณอเมริกา ที่เขาเผยแพร่ออกมาเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๒๖

จิตวิญญาณอเมริกา – Spiritual of America

นิตยสาร ชูการ์เอ็นสไปซ์ (Sugar ‘n’ Spice) เผยแพร่ภาพเปลือยของ บรูค ชิลด์ส ในวัย ๑๐ ขวบ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ซึ่งต่อมา บรูค ชิลด์ส ได้ดำเนินการทางกฎหมายไม่ให้นำภาพชุดนั้นไปเผยแพร่ต่อในปีพ.ศ. ๒๕๒๔ แต่ศาลได้ตัดสินในปีพ.ศ. ๒๕๒๖ ว่าภาพนี้ถ่ายภายใต้การดูแลของผู้ปกครอง (คือ เทอรี ชิลด์ส มารดาของเธอ) และไม่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองสื่อลามกอนาจารเด็กและเยาวชน (อ่านรายละเอียดคำพิพากษาได้ที่ http://journalism.uoregon.edu/~tgleason/j385/Brooke.htm) และเมื่อศาลตัดสินแบบนั้น ริชาร์ด พรินซ์ นำภาพดังกล่าวมาดัดแปลง โดยตั้งชื่อเสียดสีว่า “จิตวิญญาณอเมริกา” ตามแบบภาพ “จิตวิญญาณอเมริกา”เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๖๖ ของ อัลเฟรด สไตกลิทซ์ ซึ่งถ่ายภาพสะโพกม้าเอาไว้

จิตวิญญาณอเมริกา”เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๖๖ ของ อัลเฟรด สไตกลิทซ์

และภาพชุด “นิวพรอทเทรตส์” หรือ การถ่ายภาพบุคคลใหม่ นำภาพจากอินสตาแกรมมามาขยายใหญ่ แนวคิดเพื่อวิพากษ์สังคมปัจจุบันกับโซเชียลเน็ตเวิร์ค ไม่มีใครสงสัยว่านี่คืองานศิลปะหรือไม่ แต่คำถามที่ตามมาคือสมควรหรือไม่ ครั้งนี้คงไม่มีปัญหาขึ้นโรงขึ้นศาล เพราะเคยมีเคสในเรื่องการนำมาใช้ทางศิลปะกำกับอยู่ และริชาร์ดได้แสดงตัวออกความเห็นทุกรูป ซึ่งในภาพที่เอามาขายจะมีความคิดเห็นของเขาปิดท้ายทุกภาพ

แต่ก็มีเสียงสะท้อนจากเจ้าของภาพมาประปราย

เผื่อใครอยากเห็นภาพต้นฉบับเต็ม ๆ

มิสซี ซุไซด์ นางแบบจากเว็บซุไซด์เกิร์ลส์ แสดงความเห็นว่า “ความคิดแวบแรกคือ ฉันไม่รู้จักใครที่จ่ายเงิน ๙๐,๐๐๐ ดอลลาร์เพื่ออะไรอื่น นอกจากซื้อบ้าน” แล้วเธอก็จัดการนำภาพ ภาพเดียวกับที่ริชาร์ดนำไปใช้ มาขยายขนาดใหญ่เท่ากัน แล้วบอกขายในราคา ๙๐ ดอลลาร์แทน

ซึ่งริชาร์ดก็ตอบผ่านทวิตเตอร์ว่า มันเป็นความคิดที่เยี่ยมมาก

สิ่งที่ปรากฏในอินเตอร์เน็ต ไม่ใช่พื้นที่ส่วนตัวอย่างที่หลายคนพร่ำบอกเสมอว่า “นี่คือพื้นที่ส่วนตัว จะทำอะไรก็ได้” นี่คือเฟซบุ๊กส่วนตัว นี่คือินสตาแกรมส่วนตัว นี่คือทวิตเตอร์ส่วนตัว

...ในอินเตอร์เน็ตมีแต่พื้นที่สาธารณะ

สำหรับคนที่สงสัยว่า ศิลปินดังขนาดนี้ ขโมยภาพคนอื่นมาใช้เปิดเผยแบบนี้ ทำไมไม่โดนฟ้องเรียกค่าเสียหายบ้าง ยิ่งอเมริกาเป็นประเทศที่ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกันเป็นอาชีพ

ในอดีต เคยมีคนฟ้องเขาข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์เหมือนกัน อย่างเช่น แพทริก คาโร ฟ้องร้องดำเนินคดีเขาในปีพ.ศ. ๒๕๕๑

ริชาร์ด พรินซ์ นำภาพจากหนังสือรวมภาพของ แพทริก คาโร (Patrick Cariou) ชื่อ “เยส ราสตา” (Yes Rasta) ตีพิมพ์ปีพ.ศ. ๒๕๔๓ มาจัดแสดงในงานชื่อ “คาเนล โซน” ของเขาเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งไม่ใช่แค่ภาพเดียว แต่หลายสิบภาพ ทั้งทำมาพิมพ์ใหม่ตรง ๆ ปรับขนาด ทำเบลอหรือเปลี่ยนสี

ซึ่งต้องมีการพิสูจน์ถึงการนำมาใช้อย่างยุติธรรมตามการสร้างงานศิลปะ ซึ่งบางภาพก็เข้าข่ายศิลปะ บางภาพเข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์โดนสั่งให้ทำลายทิ้ง แต่ในการอุทธรณ์พิจารณาว่า 25 จาก 30 ภาพที่ริชาร์ดนำมาดัดแปลงเป็นไปตาม “ยุติธรรมตามการสร้างงานศิลปะ” คดีความยืดเยื้อถึงปีพ.ศ. ๒๕๕๖ และทั้งคู่ตัดสินใจตกลงกันนอกศาล

การนำภาพคนอื่นมาดัดแปลงนี้เป็นเรื่องถกเถียงกันมานานว่าสมควรหรือไม่ ลองอ่าน http://hyperallergic.com/69719/richard-prince-back-in-black/ มีเปรียบเทียบเป็นกรณีศึกษาทางข้อกฎหมาย (อย่าอ่านแต่ลิงค์ที่ลงไว้ โปรดกดลิงค์ตามที่อ้างอิงในบทความไปศึกษาต่อเรื่องการละเมิด ลอกเลียน และนำมาใช้เพื่องานศิลปะ

 ฝ่ายหนึ่งบอกว่ามันคือการขโมย อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่ามันงานศิลปะ

แล้วคุณคิดอย่างไรกับศิลปะแบบนี้ หรือว่ามันไม่ใช่ศิลปะ ถ้าภาพของคุณในอินสตาแกรมเกิดมีศิลปินอย่างริชาร์ดมานำไปขายได้เป็นแสนดอลลาร์คุณจะทำอย่างไร?

Published by

Unnamed Sheep

The Lord is my shepherd, I shall not want He makes me down to lie Through pastures green He leadeth me the silent waters by With bright knives, he releaseth my soul

แสดงความคิดเห็นCancel reply

Exit mobile version