คัทซูชิตะ โฮกุไซ เป็นศิลปินญี่ปุ่นผู้มีชื่อเสียงสมัยเอโดะ ภาพเขียนของท่านส่งอิทธิพลต่อศิลปินรุ่นหลังในสายชุนกะ รวมถึงงานศิลปะของชาวตะวันตกด้วย ผลงานของท่านหลายภาพ โดนผลิตซ้ำ ล้อเลียน สดุดี เชื่อว่าบางภาพ ท่านผู้อ่านน่าจะเคยผ่านตามาแล้ว เพียงแต่ไม่ทราบว่าต้นฉบับเป็นผลงานของท่าน
โดยเฉพาะภาพ “คลื่นยักษ์นอกฝั่งคานากาวะ” อันเลื่องชื่อ ภาพนี้เป็นงานพิมพ์แกะไม้ช่วงปลายเอโดะ (ประมาณปีค.ศ. ๑๘๓๐ ถึง ๑๘๓๓) เป็นหนึ่งในภาพชุด “ทัศนียภาพภูเขาไฟฟูจิ ๓๖ มุม” ที่สร้างชื่อเสียงให้ท่านอย่างมากในภายหลัง ความลงตัวขององค์ประกอบในภาพ “คลื่นยักษ์นอกฝั่งคานากาวะ” ดูจะลงตัว ทั้งส่วนโค้งของคลื่นที่เปรียบเสมือนกรอบโค้งชักนำเข้าสู่ภูเขาไฟฟูจิ ความแปรปรวนของคลื่นทะเลที่มีต่อเรือประมงทั้งสามลำในภาพ นักวิจารณ์ภาพออกความเห็นว่า การวางมุมมองความไกล ใกล้ และการใช้สีปรัสเซียนบลูน่าจะได้อิทธิพลมาจากกลุ่มช่างศิลป์ดัตช์ ขณะเดียวกัน เขาได้ผสมผสานการสร้างความแตกต่างระหว่างธรรมชาติ (คลื่น) และ สิ่งที่มนุษย์สร้าง (เรือประมง)
ในเวลานั้น ญี่ปุ่นยังปิดประเทศไม่สุงสิงกับประเทศอื่น แต่ยังเปิดเพื่อการค้ากับประเทศจีนและดัตช์ เชื่อว่าเป็นทางหนึ่งให้ท่านได้เรียนรู้ผลงานของกลุ่มศิลปินดัตช์ และช่วยให้งานของท่านได้เผยแพร่สู่กลุ่มชาวดัตช์และที่อื่น ๆ
แต่อีกภาพที่อยากแนะนำเป็นพิเศษ ภาพนั้นชื่อ “ความฝันของภรรยาชาวประมง” ซึ่งเป็นผลงานประเภท ชุนงะ
ความฝันของภรรยาชาวประมง
“ความฝันของภรรยาชาวประมง” เป็นภาพหญิงสาวสังวาสกับหมึกยักษ์ เป็นหนึ่งในภาพที่โด่งดังของศิลปะภาพพิมพ์แกะไม้เอโดะ ความจริงภาพนี้ไม่มีชื่อ แต่เรียกกันว่า “หมึกยักษ์กับอามะ” (อามะ – หญิงสาวดำน้ำหาหอยมุก)
ได้แรงบันดาลใจมาจากนิทานที่โด่งดังในเอโดะยุคนั้น ว่าด้วย ทามาโทริ นักดำน้ำงมหอยมุกแต่งงานกับคนในตระกูลฟูจิวาระ ค้นหาหอยมุกที่โดนขโมยไปโดยมังกร ทามาโมริดำน้ำลงไปถึงวังมังกร พบกับสมุนของมังกรหลายตัว รวมทั้งหมึกยักษ์ สุดท้ายเธอเฉือนหน้าอกตัวเองแล้วเอาไข่มุกซ่อนไว้ในนั้นเพื่อว่ายน้ำหนีกลับมาได้เร็วขึ้น พอขึ้นถึงฝั่งเธอก็เสียชีวิต
เรื่องของทามาโทริโด่งดังและมีศิลปินอุกิโยะหลายคนสร้างสรรค์งานศิลปะจากเรื่องราวนี้ออกมา และมีหลายคนที่วาดรูปเชิงสังวาสระหว่างหมึกยักษ์กับหญิงสาว ดูเหมือนหนวดหมึกจะเป็นสัญลักษณ์ทางเพศที่รับรู้กันทั่ว
ภาพ “ความฝันของภรรยาชาวประมง” มีอิทธิพลต่อศิลปะที่เรียกว่า เทนตาเคิล อีโรติกา (tentacle erotica) ที่แพร่หลายในญี่ปุ่นช่วงปลายศตวรรษที่ 20 แต่ที่ต่างกันคือยุคหลังดูจะเป็นการใช้กำลัง มากกว่าสมยอมอย่างภาพของโฮกุไซ มีคนวิเคราะห์ว่าน่าจะเป็นผลจากช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดความเครียดในสังคมญี่ปุ่น จึงมีศิลปะที่รุนแรงขึ้น
ศิลปะชุนงะ
ภาพวาด/ภาพเขียน/ภาพพิมพ์ ของ คัทซูชิตะ โฮกุไซ มีหลายแบบ หลายประเภท ตั้งแต่เรื่องราวของชีวิตชาวบ้าน ภาพทิวทัศน์ ภาพประกอบวรรณกรรม การ์ตูน (มังงะ แปลตรงตัวว่าภาพตามอารมณ์) เล่าเรื่องชีวิตและมุมมองของเขา (เสมือนอนุทิน) และภาพแนวอุกิโยะ หรือ โลกเปลี่ยนผัน คือภาพแสดงความงดงามที่เกิดขึ้นเพียงขณะหนึ่ง แล้วอันตรธานไป
คำว่า “อูกิโยะ” หรือ โลกเปลี่ยนผันนี้ ดั้งเดิมมาจากปรัชญาทางพุทธศาสนา นั่นคือ อนิจจัง ทุกอย่างนั้นไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่มั่นคง ไม่แน่นอน
แต่เมื่อมาถึงยุคเอโดะ มีอะไรหลายอย่างที่เปลี่ยนไป รวมทั้งมุมมองทางศาสนา การใช้ชีวิต ความสำเร็จทางการเงิน ทำให้ความหมายของ “อูกิโยะ” โดนตีความหมายว่า โลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอนยั่งยืน ทำไมเราจึงไม่แสวงหาความสำราญให้กับตัวเองให้เต็มที่เล่า? เรื่องบันเทิงเริงใจทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการละคร การกีฬา เกอิชา ฯลฯ หนึ่งในแขนงย่อยของ “อูกิโยะ” เรียกว่า ชุงงะ เป็นภาพที่เกี่ยวกับการเสพสังวาสโดยเฉพาะ
ชุงงะ หมายถึง ฤดูใบไม้ผลิ แต่เป็นการเล่นคำหมายถึงการสังวาสด้วย ศิลปะนี้เกิดและเฟื่องฟูมาในยุคเอโดะ โดยส่วนใหญ่จะเป็นภาพพิมพ์แกะไม้ ทำให้มีราคาถูกลง คนทั่วไปพอจะมีกำลังซื้อหาได้ แต่ก็มีที่เป็นภาพวาดด้วยมือ แต่แบบนั้นจะมีราคาสูง ภาพชุงงะ จะแสดงการเสพสังวาสตั้งแต่แบบธรรมดาของชายหญิง หญิงหญิง ชายชาย ไปจนถึงการแอบมอง การพันธนาการ แบบกลุ่มใหญ่ ไปจนถึงเรื่องจินตนาการเช่น คนกับสัตว์ สิ่งของ ปิศาจ
“ความฝันของภรรยาชาวประมง” เป็นหนึ่งในตัวแทนของผลงานประเภทชุนงะนี้
คัทซูชิตะ โฮกุไซ
คัตสึชิกะ โฮกูไซ เกิดเมื่อวันที่ ๒๓ ของเดือน ๙ ปีที่ ๑๐ ของสมัยโฮเรกิ (ตุลาคม หรือ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๗๖๐) ในครอบครัวช่างฝีมือในเอโดะ (โตเกียวในปัจจุบัน) เชื่อว่าเขาหัดเขียนภาพตั้งแต่ยังเด็กมาก เมื่ออายุได้ ๑๒ ปี เขาทำงานในร้านหนังสือและห้องสมุดให้ยืมหนังสือ ซึ่งในยุคนั้นจะเป็นหนังสือที่พิมพ์จากภาพพิมพ์ไม้แกะสลัก ซึ่งได้รับความนิยมในกลุ่มคนชั้นกลางและระดับสูง เชื่อว่าในช่วงเวลานี้ เขาได้เรียนรู้พื้นฐานหรือได้ฝึกงานเป็นช่างแกะสลักไม้ด้วย
ในช่วงชีวิตของท่าน มีนามแฝงมากกว่า ๓๐ ชื่อ และมีบางส่วนที่การใช้ชื่อหนึ่งสะท้อนถึงสิ่งที่เขาชอบหรือนิยมในช่วงเวลานั้น ๆ โดยช่วงแรกที่รู้จักกัน ท่านใช้นามแฝง ชุนโร โดยมีบันทึกว่า เมื่อท่านอายุ ๑๘ ปี ได้ทำงานในสำนัก คัตสึกาวะ ชุนโช ศิลปินผู้เขียนภาพอูกิโยะผู้มีชื่อเสียงและเป็นต้นกำเนิดสกุลช่าง คัตสึกาวะ คัตสึกาวะ ตั้งชื่อให้ท่านว่า ชุนโร ผลงานในช่วงนี้เป็นผลงานแบบ อุกิโยะ ตามสำนักอาจารย์ ซึ่งกินเวลายาวนาน ประมาณ ๑๐ ปี จนเมื่อคัตสึกาวะเสียชีวิตในปีค.ศ. ๑๗๙๓ ท่านจึงเริ่มศึกษางานศิลปะหลากหลาย ทั้งของสำนักศิลป์ตระกูลอื่น รวมไปถึงงานศิลปะของชาติตะวันตก จนเชื่อว่าเป็นเหตุให้เขาโดนขับออกจากสำนักคัตสึกาวะ เมื่อผู้นำสำนักรุ่นต่อมาเห็นว่าคัตสึชิกะทำงานนอกรอยสำนักมากจนเกินไป ในหนังสือ Genius of the Japanese Ukiyo-e เขียนโดย ไซจิ นากาตะ อ้างว่า ชุงโก ผู้นำสำนักเป็นผู้ขับเขาออกจากตระกูลช่าง
หลังจากออกจากสำนักคัตสึกาวะ ท่านก็ใช้นามแฝงใหม่ว่า ทาวารายะ โซริ งานเขียนช่วงนี้เป็นภาพวาดโดยใช้แปรงที่เรียกว่า ซูริโมโนะ เขียนภาพประกอบหนังสือกวี แต่ในปี ๑๗๙๘ ท่านให้ส่งมอบชื่อนี้ให้กับลูกศิษย์ และหันไปใช้ชื่อ โทมิซะ โฮกูไซ และเปลี่ยนมาเป็น คัตสึชิกะ โฮกูไซ ในปี ค.ศ. ๑๘๐๐
คัตสึชิกะ เป็นชื่ออำเภอ หรือ ตำบล? ในเอโดะบ้านเกิด โฮกูไซ แปลว่า “ห้องเขียนภาพทางเหนือ” เชื่อว่าท่านนับถือลัทธินิชิเรน (หรือ นิจิเร็ง) ที่มีความเชื่อในเรื่อง เมียวเค็น พุทธเทพ ซึ่งมีดาวเหนือเป็นตัวแทน
ผลงานในนาม คัตสึชิกะ โฮกูไซ นั้นห่างไกลจากแนวคิดการวาดภาพอุกิโยะ นั่นคือเดิมมักจะเน้นไปที่ชีวิตชนชั้นกลางและชนชั้นสูง (ซึ่งเป็นลูกค้าหลักในตอนนั้น) มาสู่วิถีชีวิตของคนเกือบทุกชนชั้น เรื่องราวที่นำมาวาดเป็นสิ่งที่เห็นได้ในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป
ผลงานช่วงนี้มีชื่อเสียงมากมาย เช่น “ทัศนียภาพอันงดงามของทางตะวันออกของเมืองหลวง” และ “ทัศนียภาพ ๘ มุมของเอโดะ” ในช่วงนี้ คือช่วงที่ท่านเริ่มมีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก และจะว่าไป ท่านรู้จักโฆษณาตัวเองด้วย อย่างเช่น ระหว่างงานเทศกาลในโตเกียวในปี ค.ศ. ๑๘๐๔ ท่านเขียนภาพพระโพธิธรรมที่กล่าวกันว่ายาวถึง ๑๘๐ ฟุต โดยใช้ไม้กวาดและถังหมึก หรือ เมื่อครั้งได้ไปที่ปราสาทของโชกุนอิเอนาริ ท่านเขียนเส้นโค้งสีน้ำเงินบนกระดาษ แล้วจับไก่ตัวหนึ่งมาจุ่มสีแดงที่ขาข้างหนึ่ง ปล่อยไก่วิ่งบนกระดาษที่เขียนเส้นไว้ โดยบรรยายว่าเป็นภาพภูมิทัศน์ของแม่น้ำทัตสึตะที่มีใบเมเปิลแดงลอยตามสายน้ำ อย่างนี้เป็นต้น
ในปี ค.ศ. ๑๘๑๑ เมื่อมีอายุได้ ๕๑ ปีโฮกูไซก็เปลี่ยนชื่อเป็น “ไทโตะ” (Taito) ซึ่งเป็นช่วงที่เขียนงานแบบที่เรียกว่า “โฮกูไซ มังงะ” (Hokusai Manga) แต่มังงะในยุคนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องราวแบบสมัยปัจจุบัน เป็นเหมือนภาพชุดของอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งมากกว่า
ผลงานอันเลื่องลือของท่านส่วนใหญ่ จะเกิดขึ้นในช่วงอายุ ๖๐ ปีเป็นต้นไป อย่างเช่น “คลื่นยักษ์นอกฝั่งคานางาวะ” งานชิ้นที่มีชื่อเสียงที่สุดของโฮกูไซซึ่งเป็นภาพแรกของภาพชุด “ทัศนียภาพ ๓๖ มุมของภูเขาฟูจิ” ซึ่งภายหลัง ท่านได้เขียนเพิ่มอีก ๑๐ ภาพ ดังนั้น ภาพชุดนี้จะมี ๔๖ ภาพ
หากสนใจ เรื่องราวของท่าน โปรดลองดูที่
สารคดี Hokusai: Old Man Crazy to Paint ของง BBC